บล็อกเชน คืออะไร?
บล็อกเชน (Blockchain) คำนี้คงเป็นที่คุ้นหูของใครหลาย ๆ คนในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบ เราขออธิบายคร่าว ๆ ก่อนว่าบล็อกเชน คือ รูปแบบการเก็บข้อมูลและส่งต่อแบบไม่มีคนกลาง แต่ข้อมูลที่ได้รับการปกป้อง จะถูกแชร์และจัดเก็บเป็นสำเนาไว้ในเครื่องของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันเหมือนห่วงโซ่ โดยทุกคนจะรับทราบร่วมกัน ว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะไม่ต้องพึ่งพาคนกลางมาคอยทำหน้าที่ประสานงาน
สำหรับคนที่รู้จักบล็อกเชน คงคุ้นเคยกับการมาคู่กันกับ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่ว่ากันว่าเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกสู่อนาคตใหม่ แต่นอกจากนี้ประโยชน์ของ blockchain ก็ได้มีการนำไปพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็น Music Streaming อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ช่วยยืนยันสินค้าแท้ รวมไปถึงการเลือกตั้งและยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะในอนาคตบล็อกเชนจะพลิกวงการการเงินของโลกเราอีกด้วย เพราะธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศต่างซื้อตัวคนเก่ง ๆ มาพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างจริงจัง แต่จะเพราะเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมาดูกันเลย
8 เหตุผล ทำไมธนาคารกลางทั่วโลกถึงให้ความสำคัญกับ Blockchain
1. เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบและระบบติดตามการโอนเงิน
อุตสาหกรรมบริการทางการเงินยังคงเผชิญกับข้อมูลขนาดใหญ่และการละเมิดความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตใต้ดินหรือส่วนที่ไม่สามารถเชื่อมถึงผู้ให้บริการโฮสติ้งได้บนอินเทอร์เน็ต (Dark Internet) ดังนั้น เทคโนโลยีบล็อกเชนจะมาช่วยบริการทางการเงิน เพื่อช่วยทำให้เครือข่ายและระบบคลาวด์มีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น ให้เหมาะสำหรับธนาคารและลูกค้าของธนาคาร เพราะในบางครั้งการขาดความโปร่งใสในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ ซึ่งการให้รายละเอียดของการทำธุรกรรมอย่างชัดเจนจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการ นอกจากนี้ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคงยิ่งขึ้นตามระดับความโปร่งใสที่มีอยู่
2. ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี
อย่างที่เราทราบกันว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงเนื่องจากมีระบบค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นถ้าหากมีใครที่ต้องการปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูล จะไม่ทราบว่าปลอมแปลงหรือแก้ไขได้ภายในข้อมูลเดียวหรือคอมพิวเตอร์เดียว แต่ต้องทำกับคอมพิวเตอร์อีกมากมายหลายเครื่องในเครือข่าย แถมยังต้องเจอกับด่านการเข้ารหัสระดับสูงอีกด้วย เพราะฉะนั้นมั่นใจแน่นอนว่าข้อมูลของคุณจะปลอดภัย ซึ่งถือเป็นข้อดีของ blockchain แม้แต่สถานทูตอังกฤษก็ยังให้การสนับสนุนงบประมาณและทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์การใช้เทคโนโลยีในบล็อกเชนการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของไทย
3. ลดค่าใช้จ่ายของ Back Office
อย่างที่รู้กันว่า เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้นจะช่วยให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำงานของธนาคารได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาหรือทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีของ blockchain อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่กับองค์กรการเงินเท่านั้น ยังรวมถึงองค์กรอื่น ๆ อีกด้วย การที่ Front Office, Mid Office และ Back Office ของคู่ค้า สามารถเห็นธุรกรรมไปพร้อม ๆ กันจะช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการและตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมระหว่างบัญชีทั้งระหว่างฝ่ายงานในสถาบันการเงินและคู่ค้าและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องได้มาก
4. ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ
เนื่องจากการแลกเปลี่ยนเงินตราหรือการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบปัจจุบัน จะต้องผ่านคนกลางและต้องใช้เวลาดำเนินการที่ค่อนข้างนานและยังเสียค่าใช้จ่าย การนำประโยชน์ของ blockchain มาใช้นั้น จะสามารถลดระยะเวลาในการดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งยังไม่ต้องผ่านคนกลาง ช่วยลดความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี
5. ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขวางขึ้น (decentralization)
เนื่องจากบล็อกเชน คือคลังของเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายอำนาจ ไม่ได้กระจุกอยู่เพียงจุดเดียว ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้นและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศและพื้นที่อยู่ห่างไกลหรือมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางด้านนี้ ก็ได้ประโยชน์ของ blockchain ตรงนี้ด้วย เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบไม่จำกัดพื้นที่
6. สามารถทำสัญญาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วย smart contract
Smart contract กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในโลกดิจิทัล เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น บล็อกเชนจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีเลยว่า ทุกอย่างตรงตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน smart contract หรือไม่ ถ้าหากตรงตามเงื่อนไขก็จะดำเนินการตามกำหนดแบบอัตโนมัติ แถมยังช่วยเร่งความเร็วในกระบวนการจัดการต่าง ๆ ทำให้เราไม่ต้องคอยนานเหมือนแต่ก่อนและยังมีความปลอดภัยในด้านข้อมูลของคู่สัญญาอีกด้วย
7. พัฒนา identity management การตรวจสอบข้อมูลของผู้ถือบัญชีจะง่ายขึ้น
Identity Management หรือแปลตรง ๆ เป็นภาษาไทย คือระบบการจัดการด้านเอกลักษณ์หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า IdM คือระบบที่เอาไว้บริหารจัดการชื่อผู้ใช้งาน (User Name) และรหัสผ่าน (Password) ในระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อน และเมื่อเอาประโยชน์ของ blockchain เข้ามาช่วยในระบบตรงนี้ ผู้ใช้ (User) ก็สามารถเลือกวิธียืนยันตัวตนได้ทันที ไม่ต้องยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน ที่ในบางครั้งเราต้องมานั่งกรอกเอกสารใหม่ แถมยังต้องรอเวลาการตรวจสอบที่นานแสนนาน
8. เปิดโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่มากขึ้น
ในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือไทยนั้น ต่างผลักดันการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยใช้ข้อดีของblockchain เข้ามาช่วยเหลือในการสร้างนวัตกรรมเพื่อความสะดวกสบาย ปลอดภัย รวดเร็วและลดต้นทุน ซึ่งในแต่ละประเทศนั้นก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ในโลกอนาคตของเรา
จะเห็นได้ว่าในอนาคตไม่เกิน 4 ปี นี้เราคงจะได้เห็นบล็อกเชนเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมการเงินมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่สำคัญกับอุตสาหกรรมทางการเงินไม่แพ้กันกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต บล็อกเชนมีความสำคัญแทบจะขาดไม่ได้ในทุกอุตสาหกรรมอาจจะกลายเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมมาปฏิวัติโลกการเงินธนาคารได้ ซึ่งต้องคอยจับตาดูกันต่อไป
อีกหนึ่งนวัตกรรมของกรุงศรีฯ ที่ต้องจับตาดูก็คือ นวัตกรรม Krungsri Blockchain Interledger ที่ร่วมมือกับ Ripple และได้รับการสนับสนุนจากมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG 1 ใน 5 กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยการนำเทคโนโลยี Blockchain’s Interledger ที่เป็นวิวัฒนาการล่าสุดที่ให้ความสำคัญในเรื่อง Privacy ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ โดยทางกรุงศรีฯ ได้ประโยชน์ของ blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการโอนเงินระหว่างประเทศภายใต้กรอบ BOT Regulatory Sandbox ที่ช่วยลดระยะเวลาในการเงินระหว่างประเทศจากหลักวัน เหลือเพียงหลักวินาทีเท่านั้น! นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมการเงินทั้งของลูกค้าธนาคารและธุรกิจต้นน้ำปลายน้ำตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมบล็อกเชนในอุตสาหกรรมการเงินภายในประเทศไทยที่ต้องจับตามอง
และหลังจากนี้ไม่เพียงแค่อุตสาหกรรมทางด้านการเงินเท่านั้น อุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ ดนตรีหรือเกษตรกรรม บล็อกเชนก็จะมาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมแน่นอน เพราะฉะนั้นเราต้องตื่นตัวและปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วบล็อกเชนนั้น ก็จะมีผลกระทบต่อโลกและตัวเราไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน