ถ่ายทอดประสบการณ์ Study Mission: “Agriculture innovation and competitiveness” จาก Cornell University
วันนี้ผมจะมาถ่ายทอดรายละเอียดการอภิปรายหัวข้อและการทดลองการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นต่อจากบทความก่อนนะครับ บทความนี้จะเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับ Social enterprise ชาว Startup ไปจนถึง SME ที่อยากจุดประกายไอเดียไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง
หัวข้อ “Global Trendsin Food retail” โดย อาจารย์ Ed Mabaya
ถือว่าเป็นช่วงการนำเสนอที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจโดยตรงมากที่สุด อาจารย์ Mabaya นำเสนอเทรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารอเมริการวมถึงสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังนิยม แน่นอนว่าเทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรง แต่ทำไมสินค้าบางชนิดเป็นที่นิยม แต่บางชนิดดีต่อสุขภาพยิ่งกว่ากลับไม่ได้รับความนิยม สินค้าที่ถูกนำมาถกในห้องเรียนให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ น้ำทับทิม (Pomegranate) ชาเขียว (Matcha) คีนัว (Quinoa) หรือแม้กระทั่งซอส (Sriracha) ในมิติของการผลิต และกระบวนการผลิต ผู้บริโภคมีความต้องการที่จะได้สินค้าออร์แกนิคที่มาจากท้องถิ่น (Eat local) และมาจากการผลิตที่ไม่ทำร้ายโลก (Environmental Friendly) โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือจากองค์กรที่ 3 (Third party certification) เช่น สินค้าออร์แกนิคที่มีตรา USDA certified หรือ Eco cert หรือ environmental friendly หรือ Sustainability มีตรา B corporation เป็นต้น มีการศึกษาถึงความพร้อมที่จะจ่ายเพิ่มของผู้บริโภคให้กับสินค้าเหล่านี้ในราคาพรีเมียมที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปถึง 20% ในแง่ของการสร้างแบรนด์การเป็น Social Enterprise แบบกิจการเพื่อสังคมเป็นที่นิยมในตลาดอเมริกา
พูดถึง “Social enterprise หรือ กิจการเพื่อสังคม” คือ กิจการที่มีรายได้จากการผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการ โดยมีเป้าหมายของกิจการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น Kind Bar ที่ผลิตแท่งกราโนล่า ได้นำเงินส่วนหนึ่งไปเป็นค่าอาหารกลางวันเด็กยากไร้ในแอฟริกา หรือน้ำดื่ม Ethos ที่โฆษณาว่า น้ำดื่มหนึ่งขวดที่ผู้บริโภคซื้อ หมายถึง น้ำดื่มสะอาดสำหรับเด็กที่ยากจนในแอฟริกา เป็นต้น
ในตอนท้ายของการนำเสนอ อาจารย์ Mabaya ได้ฝากข้อคิด การบ้านไว้ให้กับทุกคนว่าให้ไปศึกษาดูว่า ซอส Sriracha (ศรีราชา) นั้นโด่งดังขึ้นมาได้เพราะอะไร และเหตุใดผู้ได้รับอานิสงค์ผู้นำตลาดในสหรัฐกลับเป็นเวียดนาม หรือบริษัทอเมริกันที่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ศรีราชาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรีของเมืองไทย
หัวข้อ “Visit Cornell Food Technology Park” โดย Mr.John Johnson
ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชม Cornell Food Technology Park ที่เป็นศูนย์แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการอาหารใหม่ ๆ ในบริเวณมลรัฐนิวยอร์กที่มีการปลูกแอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ทั้งหมด องุ่นไวน์ เลี้ยงวัวนมมาเพิ่มมูลค่า ซึ่งเมื่อคณะของเราได้พบกับคุณ Johnson แล้วก็พบว่าการช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่วิทยาศาสตร์ตามชื่อ Science Park เท่านั้น แต่ยังช่วยดูแลทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย ภาษี การจดทะเบียนอาหาร รวมทั้งการตลาด การกระจายสินค้า ช่วยเจรจากับผู้ค้าปลีกใหญ่เกินขอบเขต ที่ Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะทั่วไป ตัวอาคารจากภายนอกดูทันสมัยแบบ Prefab บวกกับต้นไม้สวยมาก ข้างในเป็นออฟฟิศแบ่งให้ผู้ประกอบการใหม่เช่า มีห้องแล็ปเล็ก ๆ มีไซโลเก็บของ มีรถฟอล์คลิฟท์ให้ใช้ พูดง่าย ๆ ขอให้มีไอเดียมาอย่างเดียวจริง ๆ และถ้าไอเดียดีที่นี่ก็พอมีพี่เลี้ยง เครื่องมือ สถานที่ และเครือข่ายของ Cornell คอยช่วยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย นักเรียน อาจารย์จากทุกสาขา เรียกว่าทำงานกันเอาจริงเอาจังมากเลยทีเดียว (ยังไม่รวมกองทุนเงินสะสมของ Cornell อีก 8 พันล้านเหรียญสหรัฐนะครับ) ได้มีการเชื้อเชิญนักลงทุนมาฟังไอเดียและพร้อมให้การสนับสนุน บางไอเดียดีแต่ต้องใช้เงินทุนเยอะ ก็จะมีบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง โค้ก เนสท์เล่ แมคโดนัลด์ มา “Take Over” ไปทำต่อเลยก็มี ผมอยากให้สถานที่นี้มีในเมืองไทยมาก เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบเยอะ แต่ยังขาดความรู้ ฝรั่งมีความรู้เยอะแต่ไม่มีวัตถุดิบ (เมืองร้อน) อย่างของเรา พอจะมองเห็นโอกาสกันแล้วใช่ไหมครับ
หัวข้อ “การส่งออกอาหารไปอเมริกา”
ช่วงนี้เราได้มาพบกับบริษัทที่ช่วยในการส่งสินค้ามาอเมริกา ชื่อ “Registrar Corp” ข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่ยังไม่เคยส่งของมาตลาดอเมริกา ซึ่งมีขั้นตอนจุกจิกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารแห้ง ยา อาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง
ขั้นตอนเริ่มต้นก็คือ ต้องลงทะเบียนสถานที่ผลิตอาหารก่อน หรือที่เรียกว่า “Food Facility Registration” กับ US FDA ซึ่ง FDA ย่อมาจาก Food & Drug Administration คล้ายคลึงกับองค์กรอาหารและยาของบ้านเรา ซึ่งการขึ้นทะเบียนนี้ต้องทำทุกปี
ขั้นตอนที่สอง คือ การเลือกตัวแทน หรือ “US Agent” มีไว้เพื่อสื่อสารกับ FDA ของอเมริกา ถ้าสินค้าโดนตีกลับ มีปัญหาที่ท่าเรือ ทาง FDA ของอเมริกาจะไม่ติดต่อกลับมาหาเราโดยตรง แต่จะติดต่อกับ US Agent ของเรา คำว่า Agent ตรงนี้ต่างจาก Distribution Agent หรือนายหน้า หรือผู้นำเข้าสินค้าของเราเข้าไป US Agent ส่วนใหญ่ที่เป็นมืออาชีพจะมีอาชีพทนายมาก่อน เป็นผู้เข้าใจกฎหมายความปลอดภัยของอาหารเมื่อสื่อสารกับ FDA
ปัญหาของสินค้าไทยที่ส่งออกไปตลาดอเมริกา
คือ สินค้าไม่ได้รับการตรวจสอบว่าปลอดเชื้อโรคหรือไม่
มีการระบุฉลากผิด และบรรจุภัณฑ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผมได้ตั้งคำถามไปว่า “ปัญหาส่วนใหญ่ที่คนไทย สินค้าไทยโดนคืออะไร?” เขาตอบว่าสินค้าไม่ได้รับการตรวจสอบว่าปลอดเชื้อโรคหรือไม่ มีการระบุฉลากผิด บรรจุภัณฑ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย บางคนชอบส่งสินค้า Spec ยุโรปเข้ามา ซึ่งทางสหรัฐฯ เพ่งเล็งและโดนกักที่ท่าเรือ หรือตีกลับบ่อย บางคนให้ญาติของตัวเองที่พำนักอยู่ในอเมริกาเป็น US Agent ให้ เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่ได้เช็คจดหมายบ้าง เจรจาไม่เป็นบ้าง ทำให้เกิดปัญหาและถูกแบนจากตลาดอเมริกาในที่สุด 2-3 ขั้นตอนที่ผมเสนอมานี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 600 เหรียญสหรัฐต่อปี เพียงแค่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ ขั้นตอนที่เหลือก็คงเป็นการหาตลาด หาผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า บริษัทค้าปลีก หรือ E-Commerce ต่อไป
ผมหวังว่าบทสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับตลาดสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์สินค้า อาหารเอเชีย อาหารสุขภาพ การส่งออก-นำเข้า การสร้างมูลค่าเพิ่ม Startup ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านกรุงศรี กูรูไม่มากก็น้อยครับ ผมมั่นใจในวัตถุดิบเมืองร้อนที่อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเราครับ เตรียมตัวดี ๆ พัฒนาไอเดีย ผมเชื่อว่าสินค้าบ้านเราจะไปได้ไกลแน่นอนครับ