สนุกที่เขย่า เคี้ยวอร่อยหนึบหนับ เรากำลังพูดถึงคุณสมบัติของชานมไข่มุก เครื่องดื่มยอดฮิตที่เดี๋ยวนี้เดินไปทางไหนก็เห็นร้านชานมเต็มไปหมด ความนิยมของชานมไม่ได้มีเฉพาะในประเทศแถบเอเชียเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายข้ามทวีปไปยังสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว ภายใต้รสชาติอันหอมหวานของนม กลิ่นหอม ๆ จากใบชา ไข่มุกกลม ๆ เคี้ยวสนุก แท้จริงแล้วมีความยิ่งใหญ่มากกว่าที่เราคิด จนกลายมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของประเทศไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์
ต้นตำรับชานมไข่มุก
ก่อนกำเนิดของชานมไข่มุก ไต้หวันมีการปลูกชามาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี มีพื้นที่ปลูกชาบนภูเขา โดยเฉพาะชาอู่หลงอาลีซานซึ่งเป็นของฝากที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมายาวนาน ต่อมาชานมไข่มุกได้กำเนิดลืมตาดูโลกในยุคจากร้านชุนสุ่ยถัง ที่เมืองไถจง เป็นร้านเก่าแก่ต้นตำรับที่มีมาตั้งแต่ยุค 80 และดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้คิดค้นนำ เฟินหยวน ซึ่งเป็นขนมพื้นเมืองของไต้หวันที่ทำจากมันสำปะหลัง มาผสมในน้ำชาจนได้รสชาติที่น่าพอใจในที่สุด นับตั้งแต่นั้นชานมไข่มุกก็ได้รับความนิยมและแพร่หลายไปยังประเทศอื่นในเอเชียช่วงยุค 1990-2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่
อุตสาหกรรมบันเทิงของไต้หวันได้รับความนิยมไปพร้อมกัน ๆ
หัวใจความอร่อย
ชานมไข่มุก ถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า Bubble Tea แปลว่าชาโฟม หรือชาที่มีฟองอากาศ เพราะเวลาเราเขย่า จะเกิดฟองที่ด้านบนของชา ยิ่งเขย่าแรงและเร็วก็จะได้รสชาติที่กลมกล่อม ส่วนไข่มุกหรือ Pearl ที่คนไต้หวันเรียกว่า ปัวป้า (Boba) คือหัวใจความอร่อยที่แท้จริง ซึ่งทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ไข่มุกที่อร่อยต้องมีความหนึบแต่พอดี เมื่อเคี้ยวแล้วอ่อนนุ่มนิ่ม ปัจจุบันมีไข่มุกหลากสีสันหลายรสชาติเพิ่มความแปลกใหม่ แต่ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือไข่มุกสีน้ำตาลดำ ที่ผสมคาราเมล ไซรัป และน้ำตาลทรายแดงเข้าไป
ความหวานที่ควรระวัง?
ปัจจุบันมีชานมไข่มุกในท้องตลาดราคาถูกยันแพงระดับพรีเมียม ส่วนผสมย่อมแตกต่างกันไป ที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ก็คือสูตร Brown Sugar ด้วยการนำไข่มุกมาเคี่ยวน้ำตาลทรายแดงให้ได้กลิ่นหอมหวาน แต่แคลอรี่ก็สูงตามไปด้วย ในหนึ่งแก้วมีปริมาณแคลอรี่ไม่ต่ำกว่า 200 แคลอรี่ เพราะเต็มไปด้วยน้ำตาล ไขมันจากนม และคาเฟอีนจากใบชา หากรับประทานทุกวันคงไม่ดีต่อสุขภาพนัก แต่ชีวิตคนเราก็ต้องได้ลิ้มลองความอร่อย เพิ่มความสดชื่นให้ชีวิตบ้าง ถ้าสามารถเลี่ยงหวานได้ ก็ควรสั่งแบบหวานน้อย หรือสั่งเป็นชาดำ ชาอู่หลง หรือชานมเต้าหู้ ก็เป็นอีกตัวเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ในประเทศอังกฤษก็มีร้าน Bubbleology ที่ใช้ใบชาออแกนิคส์พร้อมทั้งยังระบุแคลอรี่ของชาทุกชนิดอีกด้วย
วาระแห่งชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีความนิยมของชานมไข่มุกไม่ได้เสมอต้นเสมอปลาย มีบางช่วงที่ความนิยมลดลง แต่ก็กลับมาผงาดอีกครั้งในปี 2016 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไต้หวัน ที่ผลักดันนโยบาย New Southbound Policy เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ และเปิดให้พลเมืองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศเข้าไปท่องเที่ยวในไต้หวันได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เมื่อรัฐบาลร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อผลักดันด้านการท่องเที่ยว ชานมไข่มุกจึงกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไต้หวัน เป็นเครื่องดื่มที่ต้องมาชิมให้ได้ แม้แต่ฮิลารี คลินตัน ยังลองชิมชานมที่ร้าน Kung Fu Tea ในย่าน Queens ที่นิวยอร์กมาแล้ว เป็นที่รู้กันของนักท่องเที่ยวเมื่อไปเยือนไต้หวันต้องไปลองชิมชานมไข่มุกต้นตำรับสักครั้ง ไม่งั้นจะไม่ได้สัมผัสความเป็นไต้หวันอย่างไรอย่างนั้น
ฟีเวอร์ไปทั่วโลก
จากความสำเร็จของนโยบาย New Southbound ทำให้เกิดการค้าเสรีในประเทศอาเซียน นักธุรกิจกล้าลงทุนเฟรนไชส์ในต่างประเทศมากขึ้น อย่างเช่นที่ฟิลิปปินส์มีร้าน Chatime ที่ได้รับความนิยมสุด ๆ หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม ก็มีถนนสายชาไข่มุก ตั้งอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ ที่เต็มไปด้วยร้านชาไข่มุกทั้งถนนจนเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว ใช่ว่าจะมีแต่ในเอเชียเท่านั้น ฝั่งตะวันตกก็ไม่อาจต้านทานกระแสนี้ เมื่อมีเทศกาลชาไข่มุกเกิดขึ้นที่ Time Square ในมหานครนิวยอร์ก จัดครั้งแรกเมื่อปี 2017 และยังมีนิทรรศการ The Boba Room ตามมาอีกด้วย สำหรับในไทยนั้นมีหลายแบรนด์มากในท้องตลาดตอนนี้ มีทั้งเฟรนไชส์มาจากไต้หวันและผลิตเอง บางเจ้าลูกค้าสามารถเลือกตักไข่มุกเองได้อีกด้วย อีกทั้งชาไข่มุกยังเป็นเมนู Recommend ของร้านอาหารและคาเฟ่ดัง ๆ หลายแห่ง
เรียนรู้ความสำเร็จ
ชานมไข่มุกถือเป็นเครื่องดื่มที่คนไต้หวันภาคภูมิใจ เพราะส่วนผสมทุกอย่างผลิตขึ้นภายในประเทศ อีกนัยนึงก็คืออุตสาหกรรมนี้ไต้หวันสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยจีนแผ่นดินใหญ่ สร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่ ให้ประเทศอื่นจดจำผ่านสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีความร่วมสมัย เรียกได้ว่าเป็นเป็นยุทธศาสตร์การใช้ Soft Power เพื่อส่งออกวัฒนธรรมผ่านสินค้า อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างเม็ดเงินได้มาก มีอัตราการเติบโตรองจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ ช่วยสร้างงานให้ประชากรในประเทศ
จากความสำเร็จของชานมไข่มุก ทำให้ย้อนกลับมามองประเทศไทย ว่าเราจะพัฒนาส่งออกสินค้าหรือเผยแพร่
วัฒนธรรมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือวัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย เช่นเดียวกับชานมไข่มุกที่เปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ยังคงอนุรักษ์การชงชา ดื่มชาเอาไว้พร้อม ๆ กับการพัฒนาสินค้าให้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ร่วมสมัยราวกับเป็น Asian Starbucks อย่างแท้จริง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
voicetv.co.th,
judprakai.com,
sentangsedtee.com,
mangozero.com,
edition.cnn.com,
marketeeronline.co,
thestandard.co