เทคนิคคิดไอเดียใหม่...สไตล์ดีไซเนอร์ญี่ปุ่น

เทคนิคคิดไอเดียใหม่...สไตล์ดีไซเนอร์ญี่ปุ่น

By เกตุวดี Marumura

สำหรับท่านแล้ว คำว่า “ดีไซน์” กับ “ดีไซเนอร์” หมายถึงอะไรคะ ?

และท่าน เคยมีช่วงใดที่คิดไอเดียดี ๆ ไม่ออก หรือไม่รู้จะนำเสนอสินค้าอย่างไรหรือเปล่า

ครั้งนี้ ดิฉันมีเรื่องราวของนักออกแบบชาวญี่ปุ่น 3 คนมาฝากทุกท่าน

คนหนึ่งออกแบบเรื่องราว คนที่สองออกแบบธุรกิจ ส่วนคนที่สาม ออกแบบสินค้าที่ไม่เคยมีในโลกนี้
มาติดตามเรื่องราวของพวกเขากันนะคะ

1. ทิ้งความเคยชิน by คุนโด โคยาม่า


About him: คุนโด โคยาม่าเป็นครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ “เชฟกระทะเหล็ก” เป็นนักเขียนบทหนังชื่อดังเรื่อง “Departures” ที่เล่าถึงอาชีพสัปเหร่อ ตลอดจนเป็นผู้ผลักดันและทำให้ “หมีคุมะมง” มาสคอทประจำจังหวัดคุมาโมโต้โด่งดังระดับโลก

Lesson: คุนโด โคยาม่า เป็นเจ้าของไอเดียความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เสมอ ๆ เขามักพูดติดปากว่า

จงทิ้งความเคยชิน

เทคนิคหนึ่งที่แนะนำและทำให้เราทิ้งความเคยชินได้ง่ายมาก คือ เทคนิคมนุษย์ต่างดาว

ลองจินตนาการว่า ข้างหน้าท่าน มีกาต้มน้ำใบหนึ่งวางอยู่ เราอาจคุ้นชินว่า หม้อเหล็กกลม ๆ มีปากยื่นยาวออกมานี้คือกาต้มน้ำ แต่ลองจินตนาการดูว่า หากมนุษย์ต่างดาวมาเห็นกาต้มน้ำนี้ พวกเขาจะคิดว่า มันคืออะไร

โดยปรกติ เรามักจะคุ้นเคยกับสินค้าเดิม ๆ ที่เราผลิตและจำหน่าย ... เสื้อผ้าก็คือเสื้อผ้า ขนมก็คือขนม วิธีคิดของโคยาม่า ทำให้เราคิดงานต่อได้ง่ายขึ้นว่า ทำไมกาต้มน้ำเป็นรูปแบบแบบนี้นะ มีไอเดียอื่นที่ดีกว่านี้ไหม ทำให้กล้าทิ้งความเชื่อเดิม ๆ 

2. สร้างบทสนทนา by จุน นาคากาว่า


About him: จุน นาคากาว่า เป็นประธานบริษัทนาคากาวะ-มาซาชิฉิโชเต็น ร้านค้าปลีกของใช้ในชีวิตประจำวันสไตล์ญี่ปุ่น เขาสืบทอดธุรกิจที่มีอายุกว่า 300 ปีนี้ โดยดำรงตำแหน่งประธานฯ รุ่นที่ 13 ของธุรกิจครอบครัว นอกจากนี้ นาคากาว่า ยังเป็นผู้พลิกฟื้นแบรนด์ท้องถิ่นศิลปหัตถกรรมที่ซบเซาของญี่ปุ่น ให้กลับมาดูทันสมัยขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทนาคากาวะ-มาซาชิฉิโชเต็น มีร้านค้าในเครือรวมทั้งหมด 59 ร้านทั่วประเทศ และทุกร้าน นำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่น ทั้งแบบดั้งเดิมและโมเดิร์น

Lesson: นาคากาว่า เชื่อว่า “สินค้าที่ดี” มิใช่เพียงคุณภาพดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นสินค้าที่ “สร้างบทสนทนา” ได้ คำว่า บทสนทนา หมายถึง สินค้าที่สร้างการพูดคุยกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ หรือผู้ซื้อกับเพื่อนของพวกเธอ เช่น ใครซื้อมาฝากเราแล้ว คนคนนั้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าให้ผู้รับฟังได้ หรือแม้แต่นักข่าวเห็นปั๊บ ก็อยากเขียนถึง นั่นจึงจะเป็นสินค้าที่สร้างบทสนทนา

ยกตัวอย่างกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก ๆ ใบนี้
 
เทคนิคคิดไอเดียใหม่...สไตล์ดีไซเนอร์ญี่ปุ่น
ขอบคุณรูปจาก : https://www.nakagawa-masashichi.jp/
 
ทางแบรนด์สร้างบทสนทนาว่า กระเป๋าสตางค์พิมพ์ลายดอกคิเคียว ดอกคิเคียวนี้ เป็นหนึ่งในเจ็ดดอกไม้หลักในฤดูใบไม้ร่วงตามบทกวีมันโยชู เป็นดอกไม้ที่คนญี่ปุ่นสมัยโบราณหลงรักมาก ในภาษาดอกไม้ ดอกคิเคียวแสดงถึง “ความรักที่ไม่เปลี่ยนแปลง” เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่บานตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง

เราใช้วิธีการทอผ้าลินินนี้ด้วยมือ และย้อมสีพิมพ์ลายด้วยมือทั้งหมด ทำให้รู้สึกอบอุ่นเมื่อเห็นหรือสัมผัส เป็นความรู้สึกที่สินค้าอุตสาหกรรมไม่สามารถทดแทนได้ทีเดียว 

จากเรื่องราวข้างต้น บทสนทนาที่เกิดกับกระเป๋าสตางค์นี้ อาจเป็นได้ทั้งความหมายของดอกไม้ การถักทอย้อมสีด้วยมือ หรือบทกวีญี่ปุ่นโบราณ

แม้ในยุคนี้ เราจะมีศัพท์คำว่า “Storytelling” หรือเน้นที่การเล่าเรื่องราว แต่ดิฉันชื่นชอบคำว่า “บทสนทนา” ที่นาคากาว่าแนะนำ แทนที่จะคิด “เรื่องราว” ขึ้นมา เราลองมาคิดบทสนทนาว่า อยากให้ลูกค้าเม้าท์มอยถึงสินค้าเราว่าอย่างไร ก็น่าจะสนุกทีเดียว

3. BE ORIGINAL by Miyake Issei


About him: ดีไซเนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่น เป็นผู้บุกเบิกแฟชั่นญี่ปุ่นให้ไปเป็นแบรนด์ระดับโลก เจ้าของแบรนด์ ISSEY MIYAKE แม้แต่สตีฟ จ็อบ ก็ยังตกหลุมรักแบรนด์นี้ ตอนไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น จนต้องสั่งเสื้อคอเต่าสีดำนับร้อยตัว

Lesson: คำหนึ่งคำที่จะสรุปแนวคิดของมิยาเกะ อิซเซ คือ การคิดต่าง และการสร้างเอกลักษณ์ในแบบตนเอง จนไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

เมื่อออกแบบเสื้อผ้า มิยาเกะเริ่มจากการคิดคอนเซปท์ “ผ้าหนึ่งผืน (A piece of cloth)” โดยออกแบบให้ผ้าหนึ่งผืน สามารถคลุมร่างกายคนแต่ละคนอย่างสวยงามได้ แนวคิดดังกล่าวฉีกวิธีคิดของวงการแฟชั่นแบบตะวันตกโดยสิ้นเชิง แฟชั่นตะวันตกสมัยนั้นเน้นการตัดผ้า เย็บผ้าให้เข้ารูป เพื่อตามไซส์ของทุกคน แต่มิยาเกะกลับทำให้คนทุกคนสามารถใส่เสื้อผ้าด้วยผ้าผืนเดียว แต่มีเอกลักษณ์ความสวยงามที่เข้ากับหุ่นแต่ละคนได้

นอกจากนี้ เขายังออกแบบถึงขั้นเส้นใยผ้า โดยพยายามหาวัตถุดิบที่จะสามารถตอบโจทย์ที่เขาคิดได้ เช่น ผ้าที่ใส่ง่าย ไม่ยับ หรืออัดจีบแล้วจีบไม่คลายง่าย ๆ
 
เทคนิคคิดไอเดียใหม่...สไตล์ดีไซเนอร์ญี่ปุ่น
ขอบคุณรูปจาก : https://www.isseymiyake.com/

และเพื่อให้เสื้อผ้าของแบรนด์ ISSEY MIYAKE เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในระยะยาว มิยาเกะพยายามออกแบบให้ลูกค้าซักเสื้อเองที่บ้านได้ โยนเข้าเครื่องซักผ้าก็ได้ ไม่ต้องซักแห้ง

หลายครั้ง เมื่อนึกถึงดีไซน์ เราอาจจะพุ่งไปที่การออกแบบสินค้านั้น ๆ แต่เห็นได้ว่า วิธีคิดของมิยาเกะนั้น ใส่ใจตั้งแต่การออกแบบคอนเซปท์ที่เป็นเอกลักษณ์ การเลือกวัตถุดิบ หรือพัฒนาวัตถุดิบขึ้นมาใหม่ และมองไปไกลถึงขั้นตอนที่ลูกค้าจะใช้ซ้ำ หรือซักเสื้อ เป็นการคิดละเอียด ทุกขั้นตอน และสร้างเอกลักษณ์ในแบบของตนเองขึ้นมา

จากแนวคิดของสามนักคิด ....

โคยาม่า คุนโด นักดีไซน์เรื่องราว ทั้งรูปแบบรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือการท่องเที่ยว

จุน นากายาม่า นักธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องดีไซน์

และ มิยาเกะ อิซเซ ดีไซเนอร์ระดับโลก ที่สร้างความตื่นเต้นให้วงการแฟชั่นเสมอ ๆ

สิ่งที่ทั้งสามคนมีร่วมกัน คือ การมองโลกใบเดิมด้วยมุมมองใหม่

คนหนึ่งเน้นการมองสิ่งเดิมด้วยสายตาใหม่ คนหนึ่งเน้นการสร้างบทสนทนาจากสินค้าที่เราสร้าง คนหนึ่งเน้นการสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเราเท่านั้น

หวังว่า บทความนี้ จะทำให้ท่านได้ไอเดียสินค้าใหม่ ๆ เป็นเอกลักษณ์ และสร้างบทสนทนากับลูกค้านะคะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow