บ้านไร่ปาล์มปิยา ครอบครัวเกษตรกรที่ยึดหลักพอเพียง เพื่อการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ

บ้านไร่ปาล์มปิยา ครอบครัวเกษตรกรที่ยึดหลักพอเพียง เพื่อการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ

By Krungsri Academy

พ่อหมู-แม่ปาล์ม บ้านไร่ปาล์มปิยา ครอบครัวเกษตรกรที่สร้างพื้นที่ชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ บน Farm Stay ที่ยึดแนวคิดพอเพียง และการประยุกต์ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบ School Camping ให้กับลูก และเด็ก ๆ จากอีกหลายครอบครัว

คนเรานั้นผูกพันกับธรรมชาติมาก ๆ ไม่ว่าเราจะเกิดที่ไหน หรือทำงานอะไร ลองสังเกตไหมว่า หากพูดถึงการพักผ่อน เรามักจะนึกถึงการออกไปต่างจังหวัด ได้อยู่ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าเสมอ ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ใหญ่ แต่เด็ก ๆ เองก็อยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นกัน ยังจำภาพที่พวกเขาจับลายไม้ วิ่งเล่นบนสนามหญ้า เดินดูนาข้าวเป็นครั้งแรกกันได้ไหมว่า พวกเขาตื่นเต้นกันแค่ไหน
พ่อหมู-เกรียงไกร​ นิตรานนท์ ผู้​ที่นำแนวคิดการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างพอเพียงมาต่อยอดเป็น Farm Stay ภายใต้ชื่อ “Bann Rai PalmPiya” ที่เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ และเติบโตในการใช้ชีวิตมากขึ้น
บ้านไร่ปาล์มปิยา
Farm Stay พื้นที่ชีวิตและแหล่งเรียนรู้ภายใต้แนวคิด School Camping ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ
พ่อหมู: แต่ก่อนเราทำงานด้านไอทีมาตลอด จนมีโอกาสได้เรียนรู้ทางด้าน Buddhist Psychology ประกอบกับมีประสบการณ์ชีวิตมาหลาย ๆ อย่าง จนมีลูก เลยคิดได้ว่า พอมาถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว เราอยากได้ความสุขมากกว่ารายได้ที่เข้ามา ตอนที่ทำงานมีรายได้เยอะ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียไป เราอยากสอนสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกเราเองมากกว่า เราไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่า อยากได้อะไร แล้วเอาเงินไปแลกอย่างเดียว อยากให้ลูกเรียนรู้การเฝ้ารอ เช่น การปลูกพืชผักที่ต้องใช้เวลากว่ามันจะโต อยากให้เขารู้จักพอเพียง สิ่งนี้เองจึงทำให้ตัดสินใจที่จะย้ายครอบครัวไปอยู่จังหวัดลำปาง เริ่มทำธุรกิจใหม่เป็น School Camping และ Farm Stay ที่มีวัว ควาย ม้า สวน บ่อน้ำให้เด็ก ๆ มาเข้าแคมป์ที่นี่ โดยให้พวกเขาทำกิจกรรมในแต่ละโซนเพื่อใช้กำลังกายมาแลกอาหาร โดยตอนเช้าจะมีการแบ่งเด็ก ๆ เป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มหนึ่งไปเก็บผัก กลุ่มหนึ่งไปเก็บฟืน อีกกลุ่มไปเก็บไข่ และกลับมารวมกันเพื่อทำอาหาร เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่า เราสามารถใช้ความพยายามผ่านแรงกายในการดำรงชีวิต และพึ่งพาธรรมชาติในการใช้ชีวิต แทนที่จะใช้แค่เงินไปแลกอาหารแบบที่คนส่วนใหญ่ทำ ๆ กัน
นอกเหนือจากการใช้เงินซื้อสิ่งของ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้อีกว่า พวกเขาสร้างอาหารเองได้จากการทำสวน ทำไร่ ดูแลสัตว์ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่มาเข้าค่ายจะอยู่ในช่วง 9 ขวบถึงระดับมหาวิทยาลัย เรามองว่า ที่นี่สามารถให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติจริง ๆ และในอนาคตเราจะนำเรื่อง Internet of Thing (IoT) มาใช้ เพื่อให้ที่นี่เป็น Farm Automation มากขึ้น
บ้านไร่ปาล์มปิยา
มองธรรมชาติเป็นครู เพราะธรรมชาติจะสอนให้เราอยู่รอด
ธรรมชาติทำให้เราเป็นคนช่างสังเกต เช่น แมลงตัวนี้บินมาแล้วทำไมปลูกผักไม่ค่อยขึ้น หรือห้ามปลูกพืชตอนเดือนหงาย เพราะแมลงจะมาเร็ว ทำให้เราต้องรู้รอบด้านกว่าเดิม อย่างตอนฝนตก เราจะชอบมาก เพราะเราไม่มีทางที่จะรดน้ำในพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้ แต่ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราอาจจะบ่นว่า ฝนตกมาทำไม คือเราอาจจะไม่ได้คิดว่า ฝนนั้นมีคุณค่ากับเรามากกว่าที่คิด จนกระทั่งเราได้ใกล้ชิดธรรมชาติจริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างทำให้เรามีการเรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของเรานั้นมีพลังมาก ทำให้เป็นคนที่ไม่ปล่อยปละละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติรอบตัว ทำให้เรารู้จักการพึ่งพาที่แท้จริง เราให้ธรรมชาติเป็นครู เพราะธรรมชาติจะสอนให้เราอยู่รอดให้ได้ สอนให้เรารู้จักพึ่งพาแสงแดด สายลม เม็ดฝน มากกว่าการอยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อ และพอเรารู้จักพึ่งพาเราก็จะนอบน้อมต่อธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราก็ใช้ในการสอนลูกไปด้วยกัน
บ้านไร่ปาล์มปิยา
ความพอเพียง คือ การใช้ชีวิตเท่าที่ร่างกายต้องการ
ความพอเพียง คือ การที่เราสามารถหาจุดที่บอกกับตัวเองว่าพอได้เพราะอะไรและอย่างไร เช่น การที่เราสร้างอาหารได้เอง รู้ว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรและอยู่รอดได้ โดยใช้เงินน้อยที่สุด คือ ใช้เฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ อีกมุม คือ ฝึกการจับจ่ายและการกินให้เท่าที่ชีวิตต้องการ จะได้ไม่ฟุ่มเฟือย หลาย ๆ ครั้งการกินของเรา เช่น เครื่องดื่มและขนมบางอย่างที่เรากินนั้นก็เพื่อความเอร็ดอร่อยหรือความบันเทิง แต่ไม่ใช่เพื่อชีวิต อย่างข้าวแกงเรากินจานนึงก็อิ่มแล้ว ไม่จำเป็นต้องกินลูกชิ้นทอด หรือชากาแฟเพิ่มอีกเลย เราเลยมองว่า ความพอเพียง คือ การใช้ชีวิตเท่าที่เราต้องการ การกินและการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต ไม่ใช่เพื่อความบันเทิง
อย่างช่วงหลังเราได้ไปทำงานเป็นผู้บรรยายในเรื่องการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ปรับเปลี่ยน Mindset ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง กับ โรคเบาหวาน ซึ่งสิ่งที่พูดทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่เราใช้กับตัวเอง คือแต่ก่อนครอบครัวเรามีค่าใช้จ่ายเดือนนึง 3-4 หมื่นบาท แต่ตอนนี้ลดเหลือส่วนของเราเองแค่ 3,000 บาท ในเรื่องการกิน รวมกันทั้งครอบครัวแล้วไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนแบบนี้ได้นั้น เราต้องมีมุมมองที่ถูกต้อง อย่างตอนเราไปพูดให้คนเป็นเบาหวานฟัง คนส่วนใหญ่ก็รู้จักแค่ของที่กินแล้วอร่อยกับไม่อร่อย แต่ไม่ได้คำนึงว่า ของที่อร่อยจะดีต่อสุขภาพไหม ผมก็จะใช้วิธีอธิบายการทำงานของระบบย่อยอาหารในร่างกายให้เขาเข้าใจว่า อย่างเช่นเค้กนั้นเวลาที่เลอะมือ เรายังล้างออกได้แต่ลำบากมากอาจจะต้องถูกสบู่ตั้งหลายรอบ ดังนั้นเค้กที่เรากินเข้าไปในร่างกายแล้ว จะไม่มีการถ่ายของเสียออกมาจากเค้กเลย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีกากใย และเค้กทั้งชิ้นนั้นก็เข้าไปในเส้นเลือดหมดเลย มันก็จะอยู่ในนั้น ลองนึกดูว่าหลอดเลือด หรือเลือดเรานั้นจะสกปรกขนาดไหน นี่ยังแค่เค้กนะ คนเราในแต่ละวันยังกินอย่างอื่นอีกเยอะแยะที่พร้อมจะทำให้หลอดเลือดเราสกปรกแล้วก็ต้องไปรบกวนให้ตับ ไตเราทำงานหนักมากเพื่อที่จะไปขับไปล้างมันออกไป เราก็จะยกตัวอย่างให้เขาเห็นภาพชัดขึ้นว่าอาหารที่กินเข้าไปแล้วมันจะไปไหน สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้คนฟังมองการกินอาหารด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป แล้วใส่ใจมากขึ้น
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการทำเกษตร คือ การห่มดิน
แนวคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เรานำมาใช้คือจะเป็นเรื่องของการเกษตร เช่น การห่มดิน การปลูกพืชหลากหลาย พอเรามาทำจริงในพื้นที่ของเราแล้วต้องบอกเลยว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องห่มดิน นี่สำคัญที่สุด เพราะว่าเราไม่ได้ทำในพื้นที่ที่มีต้นไม้สูงเยอะ ๆ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง เราก็ได้ลองปลูกต้นไม้ แต่ก็จะเจอปัญหาว่าต้นไม้ตาย ไม่มีสารอินทรีย์ในดิน แต่การที่เรามีหญ้าคลุมดินเอาไว้ ปล่อยให้หญ้าโต เมื่อน้ำค้างตกลงมาหญ้าก็จะทำหน้าที่ช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ได้นาน ทำให้เวลาปลูกต้นไม้ก็มีโอกาสรอดมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญมากในการทำเกษตร
บ้านไร่ปาล์มปิยา
Home School แนวทางการเรียนรู้ที่พ่อแม่และลูกเติบโตไปพร้อมกัน
พ่อแม่แต่ละคนที่มีลูกจะมีความคิดว่า เราจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ซึ่งบางคนสิ่งที่ดีที่สุดในความคิดของเขา มันอาจจะไปตรงกับระบบการศึกษาในโรงเรียน แต่อย่างเราจากประสบการณ์ของตัวเองที่เรียนจบวิศวะและจิตวิทยามา สิ่งที่ดีที่สุดในมุมมองของเรา เราคิดว่าโรงเรียนนั้นให้ไม่ได้ เลยมีความคิดที่จะต้องส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกเองโดยตรง
ข้อดีของ Home School คือ การได้ส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาได้ด้วยตัวเอง ข้อเสียอาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องเสียเวลาลงมาทำเอง แต่เราก็ไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสียอะไรขนาดนั้น เพราะเราก็เลือกที่จะมาทำตรงนี้ เรามองว่าเป็นการโตไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกันมากกว่าทั้งเราและลูก ซึ่งในกรุงเทพฯ เอง ตอนนี้มีครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบ Home School ถึง 300 ครอบครัวแล้ว แต่ละกลุ่มเขาก็จะจับกลุ่มกัน กลุ่มไหนบ้านใกล้กันก็จะมารวมตัวกัน พาลูกมารวมกัน จากนั้นพ่อแม่ก็จะแบ่งกันสอนว่า คนนั้นเก่งวิชานี้ คนนี้เก่งวิชานั้น แลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งใน Community นี้จะต้องมีคนต่างชาติด้วย ก็จะเป็นเขาที่ทำหน้าที่สอนภาษาให้กับเด็ก ๆ โดย Community นี้ก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรที่แพง เราไม่ต้องส่งลูกไปเรียนพิเศษที่อื่นแพง ๆ เพียงแต่ว่าเรานำเวลาของเราไปแลกกับสิ่งที่เราอยากจะให้ลูกแทน
เข้าใจเทคโนโลยีและเรียนรู้ธรรมชาติคือสองสิ่งที่ทำควบคู่กันได้
ผมคิดว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีและการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติสามารถสอดประสานควบคู่ไปด้วยกันได้ อย่างในเรื่องของ Farm Automation เราก็คิดจะทำเวิร์กชอปให้กับเด็กในโรงเรียน ว่า มาเรียนรู้ชีวิตที่จะอยู่กับธรรมชาติก็มุมนึงนะ อีกมุมหนึ่งคือ เรื่องเทคโนโลยี เช่น ตอนนี้มีเทคโนโลยีแบบนั้นแบบนี้ มีเซ็นเซอร์ในการวัดฝนนะ ฝนไม่ตกกี่วันแล้ว ถ้าฝนตกก็ตั้งโปรแกรมให้สปริงเกอร์ไม่ต้องฉีดน้ำ ผมจึงมองว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีย่อมช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีถ้าเรารู้จักเรียนรู้ที่จะใช้มันได้อย่างถูกต้อง
สติ คือ สิ่งสำคัญที่คนในยุคดิจิทัลควรมี
โลกดิจิทัลในปัจจุบันนี้ ที่ทุกอย่างหมุนเร็วมาก สิ่งที่คนเราจะสามารถนำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ได้ง่ายเลยนั่นก็คือ การพัฒนาในเรื่องของสติ เพราะกระบวนการความคิดทางพระพุทธศาสนานั้นบอกไว้ว่า ถึงแม้คุณมีปัญญา แต่คุณไม่มีสติ คุณก็ไม่สามารถนำปัญญาที่มีมาใช้ได้ เช่น คุณเรียนรู้มาหมดเลยว่า เค้ก เป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้าคุณไม่มีสติในทำนองที่ว่า รู้สึกเพลิดเพลิน จนเกิดความอยากได้ อยากมี อยากกิน ทำให้ปัญญาที่รู้นั้นถูกดึงมาทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าถ้าอยากจะแนะนำให้คนกลุ่มใหญ่หันมาพัฒนาตัวเอง และเป็นสิ่งที่ไม่ยาก นั่นก็คือการมีสติ เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่เรารู้อยู่แล้ว มาใช้ในชีวิตได้จริง ๆ
เริ่มต้นใช้ชีวิตพอเพียง ด้วยการเริ่มจับจ่ายเท่าที่จำเป็น
หากใครที่อยากเริ่มต้นที่จะอยู่อย่างพอเพียง อยากให้ลองเริ่มที่การจับจ่ายว่า จะจับจ่ายเท่าไรให้เท่ากับที่เราต้องการ อย่างเราเองตอนเริ่มทำไร่ เราทุ่มเงินไปเยอะมาก พอเหลือเงินไม่มาก เราก็คิดว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตอยู่รอด อย่างจะซื้อแก้วน้ำสวย ๆ สักใบ เราก็จะถามตัวเองว่า ถ้าไม่มีจะเป็นอะไรไหมพรุ่งนี้ชีวิตจะสะดุดไหม ถ้าไม่ซื้อแก้วน้ำนี้ แล้วแปรงสีฟัน ยาสีฟันล่ะ ถ้าไม่มีจะลำบากไหม อย่างเรื่องกิน เราก็จะถามว่า ถ้าไม่กิน พรุ่งนี้จะตื่นไหวไหม แล้วเราก็จะเจอว่า มีของที่ต้องกิน กับของที่ถึงไม่ได้กิน ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิต พอคิดได้เช่นนี้ เราก็จะเก็บเงินได้มากขึ้น เรามองว่า โลกมันมีของหลาย ๆ อย่างที่มาหลอกล่อให้เราไม่มีโอกาสที่จะเก็บเงินก้อน พอเงินก้อนไม่มี สิ่งที่เราฝันก็ไม่เคยได้ทำสักที ก็ไม่มีอิสระ ก็ต้องอยู่ในระบบเงินเดือนไปเรื่อย ๆ คนเราจะมีความสุขมากขึ้น ถ้ารู้จักเก็บจนมีเงินก้อนเป็นของตัวเอง แล้วนำเงินก้อนนั้นไปใช้กับสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ
คนส่วนใหญ่นั้นมีความฝันที่อยากจะทำอะไรเยอะแยะไปหมด แต่มักจะบอกว่าไม่มีเงิน ซึ่งความจริงคือเงินที่สะสมไว้เหล่านั้นถูกนำไปจ่ายกับมือถือ แท็บเล็ต นาฬิกา กระเป๋า และอีกหลาย ๆ อย่างรอบตัวที่ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านั้น แต่ชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นทำให้เขาเหล่านั้นห่างไกลกับการใช้ชีวิตพอเพียง และมองว่าเป็นเรื่องยากที่ทำไม่สำเร็จสักที แต่ที่จริงแล้วเพราะการจับจ่ายที่ไม่จำเป็นนั่นเอง
จากการสนทนาไม่ถึงชั่วโมงกับพ่อหมู ก็ทำให้เราเข้าใจถึงการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความพอเพียงมากขึ้น ทั้งยังเข้าใจอีกว่า ธรรมชาตินั้นมีส่วนสำคัญให้เราเติบโตได้อย่างไร ใครที่อ่านจบถึงตรงนี้ อย่าลืมนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กัน เพื่อให้ชีวิตของเราเข้าถึงความสุขที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow