สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ

สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ

By เกตุวดี Marumura
“ลดการผลิตเหรียญ 1 เยนลงครึ่งหนึ่งของที่ผลิตในปีก่อน”

นี่คือสาส์นจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ราคาสินค้าน่าจะลงด้วยเลข 4 เลข 6 ตัวเลขจะเป็นเศษมากขึ้น แต่เหตุใดคนกลับใช้เหรียญ 1 เยนน้อยลง

สาเหตุมาจากการเติบโตของบัตรเติมเงินและเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ต่าง ๆ ทำให้คนไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดอีก

คำว่า e-money นั้น บ้านเรายังไม่ค่อยคุ้นชินกันนัก แต่ในต่างประเทศ มีบริการต่าง ๆ ที่แพร่หลาย เช่น Apple Pay, Samsung Pay หากใกล้ตัวหน่อย บัตรแรบบิทของ BTS ก็จัดเป็น e-money
 

E-money แบบนี้ก็มีด้วย


มูลค่าการใช้ e-money ของญี่ปุ่นนั้นสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2015 มูลค่าการซื้อขายสูงถึงเกือบ 5 ล้านเยน (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) โดยมีจำนวนครั้งที่ซื้อขายผ่าน e-money สูงถึงเกือบ 5 ร้อยล้านครั้ง
 
สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ
กราฟแสดงมูลค่าการซื้อขายผ่าน e-money
ที่มา: ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น

ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านประเภท Chain Restaurant เริ่มใช้ e-money มากขึ้น ตู้กดน้ำอัตโนมัติบางแห่งถึงกับเสนอส่วนลด 5 เยนให้ลูกค้าที่จ่ายผ่านบัตร e-money เหล่านี้ เพราะพิสูจน์กันแล้วว่า e-money ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มที่ตู้สูงกว่าแบบหยอดเหรียญ เนื่องจากไม่ต้องห่วงเรื่องไม่มีเศษเงิน หรือกลัวขึ้นรถไฟไม่ทัน

ล่าสุด มีศาลเจ้าแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย โดยติดตั้งกล่องรับบริจาค e-money ผู้บริจาคสามารถกดจำนวนเงินที่ต้องการบริจาค จากนั้นใช้บัตร e-money เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำบุญได้อย่างง่าย ๆ และทำได้ตามจำนวนเงินที่ต้องการทำอีกด้วย
 
สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ
ที่มา: NLI Research Institute
 

สังคมไร้เงินสด ... ความสะดวกสบายในแดนปลาดิบ


หันมาดูชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นกันบ้าง ชีวิตมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งน่าจะเริ่มจาก
  1. ขึ้นรถไฟไปที่ทำงาน
  2. ตอนเที่ยง แวะลงมาซื้อข้าวกล่องที่ร้านสะดวกซื้อ
  3. ตอนเย็น นั่งรถไฟไปหาลูกค้า แวะซื้อโค้ก 1 กระป๋องจากตู้กดอัตโนมัติที่ชานชาลา
  4. ทานข้าวที่ร้านอาหาร และไปต่อร้านเหล้า
  5. ดื่มหนักไปหน่อย จึงนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านไปแพ็คกระเป๋า
  6. ส่งกระเป๋าเดินทางไปสนามบินผ่านบริการขนส่งแมวดำ (คุโรเนโกะ)
  7. เดินทางไปสนามบินนาริตะ แวะทานอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมซื้อของฝากที่สนามบิน

วิถีชีวิตธรรมดา ๆ ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันทุกวัน หากสังเกตดี ๆ ทุกขั้นตอนข้างต้นนั้น สามารถใช้ e-money ได้หมด พวกเขาไม่จำเป็นต้องหยิบเงินสดออกจากกระเป๋าเลย เวลาขึ้นรถไฟ คนญี่ปุ่นมักจะใช้บัตรเติมเงินของสายรถไฟนั้น ๆ เช่น หากเป็นรถไฟสาย JR East (แถบโตเกียว) ก็จะเป็นบัตร SUICA ถ้าเป็น JR West ชื่อบัตร ICOCA คล้าย ๆ บัตร Rabbit ของไทย

ความสะดวกของบัตรรถไฟญี่ปุ่นนั้น มีมากกว่าแค่การจ่ายค่าโดยสารของรถไฟ แต่สามารถใช้กับร้านสะดวกซื้อ (เจ้าใหญ่ ๆ ทุกเจ้า ทุกสาขารับหมด) ร้านค้าปลีกชื่อดังอย่างดองกิโฮเต้ ร้านขายยามัตสึโมโต้ คิโยชิ ก็อ้าแขนรับ เรียกได้ว่า บัตรเดียวช้อปได้ทั่วเลย
 
สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ
ตัวอย่างร้านค้า (เพียงบางส่วน) ที่ใช้ SUICA ได้

นอกจากนี้ บัตรของสายรถไฟยังสามารถใช้กับรถประจำทาง และรถแท็กซี่ได้อีกด้วย แตะบัตรปิ๊ด ลงรถปั๊บได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอเงินทอน เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนที่เร่งรีบเดินทางไปประชุมหรือพบปะลูกค้า
 
สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ
ที่มา: Ryobi Group

แน่นอน เมื่อมนุษย์เงินเดือนเดินทางไปที่ต่าง ๆ ไกล ๆ เขาต้องกลับไปเบิกค่าเดินทางจากบริษัท ด้วยบัตร e-money เหล่านี้ การขอใบเสร็จก็เป็นเรื่องง่าย เพียงแค่นำบัตรไปแตะที่ที่จำหน่ายตั๋วสถานีรถไฟ ตู้จำหน่ายตั๋วจะปริ้นท์ข้อมูลการเดินทางทั้งหมดในช่วงระยะเวลานั้นออกมา เวลาไปเบิก ก็แค่วงวันที่และจำนวนเงินที่ใช้เท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลารอเจ้าหน้าที่เขียนใบเสร็จให้ยุ่งยาก
 
สำรวจสังคมไร้เงินสดที่แดนปลาดิบ
ที่มา: 62goro
 

E-money เจ้าไหนใหญ่สุด?


บริษัทญี่ปุ่นเจ้าแรกที่สามารถพัฒนาระบบ IC Card ได้ คือ โซนี่ ส่วนบริษัทแรกที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ คือ JR East ผู้ออกบัตร Suica นั่นเอง

ปัจจุบัน บัตร e-money ที่คนใช้บ่อยที่สุด คือ บัตร Nanaco บัตร Suica และ บัตร Waon แต่หากดูจำนวนบัตรที่คนมี อันดับแรก คือ บัตร Suica (54 ล้านใบ) อันดับสอง คือ บัตร Waon (50 ล้านใบ) อันดับที่สาม คือ บัตร Nanaco (41 ล้านใบ) กล่าวคือ จำนวนประชากรญี่ปุ่นเกือบครึ่งมีบัตร e-money เหล่านี้อยู่ แต่ไม่ว่าเป็นสถิติแบบใด บัตรที่เป็นที่นิยมก็หนีไม่พ้นสามรายนี้

บัตร Suica เป็นบัตรที่ออกโดยบริษัทรถไฟ ส่วน Nanaco และ Waon นั้น ออกโดยร้านค้าปลีกขนาดยักษ์

บัตร Nanaco นั้น เป็นบัตรที่ออกโดยเซเว่นอีเลเว่นญี่ปุ่น สาเหตุที่เป็นที่นิยม เนื่องจากสามารถเป็นบัตรสะสมแต้มได้ เพราะฉะนั้น เวลาไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่เซเว่นฯ ก็สามารถใช้บัตรนี้ชำระเงินได้ ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการรับทอนเงิน

ที่เก๋กว่านั้น คือ คนญี่ปุ่นไปชำระภาษี ค่าประกันสุขภาพ และค่าน้ำค่าไฟที่เซเว่นฯ ทุกครั้งที่ชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็สามารถสะสมแต้มได้เช่นกัน เป็นบัตรที่ทรงพลังจริง ๆ

ส่วนบัตร Waon นั้น ออกโดยเครืออิออนกรุ๊ป ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นบัตรที่โดนใจคุณแม่บ้านญี่ปุ่น เนื่องจากใช้ชำระเงินและสะสมแต้มได้เวลาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ หากพาครอบครัวไปทานข้าวที่ห้างสรรพสินค้า ก็สามารถใช้บัตร Waon นี้ชำระและสะสมแต้มได้เช่นเดียวกัน บัตร e-money เหล่านี้ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เหลือเกิน ตั้งแต่ประหยัดระยะเวลาในการชำระเงิน และสะดวกในการพกบัตรแค่ใบเดียว ก็สามารถชำระได้เกือบทุกอย่าง แถมยังสะสมแต้มได้อีกด้วย ที่สำคัญ บัตรส่วนใหญ่ไม่มีค่าสมาชิกหรือหักค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

แล้วบริษัทกับร้านค้าที่ร่วมรายการจะได้ประโยชน์หรือ?

แน่นอน บริษัทผู้จำหน่ายบัตรเหล่านี้ สามารถใช้ข้อมูลลูกค้าไปวิเคราะห์และทำการตลาดต่อยอดได้ ส่วนร้านค้า ก็สามารถให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น เรียกได้ว่า วินวินกันทั้งสามฝ่ายเลย

ส่วนบ้านเรา advance ไปอีกขั้นด้วย PromptPay ไม่ใช่แค่ชำระค่าสินค้าอย่างเดียว แต่สามารถโอนเงินหากันเพียงแค่แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ และยังสามารถรับเงินสนับสนุนหรือชำระค่าใช้จ่ายทางรัฐได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow