การทำธุรกิจภายใต้ยุคดิจิทัล ปฏิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์ต่าง ๆ มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าหาลูกค้าและยกระดับธุรกิจของตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีและช่องทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา ผสานกับการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยเร่ง ทำให้ทั้งผู้บริโภคและตัวธุรกิจเองหันหน้าเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
ในขณะเดียวกัน การที่มีแบรนด์จำนวนไม่น้อยกระโดดเข้ามาในตลาดออนไลน์มากขึ้น ก็ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง อีกทั้งฝั่งผู้บริโภคเองก็มีตัวเลือกที่เยอะขึ้นและหาได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย ทำให้การเข้าหาลูกค้าด้วยวิธีเก่า ๆ ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป แล้วแบรนด์ต่าง ๆ จะทำอย่างไร
เพื่อเป็นที่จดจำและเป็นที่โดดเด่นในสายตาของลูกค้า? ซึ่งนี่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับแบรนด์ในยุคนี้กันเลยครับ วันนี้ผมก็เลยจะพาไปดูกับ 6 วิธีที่จะช่วยเป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำครับ
แอคทีฟบนโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ
เป็นเพราะว่าในทุกวันนี้ สิ่งต่าง ๆ บน
โลกออนไลน์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับความทรงจำของผู้ใช้งานครับ ทำให้แบรนด์จะต้องมีตัวตนอยู่ในทุก ๆ ช่องทาง ทุก ๆ แพลตฟอร์มที่ลูกค้าอยู่ แต่แค่มีตัวตนก็คงจะยังไม่พอที่จะทำให้ลูกค้าจดจำและเจอเราในทุก ๆ ที่ ดังนั้น เราก็จะต้องมีการ ‘แอคทีฟ’ อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ
ซึ่งการแอคทีฟนี้ก็หมายถึงการโพสต์คอนเทนต์ต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป บทความ หรือวิดีโอ อาจจะเป็นวันละครั้งหรือสองวันครั้ง สามารถที่จัดลำดับความสำคัญตามแต่ละแพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ใช้อยู่เป็นประจำ หากเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นจนไปถึงวัยทำงาน Facebook ก็อาจจะเป็นตัวเลือกหลัก แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายอยู่ในหมู่วัยรุ่นเป็นหลัก Instagram ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกันครับ
โดยคอนเทนต์ที่โพสต์ควรจะคละกันระหว่างการโปรโมตตัวแบรนด์และการให้คุณค่าอะไรบางอย่างกับลูกค้าด้วยความจริงใจครับ อย่างเช่น การทำคอนเทนต์ที่ลูกค้าได้รับประโยชน์หรือความรู้
อีกหนึ่งวิธีที่จะสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น คือการสร้าง ‘ความเชื่อใจ’ ซึ่งความเชื่อใจนี้ ก็สามารถสร้างได้โดยการทำให้ลูกค้าเห็นว่าเรานั้นมีความเก่งและมีความเป็นมืออาชีพในสินค้าด้านนี้
ทำให้ในไม่กี่ปีให้หลังมานี้ สังเกตได้ว่าเราจะเห็นการเขียนบทความเชิงการให้ความรู้ How-To ต่าง ๆ ออกมาจากแบรนด์บ่อย ๆ เพราะการที่ลูกค้าเห็นว่าแบรนด์รู้เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี ทำให้พวกเขานั้นไว้วางใจ และเลือกที่จะเชื่อใจและติดตามแบรนด์มากขึ้น
การใช้ภาษาที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น
การใช้ภาษาดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียวครับ ดังนั้น ลองปรับมุมมองและใช้ภาษาที่ Customer-focused มากขึ้น ภาษาที่ลูกค้าจะสามารถจับประเด็นได้ง่ายขึ้น รู้สึกเกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น และรู้สึกว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากเรา ไม่ใช่บอกว่าเราเก่งอะไร อาจจะเริ่มจากการลองเปลี่ยนจากคำว่า ‘เรา’ เป็น ‘คุณ’ แทน
อย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “เรามีความเป็น
มืออาชีพในด้านนี้ บริการที่เราจะมอบให้นั้นไร้ที่ติที่สุด” เป็น “คุณจะได้รับบริการที่ดีที่สุดจากเรา ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนที่คุณต้องการเรา” บอกลูกค้าว่าพวกเขาจะได้รับอะไรจากเรา เพื่อที่จะทำให้พวกเขานั้นรู้สึกถึงการเชื่อมต่ออะไรบางอย่างระหว่างแบรนด์กับเขา ไม่ใช่แค่เป็นการพูดถึงตัวแบรนด์เราเองอย่างเดียวเท่านั้น
การสร้าง Brand Personification
อีกหนึ่งสิ่งคือการสร้าง Brand Personifcation การทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำโดยการให้แอดมินเชื่อมสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง ถ้าเราเห็นเพจของแบรนด์ดัง ๆ ทุกวันนี้ จะเห็นว่าการโต้ตอบพูดคุยของแอดมินกับลูกค้านั้นเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
จากการพูดคุยแบบโรบอต การใช้ประโยคที่ดูเป็นทางการสูง เปลี่ยนมาเป็นการใช้ภาษาที่มีความเป็นกันเองมากขึ้นหรือสร้างความตลกขบขันมากขึ้น ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ของเรานั้นเข้าถึงง่าย กระตุ้นให้ลูกค้าอยากที่จะพูดคุยและโต้ตอบกับแบรนด์มากขึ้น ซึ่งก็สร้างความจดจำและเป็นการเชื่อมสัมพันธ์กับลูกค้าไปภายในตัว แต่ทั้งนี้ การใช้วิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ของคุณมีความเป็นทางการหรือมีความจริงจังเท่าไหนอีกด้วยครับ
การใช้ ‘ความรู้สึก’ เป็นสื่อกลาง
แน่นอนว่าในทุก ๆ การกระทำของชีวิตคน ต้องมีเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่แล้วถ้าเราใช้โอกาสจากความรู้สึกนี้มาทำให้คนจดจำเราได้มากขึ้นจะเป็นอย่างไรกัน?
อย่างที่กล่าวไปว่า คนส่วนมากจะสามารถจดจำแบรนด์ได้จากการที่พวกเขารู้สึกว่าเขาได้คุณค่าอะไรบางอย่างกลับไป ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์นั้นก็ทำการตัดสินใจจากอารมณ์และความรู้สึก (ที่บางครั้งก็มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้อง) ทำให้การสร้างคอนเทนต์ที่ก่อความรู้สึกในใจของลูกค้า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงพลังมากในการที่จะทำให้ลูกค้าจดจำเราได้เป็นอย่างดี แต่ความท้าทายของการทำสิ่งนี้คือ แบรนด์จะทำให้พวกเขารู้สึกได้แค่ไหนกัน
สิ่งที่สามารถทำได้คือการอาจจะลองเริ่มจากการเขียนหรือใช้ภาษาที่ส่งต่อความรู้สึกให้กับลูกค้า อย่างในช่วงปลายยุค 90 ในตอนนั้นบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็โฟกัสไปที่การแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ออกมา ในขณะที่โฆษณาของ Apple มาพร้อมกับประโยคสั้น ๆ อย่าง ‘Think differently’ และเรื่องราวของบุคคลที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งได้สร้างความแตกต่าง แต่กลับกลายมาเป็นนวัตกรรมหรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโลกของเรา
ทำให้ลูกค้าหรือผู้ชมได้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็น Apple ที่มีความครีเอทีฟและไม่มีลิมิตมาหยุดกั้นความคิดที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา และมีความรู้สึกร่วมไปกับวิดีโอ 30 วินาทีนั้น ไม่ใช่แค่การพรีเซนต์ตัวสินค้าหรือเทคโนโลยีเท่านั้น ทำให้วิดีโอนั้นได้กลายมาเป็นหนึ่งในแคมเปญที่เป็นที่จดจำแคมเปญหนึ่งในยุคนั้นกันเลยครับ
การสร้างประสบการณ์ที่เฉพาะตัวมากขึ้น
แน่นอนว่าการสร้างประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจง (Personalised Experience) ให้กับลูกค้าก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำได้ดีขึ้น ทำให้ลูกค้าประทับใจและติดอยู่กับแบรนด์นานยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างความสัมพันธ์แบบส่วนตัวกับลูกค้า อาจจะเป็นวิธีการที่ดูซับซ้อนและใช้เวลาในเชิงของการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย อย่างการส่งข้อเสนอไปให้กลุ่มลูกค้ากลุ่มหนึ่งหรือการเสนอแนะสินค้าที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน
แต่สำหรับวิธีง่าย ๆ ที่แบรนด์เล็กถึงระดับกลางสามารถใช้ได้ก็คือการ
'สื่อสาร' อย่างการจำรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกค้าอย่างชื่อหรือสิ่งที่ลูกค้าชอบ หรืออาจจะเป็นการแนะนำสินค้าให้กับลูกค้าแบบตัวต่อตัวอย่างจริงใจและใส่ใจ ก็มีส่วนช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกัน
สื่อสารความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าเราเปลี่ยนความเป็นแบรนด์อยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ ข้อความที่ต้องการสื่อหรือโทนของการสื่อสาร อาจจะก่อให้เกิดความสับสนกับลูกค้าได้ เจ้าของธุรกิจอาจจะต้องลองหา ‘ความเป็นแบรนด์’ ที่เป็นหัวใจของธุรกิจของตัวเองให้เจอ และยึดมั่นไว้เป็นมาตรฐานในการสร้างการสื่อสารหรือการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักต่อ ๆ ไป
พยายามสร้างแบรนด์ที่คนจะพูดว่า ‘แบรนด์นั้นไงที่ทำ..’ แต่แน่นอนว่าการหาตัวตนของแบรนด์ให้เจออาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากว่าที่เราจะรู้ว่าอะไรใช่และอะไรไม่ใช่สำหรับแบรนด์ของเรา แต่เมื่อเจอแล้ว ก็ต้องพยายามที่จะรักษาไว้และสื่อสารมันออกมา เพื่อที่จะให้ลูกค้าสามารถจดจำเราได้อย่างง่ายดายมากขึ้นครับ