หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามสื่อต่าง ๆ มาบ้างแล้ว และรู้หรือไม่ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้มีรูปแบบการพูดอย่างไรให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้ แต่ทั้งนี้เราก็ควรศึกษากลโกงของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลายเอาไว้ ถือว่าเป็นเกราะป้องกันที่จำเป็นที่ควรมีกันไว้นะ
เกราะป้องกันแรกข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือ
“มีสติรู้เท่าทัน” เพราะข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำให้เหยื่อตื่นตระหนก หรือตื่นเต้นดีใจ บ้างก็อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ/สถาบันการเงิน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ในบางครั้งอาจจะมีระบบโทรศัพท์อัตโนมัติเพื่อให้ดูเป็นการติดต่อจากองค์กรขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งอ้างว่าเหยื่อเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ จะมีข้ออ้าง หรือรูปแบบอะไรบ้างที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชอบใช้หลอกเหยื่อ ไปดูพร้อม ๆ กันเลย…
กลุ่มเป้าหมายของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายก่อนจะทำการโทร ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะแบ่งออกเป็น 2 แบบดังต่อไปนี้
- คนยากจน คนตกงาน มองหางาน ชีวิตลำบาก อยากมีฐานะทางการเงินที่ดี
- คนมีฐานะ มีเงินเก็บ อยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยตามข่าวสาร โดยเหยื่อไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา ทุกคนสามารถถูกหลอกได้ทั้งนั้น
3 วิธีการหลอกของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
1. เนื้อหาที่ใช้ในการสนทนา
จะเกี่ยวกับเรื่องเงินเป็นหลัก เช่น เราถูกรางวัล แต่ต้องให้โอนเงินเพื่อจ่ายภาษี ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้รูปแบบเรื่องราวประมาณนี้ และจะขอข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขบัตรเครดิต เลขสมุดบัญชี เป็นต้น ซึ่งจะใช้จิตวิทยาเข้าช่วย และทำการโน้มน้าวให้เหยื่อตกใจ หวาดกลัว จนรีบให้ข้อมูล หรือกระตุ้นให้เกิดความโลภ แล้วรีบเร่งให้เหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัวแบบไม่ทันได้ตั้งตัว รู้ตัวอีกที อ้าว! เงินเราหายไปแล้ว
2. เครื่องมือในการหลอกลวง
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะติดต่อเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์ผ่านทางข้อความเสียงอัตโนมัติ และให้คนโทรมาพูดคุย ซึ่งคนร้ายจะแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่บริษัทขนส่ง หรือเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ บทสนทนาที่มักโดนกันบ่อย ตัวอย่างคือ มีของผิดกฎหมายค้างอยู่ ต้องให้รีบโอนถึงจะไม่โดนจับ ใครโทรมาแบบนี้ ติ๊กไว้ก่อน ไอ้นี่โจรแหง ๆ อย่าไปเชื่อ
3. หมายเลขโทรศัพท์
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะใช้หมายเลขโทรศัพท์จริงของหน่วยงานที่แอบอ้างแต่ใช้เทคโนโลยีแปลงสัญญาณโทรศัพท์เป็นหมายเลขของหน่วยงานที่แอบอ้าง หรืออาจจะใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่สามารถติดต่อกลับได้ หรือเป็นหมายเลขจากต่างประเทศ เพื่อให้ยากต่อการติดตามจับกุม และเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นการติดต่อมาจากหน่วยงานจริง
รูปแบบการหลอกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- SMS ปลอม
โดยส่วนใหญ่ข้อความเหล่านี้จะมีทั้งมาจากในประเทศและจากต่างประเทศ โดยที่ข้อความที่มาจากต่างประเทศจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และมิจฉาชีพมักใช้ Google Translate ทำให้การอ่านรู้สึกผิดปกติ ตัวอย่างเช่น “คุณคือผู้โชคดีมีเงินเข้าแล้ว กดลิงก์เพื่อรับเงิน” หรืออาจจะเป็น คุณถูกฉลาก กดลิงก์เพื่อรับเงิน เป็นต้น
และส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเงินทั้งนั้น ซึ่งลิงก์พวกนี้มักจะขึ้นว่า cutt.ly เป็นกลุ่มของลิงก์ย่อ ถ้าไม่คุ้นเคยแนะนำว่าอย่าไปกด เพราะบางครั้งกดไปแล้วอาจจะเป็นเหยื่อ หรือ Phishing ได้ทันที
ในกรณีถ้าเราโดน SMS ปลอมแจ้งว่าเป็นของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งถ้าอยากให้ทางสถาบันการเงินนั้น ๆ ตรวจสอบ แนะนำให้โทรไปที่ฝ่ายบริการลูกค้า และแจ้งทางสถาบันการเงินนั้น ๆ ว่ามี SMS น่าสงสัยส่งมา ซึ่งทางสถาบันการเงินก็จะทำการตรวจสอบให้ได้ทันที
- บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต/มีพัสดุตกค้าง
ข้ออ้างที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์นิยมใช้ คือหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝาก และเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตื่นตกใจ และง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน โดยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมีพัสดุตกค้างอยู่ที่ ตม. โดยอาจมีเสียงอัตโนมัติ เช่น “คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตกับทางธนาคาร กด 0 เพื่อติดต่อพนักงาน” “คุณมีพัสดุตกค้าง กด 9 เพื่อติดต่อพนักงาน” เป็นต้น
เมื่อเหยื่อตกใจ และกดหมายเลขตามนั้น ขั้นตอนต่อไปคือคุยสายกับมิจฉาชีพ หลังจากนั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินจำนวนไม่มากนัก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่หากเหยื่อมีเงินค่อนข้างมากจะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ หรือถ้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แบบทันสมัยขึ้นมาหน่อย จะหลอกให้เราติดตั้งแอปฯ รีโมทเครื่องจากระยะไกล และขอข้อมูล จากนั้นจะเข้ามาขโมยเงินเราได้ทันที ซึ่งใครเจอแบบนี้ บอกได้เลย ให้รีบตัดสายทิ้งทันที
และถ้าไม่อยากโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกอีกต่อไป ลองมาฟังเรื่องดี ๆ ที่จะทำให้เรา
รู้ทัน...กลโกงมิจฉาชีพ แก๊ง Call Center โดย Krungsri The COACH ใน EP.38 ครบจบในคลิปเดียว และคุณจะไม่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพอีกต่อไป
วิธีรับมือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” มีอะไรบ้าง?
แน่นอนว่ามิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะหาวิธีการใหม่ ๆ มาหลอกล่อเหยื่อ ดังนั้นเราผู้ที่อาจจะเป็นเหยื่อควร
ศึกษาวิธีรับมือกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
- ต้องมีสติก่อนที่จะรับสายทุกครั้ง และตรวจสอบหมายเลขให้มั่นใจก่อนทุกครั้ง
- ต้องคำนึงไว้เสมอว่าสถาบันการเงิน และภาคราชการไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลทางโทรศัพท์
- ต้องเช็กตัวเองให้ดีว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการหลอกนี้
- ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัว และกดวางสายทันที
- หลังจากวางสายให้เช็กข้อมูลกับหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างโดยด่วน
- หากพลาดพลั้งเป็นเหยื่อให้ติดต่อไปยังสถาบันการเงินเพื่อระงับ หรือขอความช่วยเหลือทันที
- ติดตั้งแอปฯ ที่ช่วยสกรีนเบอร์มิจฉาชีพ เช่น whoscall ลงบนสมาร์ทโฟน เป็นต้น
ทำอย่างไรถ้าพลาดท่าให้กับมิจฉาชีพ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
ตั้งสติ และรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสถาบันการเงิน เช่น อย่างธนาคารกรุงศรีก็คือ 1572 โดยที่ทางสถาบันธนาคารก็จะทำการระงับบัญชีเพื่อที่จะไม่ให้นำเงินออกไปได้ รวมถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งเบาะแสกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ติดต่อไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อทำการตรวจสอบและบล็อกเบอร์เหล่านั้น
รายงานแจ้งไปยังช่องทางต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- ธนาคารกรุงศรี 1572
- แจ้งเบาะแส แจ้งสายด่วน สอท. 1441
- ศูนย์ PCT O81-866-3000
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เบอร์ 1599
- แจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com
ทั้งนี้การได้รับข้อความ SMS ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หรือแม้กระทั่งมีเบอร์แปลกโทรเข้ามา แต่ว่าควรอ่านข้อความ และพิจารณาเบอร์ หรือลักษณะการคุยอย่างละเอียด และไม่ควรกดลิงก์ที่ไม่รู้จักหรือให้ข้อมูลส่วนตัว เพียงแค่ทำตาม 3ม
“ไม่รับ ไม่บอก ไม่โอน” ถ้าทำสามอย่างนี้ได้ก็จะไม่โดนหลอกแล้ว