4 เคล็ดลับ รับมือกับอาการเบื่องาน สำหรับคนหมดไฟ

4 เคล็ดลับ รับมือกับอาการเบื่องาน สำหรับคนหมดไฟ

By Krungsri Plearn Plearn
ถ้าเริ่มรู้สึกเบื่องาน เบื่อคน หรือเหนื่อยกับงาน จนต้องมาระบายลงในโซเชียลมีเดีย โพสต์สเตตัสพร้อมแฮชแท็กว่า #Ihatemyjob หรือ #TGIF นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าอาการเหล่านี้กำลังเข้ามาทักทายคุณอยู่ การเบื่องาน เบื่อคน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะในแต่ละวัน เราใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าในห้องนอนเสียอีก ยังไม่นับรวมเวลาในการเดินทางไปและกลับจากออฟฟิศ

ถ้าเราโชคดีได้ทำงานที่รักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร การตื่นเช้าเพื่อมาทำงานด้วยความรู้สึกแฮปปี้ แต่ถ้าเริ่มมีปัญหากับงานหรือรู้สึกเบื่องาน เบื่อคนจนจัดการอารมณ์ไม่ได้ ความเหนื่อยกับงาน ก็อาจเริ่มกัดกินใจและร่างกายของเราได้ หากปล่อยให้อาการเบื่องานนี้สะสมไปนานๆ อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) หรือหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ เพื่อไม่ให้ปัญหาเบื่องานเบื่อคนกลายเป็นเรื่องใหญ่ มาทำความรู้จักสองอาการนี้ให้มากขึ้น แล้วเช็กให้ชัวร์สักนิดจะได้แก้ไขทันก่อนที่จะสายเกินไป
เบื่องาน เช็กก่อน คุณอาจตกอยู่ภาวะ burnout syndrome

Burnout Syndrome อาการหมดไฟ

Burnout Syndrome เป็นอาการที่เกิดจากการทำงานหนักมากเกินไปและพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกเหนื่อยกับงาน เบื่องานและเบื่อคนในที่ทำงาน เมื่ออยู่ในออฟฟิศก็เครียด ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดตลอด เพราะอยากให้เวลาผ่านไปเร็ว ๆ จะได้กลับบ้านซะที อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ถ้าพักผ่อนแล้วยังรู้สึกเบื่องาน เบื่อคน และเหนื่อยกับงานเหมือนเดิม ก็น่าสงสัยว่าคุณอาจจะตกอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome

สัญญาณของอาการหมดไฟ

เคยรู้สึกเหนื่อยกับงานตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานไหม? หรือถอนหายใจตั้งแต่อยู่หน้าประตูออฟฟิศแล้ว ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ บางทีอาจเป็นเพราะคุณเหนื่อยกับงานมากจนมันส่งผลถึงจิตใจ ทำให้ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เบื่องาน เบื่อคนรอบข้าง ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดความกระตือรือร้น ขอแค่ให้งานเสร็จวันต่อวัน ไม่สนใจว่าผลงานจะออกมาดีมั้ย กลายเป็นวงจรชีวิตที่น่าเบื่อ เครียด ไม่อยากตื่นมาทำงาน หรือบางทีถึงขั้นไม่อยากลุกออกจากเตียงเพราะเบื่องาน เบื่อคน บางคนอาจถึงขั้นร้องไห้เลย และพออาการหนักเข้าก็หาข้ออ้างลาหยุด นี่คือสัญญาณเตือนว่า คุณอาจกำลังตกอยู่ในอาการหมดไฟ Burnout และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าปกติด้วย

Brownout Syndrome อาการหมดใจ

เมื่อทำความรู้จักกับอาการหมดไฟไปแล้ว ยังมีอาการหมดใจที่เรียกว่า Brownout Syndrome ด้วย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากความเบื่อหน่ายหรือไม่พอใจกับคนและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน พนักงานที่เก่งมีความสามารถมักจะเผชิญกับอาการนี้ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากเพื่อนร่วมงานหรือกฎเกณฑ์ของบริษัททำให้เกิดความไม่ยุติธรรม เช่น การที่องค์กรให้ผลตอบแทนกับพนักงานเท่ากัน คือใครทำดีหรือไม่ดีก็ได้เท่ากันหมด โดยรวมแล้วอาการ Brownout ส่งผลร้ายแรงกว่า Burnout เพราะส่งผลกับสภาพจิตใจของพนักงานเอง ทำให้พนักงานรู้สึกหมดใจ เบื่องาน เบื่อคน และอาจลาออกอย่างไม่คาดคิด
เหนื่อยกับงาน เป็นสัญญาณอาการหมดใจ brownout

สัญญาณของอาการหมดใจ

คนที่เข้าข่ายอาการ Brownout ภายนอกมักจะดูเหมือนเป็นปกติทุกอย่าง แต่ภายใจกลับรู้สึกเบื่องาน เบื่อคน อึดอัดจนอยากระบายออกมาดัง ๆ ว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่?” แต่ก็ทำไม่ได้ ได้แต่เก็บไว้ในใจ ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพและทำให้พนักงานเหล่านี้อาจตัดสินใจลาออกอย่างกะทันหัน แม้ว่าจะเป็นงานที่รักมากขนาดไหน และสามารถทำงานได้ดีแต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง

อย่างไรก็ตามภาวะ Burnout และ Brownout อาจเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวและสามารถรักษาได้ หากได้รับความร่วมมือจากองค์กรและเพื่อนร่วมงาน ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น เปิดใจพูดคุยถึงปัญหา และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่วนพนักงานก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เรามี 4 แนวทางปฏิบัติง่าย ๆ เพื่อรับมือกับภาวะหมดไฟและหมดใจ

4 แนวทาง รับมือกับภาวะหมดไฟและหมดใจ

1. ตั้งเป้าหมายในการทำงาน

เมื่อรู้สึกว่าเบื่องาน ขาดความกระตือรือร้น หรือทำได้ไม่เต็มที่ การตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในการทำงานจะช่วยได้มาก แล้วคิดว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร หากทำสำเร็จจะส่งผลดีอย่างไรกับตัวเราและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ เช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะไม่เข้างานสาย หรือจะเขียนบทความให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง พยายามมองทุกงานที่ทำให้มีคุณค่าเท่ากัน ไม่เลือกงานที่รักมักที่ชัง เพราะการทำเป้าหมายเล็ก ๆ สำเร็จจะช่วยสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ทำให้เรามีความกระตือรือร้นและลดความรู้สึกเบื่องานได้
เบื่องานและเหนื่อยกับงาน แก้ด้วยใส่ใจอาหารการกิน

2. หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ

เมื่อรู้สึกเหนื่อยกับงานหรือเบื่องาน อาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายและจิตใจของเรากำลังต้องการการพักผ่อน บางครั้งเราอาจทำงานหนักไปจนละเลยสุขภาพเป็นเรื่องที่หลายคนทำโดยไม่รู้ตัว บางคนหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้านหรือนั่งปั่นงานที่ออฟฟิศจนดึก การนอนน้อยและเครียดสะสมจากการทำงานอาจทำให้เรารู้สึกเบื่องานและเหนื่อยกับงาน การออกกำลังกาย ใส่ใจอาหารการกิน และพักผ่อนให้เพียงพอ สามเรื่องนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่บางคนกลับไม่ใส่ใจและหาข้ออ้างว่าไม่มีเวลา การดูแลตัวเองคือการสร้างวินัยที่ดี หากเราทำสำเร็จ ก็จะส่งผลดีต่อชีวิตด้านอื่น ๆ เมื่อความเครียดลดลง เราจะมีพลังในการทำงานและลดความรู้สึกเบื่องานลงได้
ออกไปท่องเที่ยวอีกหนึ่งวิธีแก้อาการเบื่องาน

3. ใช้วันลาพักร้อน ออกห่างจากงานซะบ้าง

หากรู้สึกเบื่องาน เบื่อสิ่งแวดล้อมในออฟฟิศหรือเพื่อนร่วมงาน ควรหาเวลาพักผ่อน อาจเลือกลาพักร้อนออกไปผ่อนคลาย ออกไปพบเจอผู้คนและสถานที่ใหม่ ๆ อาจช่วยเติมพลังในการทำงานได้ การเดินทางหรือออกไปพบปะผู้คนใหม่ ๆ ก็อีกหนึ่งเป็นวิธีช่วยเติมไฟในการทำงานที่ช่วยเยียวยาสุขภาพจิตและร่างกายในการทำงานอีกด้วย เพราะการทำอะไรซ้ำ ๆ และพบเจอคนหน้าเดิม ๆ อาจทำให้เรารู้สึกเบื่องาน แต่การออกไปเปิดโลกใหม่ ๆ จะช่วยให้เรากลับมาพร้อมแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และความพร้อมในการทำงานมากขึ้น

4. ให้เวลากับสิ่งที่ไม่ใช่งาน

การทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงานจะช่วยให้เราผ่อนคลายและลดความเครียดจากการทำงานลง ควรหาเวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบบ้าง เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ช้อปปิ้งหรือให้เวลากับเพื่อนและครอบครัว นอกจากนี้งานอดิเรกบางอย่างอาจต่อยอดไปสู่รายได้เสริมอีกด้วย เช่น บางคนทำขนมเก่ง ก็ใช้เวลาหลังเลิกงานอบขนมส่งร้านกาแฟหรือขายของออนไลน์ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้โฟกัสกับสิ่งที่ชอบและทำให้ความเหนื่อยกับงานดูเบาลง ความสุขจากกิจกรรมอื่น ๆ จะทำให้เรารู้สึกเบื่องานน้อยลง และกลับมามีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น

ภาวะเบื่องานหรือเหนื่อยกับงานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากเรามีสติรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับปัญหาเบื่องาน ควรลุกขึ้นมาเติมพลังให้ตัวเองและสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตให้มีความสุข ความสุขนการทำงานนั้นอยู่ที่เราเลือกสร้างทัศนคติด้านบวกกับงานของเรา มาเริ่มสร้างสมดุลให้งานกับชีวิต เพื่อให้การทำงานไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป!
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow