เผยเคล็ดลับความสำเร็จกับสองสาวคนเก่งเจ้าของ Bonchon

เผยเคล็ดลับความสำเร็จกับสองสาวคนเก่งเจ้าของ Bonchon

By Guest Guru
หากพูดถึงไก่ทอดสไตล์เกาหลีที่ไปโด่งดังไกลถึงอเมริกาแล้วล่ะก็ แบรนด์ที่มาแรงที่สุดคงหนีไม่พ้น "บอน ชอน" (BonChon) คอเกาหลีอย่างบ้านเรามีหรือจะยอมพลาดเทรนด์นี้กับไก่ทอดสไตล์เกาหลีที่ทั้งกรอบนอกนุ่มในที่เป็นเอกลักษณ์ แถมยังใช้ซอสสูตรเฉพาะจากเกาหลีที่ทาลงบนหนังก่อนทอด ทำให้รสชาติซึมลึกเข้าถึงเนื้อไก่ เรียกได้ว่า อร่อย! จนแทบไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มกันเลยทีเดียว

บอนชอน เจ้าของความสำเร็จนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นสองสาวคนเก่ง ธัญญา ศรีพัฒนาสกุล (ลี่) และ พรพิมล วงศ์ศิริกุล (พอลลี่) ซึ่งเป็นเจ้าของ BonChon ในประเทศไทย ทั้งสองตัดสินใจเข้าแฟรนไชส์ไก่ทอดสไตล์เกาหลีนี้มาให้คนไทยได้ลิ้มลอง จนได้กลายเป็นกระแสไก่ทอดเกาหลีฟีเวอร์กันไปตาม ๆ กัน บอน ชอน เจ้าของความอร่อยนี้ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะทั้งสองสาวยังมีแผนที่จะขยายสาขาของ BonChon ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยตั้งเป้าจะเปิดกว่า 25 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลภายในสิ้นปี 2559 ทำให้ "บอน ชอน" กลายเป็นแบรนด์ไก่ทอดเกาหลีที่คนไทยต้องรู้จัก

เหตุผลที่อยากเปิดแฟรนไชส์ Bonchon Chicken ที่ไทย

คุณลี่ : “ลี่กับพอลลี่ได้ไปเจอแบรนด์บอนชอนที่อเมริกาสมัยตอนที่เราเรียนด้วยกัน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยในนิวยอร์กเป็นอย่างมาก และเห็นว่าเป็นแบรนด์ที่เมืองไทยยังไม่มีบอนชอน เราจึงมองเห็นโอกาสและตัดสินใจนำ BonChon Chicken เข้ามาในประเทศไทยค่ะ”

มีวิธีเตรียมตัวอะไรบ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจติดต่อเจ้าของ Bonchon Chicken

คุณพอลลี่ : “ความจริงไก่ทอดเกาหลีเขามีอยู่ที่เกาหลีมานานแล้ว ในช่วงนั้นกระแสนิยมเกาหลียังไม่ค่อยเข้ามาในประเทศไทยเท่าไร แต่จะมีเริ่มเข้าไปนิยมในอเมริกาก่อน เราจึงมองเห็นโอกาสที่ดีที่จะนำเอาไก่ทอดเกาหลีเข้ามาในประเทศไทย พร้อมทั้งได้ทำการรีเสิร์ชและหาข้อมูลแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ และก็เห็นว่า Bonchon Chicken นั้นมีรสชาติอร่อยและความเหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ที่จะนำมาเปิดที่ประเทศไทย นอกจากนี้ เราก็ยังได้ทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยด้วยเช่นกัน รวมถึงมีการเจรจาต่อรองกับเจ้าของ Bonchon เพื่อการนำแฟรนไชส์เข้ามาในประเทศไทยจนเราได้ดีลเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนค่ะ”

มีวิธีบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไร

คุณพอลลี่ : “สำหรับแฟรนไชส์ Bonchon Chicken มี Business Model ค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้นเราก็ต้องเลือก Business Model และ Positioning ของแบรนด์ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของเรา ซึ่งเราเลือกที่จะทำร้านบอนชอนให้เป็นลักษณะ International Bruch ในแบบ Modern Korean เนื่องจากเป็นแบรนด์ Bonchon นั้นเติบโตที่อเมริกา อย่างเมนูที่เราเสิร์ฟก็จะเป็นไก่ทอดคู่กับสลัดหรือเมนูที่เป็นฟิวส์ชั่นอื่น ๆ ที่เหมาะกับการบริโภคของคนไทยที่ต้องการความหลากหลายที่ไม่ได้มีแค่ไก่ทอดเพียงอย่างเดียว Bonchon Chicken ก็จะเป็นร้านแบบ Sit-down Restaurant ที่เหมาะสำหรับทุกคนและสามารถทานได้ตลอดค่ะ”
คุณพอลลี่ : “สำหรับเมนูที่เป็นที่นิยมในไทยนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไก่ทอดเท่านั้นค่ะ ยังมีเมนูอื่น ๆ เช่น ซุปกิมจิ, ซุปเต้าหู้กิมจิ, ข้าวผัดกิมจิ, สลัดต่าง, เกี๊ยวซ่าและบอนชอนฟรายส์ รวมทั้งอีกหลาย ๆ เมนูที่เราเพิ่มเข้ามาให้เฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น ซึ่งเมนูและรสชาติเราก็จะปรับตามความชอบของคนไทยโดยเฉพาะ เช่น เครื่องเคียงของไก่ทอด ในประเทศอื่นจะเสิร์ฟกับโคลสลอว์เท่านั้น แต่ที่ประเทศไทยเราจะมีเพิ่มข้าวเหนียวเข้ามาด้วยเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการกินของคนไทย เป็นต้น”
เคล็ดลับความสำเร็จกับสองสาวคนเก่งเจ้าของ bonchon chicken

เคล็ดลับที่ใช้ในการตัดสินใจ เวลาที่เจอสถานการณ์ยาก ๆ

คุณลี่ : “เวลาที่มีเรื่องอะไรที่จะต้องตัดสินใจ เราจะพยายามที่จะใช้เวลากับมันให้มากที่สุด และหาคนปรึกษาเสมอ ไม่พยายามคิดเอาเองคนเดียวค่ะ ในการจัดการบริหารธุรกิจของ Bonchon ส่วนใหญ่ลี่จะดูในส่วนของ HR และ Finance ส่วนพอลลี่จะเป็นคนดูแลในส่วนที่เป็น Art Direction ของแบรนด์ ในเรื่องของภาพลักษณ์ของร้านบอนชอนก็จะมีในส่วนที่ต้องตัดสินใจร่วมกันอยู่บ้าง อย่างเช่น การเลือกที่ตั้งของร้านและงาน Operation ต่าง ๆ ค่ะ หลาย ๆ อย่างเราช่วยกันคิด และจะแบ่งกันไปว่าใครจะเป็นคนตัดสินใจในเรื่องอะไร เช่น พอลลี่ดูในส่วนของพีอาร์ หรือลี่ดูในส่วนของ Finance เป็นต้น ตามความถนัดของแต่ละคนค่ะ”

มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ลูกค้าเข้าร้านและชอบไก่ Bonchon มีการปรับอะไรเพื่อให้เข้ากับลูกค้าคนไทยบ้าง

คุณพอลลี่ : “การตลาดและพีอาร์ก็มีส่วนช่วยในการทำให้ลูกค้าเข้าร้านสำหรับ Bonchon Chicken นั้นที่เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วแต่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ที่เรามั่นใจหลัก ๆ เลยก็จะเป็นไก่ทอดของเราที่รสชาติถูกปากคนไทย การเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่เราคัดสรรเองอย่างใส่ใจ รวมถึงการใช้ไก่สดในการทำ และบริการต่าง ๆ ที่ทำด้วยความตั้งใจ ทำให้ร้านบอนชอนของเรายังอยู่และเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบันนี้

ภาพลักษณ์ของการเป็นผู้หญิง้มีอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ (ในแง่การดีลธุรกิจ การบริหารจัดการลูกน้อง การทำงานทั่วไป)

คุณลี่ : “ส่วนตัวแล้วคิดว่า ความเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงนั้นไม่ค่อยต่างกัน สำหรับตัวลี่ การเป็นผู้หญิงอาจเป็นข้อได้เปรียบเลยด้วยซ้ำ เช่น การเจรจาต่อรองราคาขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำเอาจุดแข็งของตัวเราไปใช้ในสถานการณ์แบบไหนมากกว่า แต่สำหรับข้อที่ว่าผู้หญิงไม่เด็ดเดี่ยวเท่าผู้ชายนั้น ลี่รู้สึกว่าในสมัยนี้สังคมเปลี่ยนไปมากค่ะ ผู้หญิงสามารถทำอะไรหลายอย่างได้เหมือนผู้ชายค่ะ”

คุณพอลลี่ : “เห็นด้วยกับลี่นะคะ ที่ปัจจุบันนี้ผู้หญิงกับผู้ชายมีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าเทียมกันค่ะ แต่สำหรับในจุดที่ความสามารถทางด้านร่างกาย เช่น ผู้หญิงอาจมีแรงน้อยกว่าผู้ชาย เราก็อาจจะต้องประเมินความสามารถของเราว่าสามารถทำได้ขนาดไหน แล้วบริหารจัดการให้พนักงานทุกคนเข้ากับตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสมกับเขาค่ะ”

การบริหารคน (Human Resource) กับทรัพยากรอื่น ๆ (Other resource) เช่น วัตถุดิบ แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

คุณลี่ : “ปัจจุบันนี้ Bonchon เรามีพนักงานประมาณ 400 คน มีสาขาทั้งหมด 22 สาขา โดยมีที่เราบริหารเองทั้งหมด 18 สาขา 1 สาขาเป็น Join Venture และอีก 3 สาขาเป็นแฟรนไชส์ โดยในสิ้นปีนี้เรามีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา รวมเป็นทั้งหมด 25 สาขาภายในสิ้นปีนี้ค่ะ สำหรับการบริหารคนกับวัตถุดิบนั้นถือว่าเป็นคนละส่วนที่ต้องบริหารจัดการ เริ่มจากการจัดการวัตถุดิบเราก็จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของอายุของวัตถุดิบ ซึ่งจะต้องมีกฎเกณฑ์มาตรฐานในการจัดการและต้องทำอย่างเคร่งครัด ส่วนการบริหารจัดการคนจะเป็นคนละแบบกับการจัดการวัตถุดิบเลย เพราะมีความยากกว่ามาก ๆ และต้องใช้วิธีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยผู้บริหารและทีมบริหารทุกคนจะต้องมาทำงานที่หน้าร้านด้วยเพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจและสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างนโยบายของบริษัทได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการทำงานจริง ๆ ด้วยค่ะ”

คุณพอลลี่ : “เราให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน Bonchon โดยสร้าง Career Path ที่ชัดเจน รวมทั้งรางวัลต่าง ๆ ตามกฎของบริษัทด้วยค่ะ”

ก่อนเริ่มเรียนด้านธุรกิจที่เมืองนอก มองภาพนักบริหารผู้หญิงไว้อย่างไรบ้าง และเมื่อได้มาเป็นแล้ว มีมุมมองเปลี่ยนแปลงไหม

คุณลี่ : “ก่อนที่จะทำร้าน Bonchon Chicken ลี่เคยทำร้านอาหารมาก่อนแต่จะเป็นขนาดเล็กกว่า ซึ่งเราจะรู้รายละเอียดและก็ทำเองทุกอย่าง แต่พอมาเริ่มบริษัทนี้เนื่องจากสเกลการบริหารใหญ่ขึ้น หลายอย่างเราก็ไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด ในบางทีก็มีเผลอว่าเราจะเข้าไปทำเองให้ได้ทุกอย่าง จะติดความเป็น Perfectionist ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงานบ้างอยู่เหมือนกัน เราจึงต้องค่อย ๆ เรียนรู้ แบ่งงาน และเชื่อมั่นในทีมของเรา โดยการเลือกคนให้เหมาะสมที่สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องแทนเราได้ค่ะ”

คุณพอลลี่ : “ของพอลลี่ยังไม่เคยทำงานร้านอาหารมาก่อน แต่ก็พอมีความเข้าใจว่าการทำร้านอาหารจะต้องทุ่มเทมาก ๆ โดยจะต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง และนำประสบการณ์ที่เรามีมาปรับใช้ให้เข้ากับองค์กรค่ะ”

ธุรกิจไก่บอนชอนในอีก 10 ปี ข้างหน้า

คุณลี่ : “โดยส่วนตัวคิดว่า Bonchon Chicken ยังไปได้อีกไกลมากค่ะ โดยบอนชอนยังถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่เขามีเป็นร้อยสาขาในประเทศไทย เราจะมีแผนที่จะพัฒนา Product ใหม่ ๆ ออกมาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ Bonchon Chicken เป็นที่นิยมและอยู่ในกระแสค่ะ โดยอาจมีการทำแฟรนไชส์ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ด้วยค่ะ”

มีอะไรอยากฝากถึงคนที่อยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง

คุณลี่ : “ในปัจจุบันนี้คนไทยมีความเป็น Entrepreneur ค่อนข้างสูง สำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่สามารถลงทุนได้มาก ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งค่ะ แต่คุณก็จะต้องเลือกแฟรนไชส์ที่ดีด้วยเหมือนกัน โดยจะต้องทำการศึกษาหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อนการตัดสินใจ และเวลามีไอเดียอะไร ก็อย่าเก็บไว้กับตัวเอง อย่าไปคิดว่า ฉันมีไอเดียนี้คนเดียว คุณก็ควรจะเริ่มจริงจังกับมัน และทำมันให้เป็นจริงด้วยค่ะ”

คุณพอลลี่ : “ทุกคนสามารถมีไอเดียดี ๆ กันได้ค่ะ แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ การลงมือทำค่ะ ถ้าคุณมั่นใจแล้วคุณก็จะต้องมีความกล้า ความทุ่มเทกับมันจริง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ”
นี่คืออีกหนึ่งมุมมองความคิดเบื้องหลังกระแสนิยมไก่ทอดเกาหลีของสองสาวแห่ง Bonchon Chicken แบรนด์ดังระดับโลก การที่บอนชอนกลายเป็นที่นิยมไม่ใช่เพียงเพราะรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังเป็นเพราะความทุ่มเทและการใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้แบรนด์นี้เติบโตอย่างมั่นคง และหากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความฝันที่อยากทำธุรกิจของตัวเองแล้วก็อย่าลืมใส่ใจและทุ่มเทกับมันอย่างจริงจัง รับรองว่าความฝันของคุณจะเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow