วิธีปรับตัวบนโลกโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19

วิธีปรับตัวบนโลกโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
ถึงแม้มนุษย์เราจะไม่ได้เจอปัญหาโรคระบาดระดับโลกเป็นครั้งแรก แต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ก็มีบทบาทยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยพลังของตัวแปรสำคัญอย่าง ‘โซเชียลมีเดีย’ นี่แหละ เพราะตั้งแต่วันแรกที่เรารู้ว่ามันมีการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดหนึ่ง เราก็อ่านมาจาก Twitter บ้าง Facebook บ้าง และจนถึงปัจจุบันที่มีนโยบายการ WFH (Work From Home) ออกมาเรื่อย ๆ ยอดการใช้งานโซเชียลมีเดียก็พุ่งสูงขึ้นจนทั้งผู้ใช้งาน และผู้ประกอบการทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ ต้องหันมาพึ่งแพลตฟอร์มนี้กันหมด
บริษัทเอเจนซี่ Obviously ซึ่งทำหน้าที่หลักในการจัดหาอินฟลูเอนเซอร์ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อทำแคมเปญโฆษณาให้กับแบรนด์ ได้แชร์ข้อมูลจากแคมเปญการโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok และ Instagram ของพวกเขากว่า 260 แคมเปญ ซึ่งมียอดโพสต์ใน อินสตาแกรมกว่า 7.5 ล้านโพสต์ และจากผู้ใช้งานใน TikTok กว่า 2,152 คน ระบุว่ามียอดการกดไลค์โพสต์รายวันที่ติด #ad ในแคมเปญของพวกเขาสูงขึ้นถึง 76% ในขณะที่ Engagement (การมีส่วนรวมกับโพสต์) ในแอปพลิเคชันยอดฮิตตอนนี้อย่าง TikTok ก็โตขึ้นถึง 27% ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่ผ่านมา
Andrew Pattison ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจดิจิทัลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็เคยกล่าวถึงพลังของโซเชียลมีเดียไว้ว่า “ข้อมูลเท็จแพร่กระจายเร็วยิ่งกว่าไวรัส” ซึ่งทำให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้ยกเอาคำศัพท์อย่าง ‘Infodemic’ ที่เล่นกับคำว่า Pandemic หรือโรคระบาดที่เรากำลังเจอกันอยู่ตอนนี้ มาพูดถึงในสื่อต่าง ๆ โดย Infodemic หมายถึงการรับข้อมูลข่าวสารมากจนเกินไป ซึ่งบางทีก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องบ้าง มั่วบ้าง และก็อาจจะส่งผลเสียต่อผู้รับสารที่ไม่สามารถแยกแยะข้อมูลเหล่านั้นได้นั่นเอง WHO จึงจัดประชุมกับบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง Google, Apple, Airbnb, Lyft, Uber และ Salesforce เพื่อพูดคุยถึงการรับมือของโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ด้วย
แล้วเราในฐานะผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงผู้ประกอบการเองก็ตาม จะทำอย่างไรไม่ให้โดนผล กระทบจาก Infodemic และจะใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในเวลานี้อย่างไรดี?

1. Check more, share less.

ถึงแม้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะมีการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มากขึ้น ทั้ง Facebook ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ที่ปล่อยนโยบายนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเด้งเป็น pop-up ขึ้นมาในหน้า feed ของเราแล้ว Facebook ยังลงเงินไปถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมข่าว ช่วยเหลือนักข่าวภายใต้แคมเปญ Journalism Project ไปจนถึงการร่วมมือกับ The International Fact-Checking Network (IFCN) เพื่อพัฒนาโปรแกรม Fact Check (ตรวจสอบข้อมูลเท็จจริง) มูลค่ากว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และอีกหลาย ๆ แพลตฟอร์มที่หันมาป้องกันการเกิด Infodemic แต่ Facebook, Twitter รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ เองยังคงมีปัญหาในการควบคุมการแชร์ข้อมูลบางอย่างของผู้ใช้งานบางส่วนอยู่ดี (ยิ่งคนหันมาใช้งานเยอะ ก็ยิ่งคุมยากขึ้นอีก)
ดังนั้นผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ เองก็ควรทำหน้าที่เช่นเดียวกัน และวิธีที่เราช่วยได้คือการตรวจสอบแหล่งข่าวที่แน่นอนก่อนจะทำการแชร์ทุกครั้ง หรือแชร์เฉพาะข่าวที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว เช่น การเข้าไปดูข่าวอัปเดตจากในหน้า COVID-19 Information Center ที่จะปรากฎอยู่ในแถบเมนูของ Facebook (โลโก้รูปหัวใจ) ซึ่งจะมีการรวบรวมเพจ official ที่เชื่อถือได้ และโพสต์ล่าสุดจากสื่อที่เชื่อได้มาไว้ในที่เดียวกัน สำหรับคนอยากตามข่าว อยากแชร์ข่าวจะได้แชร์กันถูก หรืออย่างใน Twitter เองก็มีการแยกข่าวอัปเดตของ COVID-19 มาให้แล้ว โดยกดดูได้จากหน้า Search (ที่มีรูปแว่นขยาย) ก็จะเจอแบนเนอร์ Coronavirus - LIVE ที่อัปเดตข่าวเฉพาะพื้นที่ที่เราอยู่ ณ ตอนนั้น

2. Set the right trend.

Santosh Vijaykumar นักวิจัยด้าน health and risk communication มหาวิทยาลัย Northumbria University กล่าวว่า ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ มนุษย์จะดูตัวอย่างจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะทำตามกันไปเรื่อย ๆ เช่นการ panic-buy ในสหรัฐอเมริกา ที่คนหันมาซื้อตุนกระดาษชำระตาม ๆ กัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดจากความกลัว และความวิตกกังวล ที่ถูกส่งต่อกันเป็นทอด ๆ และยิ่งมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการส่งต่อความกลัว และความกังวล เหล่านี้ ถ้าเราเห็นเพื่อน panic-buy กัน ก็ไม่แปลกที่เราจะทำตาม ซึ่งนั่นยังส่งผลในทางกลับกันด้วย เช่น ถ้าเพื่อนของเราในโซเชียลมีเดีย ยังคงแชร์รูปตัวเองเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเวลานี้เป็นจำนวนมาก ๆ เราก็อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ และ ‘ไม่เป็นไร’ ที่จะไม่ Social Distancing
ถ้าเรารู้แบบนี้แล้ว ก่อนจะแชร์อะไรในโซเชียลมีเดีย จงหมั่นคิดถึงผลกระทบของมันให้ดี ๆ ลงรูปตอนอยู่บ้าน หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ให้สวมหน้ากากอนามัยเสมอ และถ้าจะถ่ายอะไรลงสตอรี่ก็ต้องระวังมาก ๆ เพราะเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งใน Influencers ที่เซตเทรนด์ให้คนหมู่มากได้เหมือนกัน

3. Be positive, but not ignorant.

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ สิ่งที่ตัวเราเอง และแบรนด์ของเราจะพอทำได้ คือ การมีสติและคิดบวกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เรามีเครื่องมือในการช่วยเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นเทรนด์ Challenge ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียที่ให้คนแท็กรูปต่อ ๆ กัน ตอบคำถามต่อ ๆ กัน และหนึ่งในนั้นคือการร่วมบริจาคช่วยเหลือมูลนิธิ หรือโรงพยาบาลที่ต้องการความช่วยเหลือในตอนนี้ ซึ่งถือเป็นช่องทางง่าย ๆ สำหรับคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย และมีแอปพลิเคชัน Mobile Banking อยู่แล้ว
เช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ ที่อาจจะต้องเจอศึกหนักในช่วงนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการเดินทาง อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยอดตกหนักที่สุด ถึงขั้นที่ ยอด organic traffic ใน SEO ร่วงเกือบ 50%) แบรนด์ต่าง ๆ ควรวางแผนการโปรโมทใหม่ โดยยังคงโพสต์คอนเทนท์ตามแพลนเดิมบางอย่างได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของตัวคอนเท้นท์กับสถานการณ์ปัจจุบันให้ดี รวมถึงแทรกแคมเปญใหม่ที่เป็นประโยชน์กับการช่วยเหลือสถานการณ์การแพร่ระบาดปัจจุบัน โดยยึดหลัก ‘ความเป็นมนุษย์’ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งหมายความถึงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกจากใจจริง การช่วยเหลือ และคิดถึงเพื่อนมนุษย์ในเวลาดังกล่าว ในขณะที่ยังคงให้กำลังใจ และส่งต่อพลังบวกไปพร้อม ๆ กัน อย่างบริษัท Adobe ที่รับฟังปัญหาของนักวิชาการ และสถานศึกษาหลาย ๆ ที่ จึงปล่อยแคมเปญให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ของตัวเองไปใช้ได้แบบฟรี ๆ ทำให้นักเรียนนักศึกษา หรือคนทำงานที่ต้อง Work from Home สามารถทำงานกันได้ง่ายขึ้น
ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสามารถแสดงหน้าที่หลักของมันออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งคือการเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกันจากระยะไกล โดยขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานอย่างเราว่าจะหยิบเครื่องมือนี้มาใช้ได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์มากน้อยขนาดไหน เราได้แต่หวังว่าสถานการณ์ COVID-19 จะผ่านไปโดยเร็ว และเหลือไว้แต่เพียงบทเรียนคุณภาพดีให้เราได้ใช้ในการปรับตัว และพัฒนาตัวเองต่อไปให้ไกลกว่าเดิมในอนาคต
Stay safe and healthy!
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow