การมาถึงของเทคโนโลยี 4.0 อย่างทุกวันนี้ คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่า ไม่ได้มีเพียงธุรกิจหลายประเภทที่ทำให้เกิดวิกฤติเท่านั้น หากแต่ตำแหน่งงานในหลายอาชีพถูกลดบทบาทลงจนอาจต้องสูญหายไป เพราะความสะดวกสบายในปัจจุบันที่ย่นย่อบางกลไกลงจนลัดวงจรสิ่งที่เคยมีในอดีต
แม้จะมีหลายอาชีพที่กำลังจะสูญหายไป แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ในยุคแห่งข้อมูลระดับ Big Data ทุกวันนี้ทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาหลายอาชีพ ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกอาชีพที่น่าสนใจอาชีพหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังสักหนึ่งตำแหน่งอย่าง Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล สายงานที่กำลังมาแรงและมีความจำเป็นต่อองค์กรธุรกิจยุคปัจจุบันอย่างยิ่งยวด
Glassdoor เว็บไซต์จัดหางานอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แหล่งรวมข้อมูลที่น่าสนใจมากมายและเป็นคอมมูนิตี้สำคัญที่
คนกำลังหางานในสหรัฐอเมริกามักแวะมาใช้บริการ ได้จัดอันดับ 50 อาชีพที่ดีที่สุดในอเมริกาปี 2018 ขึ้นและพบว่าอาชีพ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นอาชีพที่ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งจาก 1,700 อาชีพที่มีความต้องการในตลาดมากที่สุดและมีประมาณการค่าเหนื่อยเอาไว้สูงถึง 110,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ราว 3,900,000 บาทต่อปี โดยมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้บรรจุศาสตร์แขนงนี้ลงในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาโทแล้วเมื่อปี 2014
แล้วพวกเขาทำงานกันอย่างไร? ย้อนไปที่คำว่า Big Data ที่หลายคนน่าจะได้ยินมาระยะใหญ่ ซึ่งหมายความถึงปริมาณข้อมูลจำนวนมากที่
เทคโนโลยีทุกวันนี้สามารถรวบรวมมาได้นั้น มีมากเสียจนแต่ละองค์กรธุรกิจต้องการ ใครสักคน (หรือหลายคน) เข้ามาช่วยตีความ คิดวิเคราะห์ และจัดการข้อมูลอันมหาศาลเหล่านั้นว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นแผนการตลาดของตัวเองได้จริง ๆ เพราะ Big Data คือแหล่งรวมข้อมูลสำคัญทั้งพฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ รสนิยม และความคิดเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ ของผู้บริโภคที่แสดงออกมาใน
สื่อออนไลน์ ทำให้หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจึงจำเป็นต้องผสมผสานศาสตร์หลายแขนงมาช่วยในการสกัดข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นออกมา ทั้งสถิติ การตลาด วิทยาการคอมพิวเตอร์ และ
ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น โดยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเริ่มต้นที่การตั้งข้อสังเกตหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่สนใจ (เช่นเดียวกับการเริ่มต้นการทดลองของนักวิทยาศาสตร์) จากนั้นก็ทำการสืบค้นและเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้น ก่อนจะทำการสร้างแบบจำลอง และสื่อสารผลลัพธ์ที่ได้ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเข้าใจง่ายในที่สุด เห็นไหมครับ นี่คือเหตุผลที่เพราะอะไรถึงได้มีการนำคำว่า Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ มาใช้จำกัดความอาชีพที่น่าสนใจอาชีพนี้ พวกเขาไม่ได้สวมชุดกาวน์นั่งอยู่ในห้องทดลองเหมือนอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ Sci-Fi แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถือเป็นกองกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจเลยทีเดียวครับ
ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลทำงานอยู่ในองค์กรต่าง ๆ ประมาณ 200 คน ซึ่งถือว่าไม่มากเท่าไรนัก เพราะการทำงานในสายอาชีพ Data Scientist ต้องเข้าใจในหลักคณิตศาสตร์ขั้นสูง ตลอดจนมีทักษะการจัดการข้อมูลและเขียนโปรแกรมต่าง ๆ ได้ดีไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถือเป็น
สายอาชีพใหม่ที่ยังไม่มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนโดยตรง อาจต้องใช้การศึกษาในระดับปริญญาตรีแขนงหนึ่งก่อนจะออกมาฝึกฝนทำงานและศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งสวนทางกับความต้องการในประเทศที่กำลังเพิ่มขึ้นในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานในสาขาดังกล่าว จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 15% ในตลาดแรงงานหรือราว 2,000 ตำแหน่งจากการขยายตัวในรูปแบบองค์กรธุรกิจยุคใหม่นั่นเองครับ
รู้อย่างนี้แล้วหวังว่าจะมีผู้อ่านหลายท่านที่มองเห็นโอกาสและอยากผันตัวเองมาสู่สายอาชีพที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อน
เศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอาชีพนี้เพิ่มขึ้นไปอีกนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: brandbuffet.in.th,
forbes.com,
theviable.co,
themomentum.co,
medium.com,
readthecloud.co