ธุรกิจจับเสือมือเปล่า ในยุคดิจิทัล Affiliate

ธุรกิจจับเสือมือเปล่า ในยุคดิจิทัล Affiliate

By Krungsri Plearn Plearn

ทำความรู้จักกับธุรกิจ จับเสือมือเปล่า ธุรกิจที่จะสร้างเงินให้คุณผ่านหน้าจอ ในยุคดิจิทัล Affiliate ได้ง่าย ๆ หากคุณมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง และวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการเว็บไซต์ของคุณได้อย่างแม่นยำ


คำว่า “จับเสือมือเปล่า” ช่างฟังดูท้าทายและน่าหลงใหลอยู่ไม่น้อยใช่ไหมคะ เพราะดูเหมือนเราไม่ต้องเหนื่อยลงแรงเท่าไหร่ แต่ก่อนที่เราจะฝันหวานไปถึงผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ ลองมาทำความรู้จักธุรกิจ Affiliate นี้กันก่อนค่ะ
 

ความหมายของธุรกิจ Affiliate


หากเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษ “Affiliate” หมายถึง เข้าร่วม เกี่ยวข้อง ติดต่อ เพื่อให้เข้าใจว่ายุคดิจิทัล Affiliate คืออะไร คงต้องทำความเข้าใจกับการตลาดแบบ Affiliate กันเสียก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้ว หมายถึง การเป็น “ตัวแทน” ที่นำสินค้าของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมาบอกต่อ แนะนำ อาจโปรโมทผ่านลิงก์หรือแบนเนอร์โฆษณาที่มีภาพ (Visual) ดึงดูดความสนใจ ให้คนสนใจอยากเข้ามาใช้หรือซื้อบริการนั้นต่อ ที่เห็นกันชัด ๆ อย่างเช่น amazon.com นั่นเอง

ซึ่งการทำการตลาดแบบ Affiliate นั้นมีข้อดีตรงที่ เป็นวิธีที่อนุญาตให้คุณทำเงินออนไลน์ได้ แม้ว่าคุณจะไม่มีบล็อก เว็บไซต์ หรือแม้แต่สินค้าของตัวเอง ไม่ว่าตลาดของคุณจะเป็นแมสหรือสายนิชอินดี้ ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน เพียงแค่รู้จักการทำ Profit Link หรือลิงก์ที่ใช้โปรโมทให้เป็น นี่แหละค่ะ เราถึงบอกว่าเป็นธุรกิจ “จับเสือมือเปล่า” ที่หลายคนสนใจนักหนา
 

เราจะสร้างรายได้ ในยุค Affiliate ได้อย่างไร


เกณฑ์ในการหารายได้ คือ “การคลิก” ค่ะ สมมติคุณเป็นเจ้าของเว็บ หากมีคนอ่านบทความบนเว็บของคุณ แล้วเห็นแบนเนอร์โฆษณาเสื้อผ้าสักร้านหนึ่ง หลังจากดู ๆ แล้วรู้สึกสนใจเสื้อผ้า เลยคลิกที่แบนเนอร์โฆษณานั้น ๆ คุณก็จะได้ค่าคลิก ยิ่งมีคนคลิกมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้เงิน หากจะพูดว่าเงินที่เราได้คือเงินค่าแนะนำหรือคอมมิชชั่นก็คงไม่ผิด ฟังดูง่ายใช่ไหมคะ แค่มีพื้นที่ว่างบนเว็บ เอาแบนเนอร์มาลง มีคนคลิก เราก็ได้เงินแล้ว แถมยังไม่ต้องเสียเวลามานั่งดูทุกวี่ทุกวัน อยู่บ้านก็สร้างรายได้ ไม่ต้องแพ็กของไปส่งไปรษณีย์ คือ ไม่ต้องมีแม้แต่สินค้าที่เราโฆษณาให้ด้วยซ้ำ แต่ขณะเดียวกัน การเลือกช่องทางให้ถูกต้องก็เป็นหัวใจสำคัญหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว ก็มีบางประเด็นที่เราควรใส่ใจตามหัวข้อย่อยถัดไปค่ะ
 

ทำอย่างไรให้คนคลิก


ข้อสำคัญแรกในการโฆษณา คือ เราต้องโฆษณาให้ถูกกลุ่มค่ะ การเลือกสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเอาเบาะรถยนต์หนังอย่างดีไปให้กลุ่มคนดูที่เป็นเด็กมัธยมปลาย ก็อาจจะไม่ตรงกลุ่มนัก ลองสำรวจว่า เว็บไซต์ของเรามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร สมมติถ้าเป็นเว็บที่รวมรูปน่ารัก ๆ ของเหล่าสัตว์เลี้ยง ถ้านำเสนอแบนเนอร์โฆษณาอาหารน้องหมาน้องแมวก็คงจะดี อีกเทคนิคหนึ่ง คือ ไม่ยัดเยียดจนเกินไป ลองคิดดูว่า ถ้าแฟนคลับเว็บของคุณเข้าเว็บมาทีไร ก็เจอแต่แบนเนอร์โฆษณานี้หลอกหลอนอยู่ทุกที จากแฟนคลับ ก็อาจจะขอเซย์บายย้ายไปดูเว็บอื่นได้

เทคนิคอีกอย่าง คือ การรีวิวสินค้านั้น ๆ จากใจจริง แต่วิธีนี้ต้องดูดี ๆ เช่น คุณเขียนบล็อกท่องเที่ยว ถ้ามีบางข้อความเขียนเชียร์แพลตฟอร์มจองโรงแรมนั้น ๆ แล้วมีแบนเนอร์โฆษณาอยู่ที่ด้านล่างพอดี ก็จะดูน่าเชื่อถืออยู่ แต่ถ้าคุณเขียนบล็อกอาหาร แล้วมาบอกว่า ใช้ไม้ถูพื้นนี้ถูบ้านสิ ประหยัดเวลาให้เราไปหาอะไรอร่อย ๆ กินได้อีกเยอะ ก็อาจจะมีผู้อ่านบางท่านรู้สึกตงิด ๆ เวลาอ่านได้ เพราะขาดความเชื่อมโยงของสินค้าและเนื้อหาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ อย่าลืมใช้โซเชียลมีเดียให้คุ้มค่า เพื่อสร้างให้เกิด Traffic ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจนำไปที่เว็บไซต์หรือสินค้าที่คุณอยากนำเสนอ

สรุปแล้ว หากคิดจะทำ Affiliate Business เราต้องรู้จัก ธุรกิจของเรา และสินค้าที่จะโฆษณาให้เป็นอย่างดีค่ะ ลองดูความคล้าย และความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผู้อ่านจากเว็บเราเกิดความเชื่อถือ และคล้อยตามจนรู้สึกสนใจ ผูกพันแบบที่เรียกกันว่าเกิด Brand Engagement จนอยากคลิกโฆษณาด้านล่าง เพียงเท่านี้ เจ้าเสือที่ดูดุร้ายน่ากลัวก็อาจจะเป็นเสือน้อย ๆ ในอุ้งมือเรา โดยที่ไม่ต้องลงแรงให้เหนื่อยจนเกินไปค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow