คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินเก็บก้อนโตย่อมสร้างความอุ่นใจที่มากกว่า เพราะเราสามารถดึงเงินเก็บมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ ไม่ว่าจะอยากซื้ออะไร อยากไปเที่ยวไหน ทั้งยังใช้เป็นเงินสำรองในกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย แต่เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หลาย ๆ คนตัดสินใจแบ่งเงินเก็บบางส่วนไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็น
การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน หรือเป็นการลงทุนด้านอื่น ๆ ตามความสนใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเก็บของเราลดลง ก็มักสร้างความรู้สึกกังวลที่เพิ่มขึ้นจริงไหมครับ เช่นนั้น เรามาดูกันว่า เมื่อเงินเก็บของเรามีน้อย แล้วเราควรจะระวังสิ่งใดกันบ้าง
ระวังรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน
ระวังอย่าให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ จนต้องมาเบียดเบียนเงินเก็บ เพราะหากเราแบ่งเงินเก็บออกมาใช้เรื่อย ๆ สุดท้ายเงินเก็บก็จะหมดลง ดังนั้น เราควรที่หมั่นตรวจสอบดูว่า งบประมาณที่จัดสรรไว้ในแต่ละเดือนเพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่ ถ้าไม่จะมีวิธีลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร
ระวังค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ตั้งแต่การซื้อของจุกจิก วันละนิด วันละหน่อย ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ราคาสูง อย่าตามกระแสเวลาเห็นคนนั้นใช้สมาร์ทโฟน คนนั้นใช้แบรนด์เนม คนนี้ไปกินร้านอาหารหรูเปิดใหม่ คนนี้ไปทัวร์ยุโรป รวมทั้งควรระวังค่าใช้จ่ายด้านภาษีสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์ปาร์ตี้ฉลองวาระต่าง ๆ จริงอยู่ครับว่าการมีสังคมเป็นเรื่องจำเป็น แต่เราก็สามารถเลือกตามสมควร ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทุกงาน ทุกครั้ง ทุกวาระก็ได้ครับ
ระวังการก่อหนี้เพิ่ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้
บัตรเครดิตที่ไม่ต้องใช้เงินสด แถมได้ของไปใช้ก่อนแล้วจ่ายทีหลัง ยิ่งปัจจุบันนี้โปรโมชั่นเงินผ่อนถูกนำเสนอในสินค้าแทบทุกชนิด ถึงแม้จะไม่มีดอกเบี้ยในบางโปรโมชั่น แต่การผ่อนชำระก็ยังนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายและเป็นภาระหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มจากค่าใช้จ่ายประจำในอีกหลายเดือนข้างหน้า ดังนั้น อย่าพยายามเพิ่มภาระให้ตัวเองเลยครับ ท่องไว้ว่า อย่าใช้เงินเกินตัวเป็นดีที่สุด
ระวังรายรับ
ตั้งใจทำงาน ทำผลงานให้ดี สร้างความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันสำหรับการสร้างรายได้ในอนาคตอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสอย่าลืมที่จะมองหาช่องทางหารายได้เสริม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยการมีรายได้หลายช่องทาง
ระวังสุขภาพ
ออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเพื่อน ๆ ที่มีบริษัทดูแลออกค่ารักษาพยาบาลให้ก็นับว่าโชคดีไปครับ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการป้องกันความเสี่ยง ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว การมีสุขภาพดียังเป็นหลักประกันว่า เราจะสามารถทำงานสร้างรายได้ไปได้อีกยาว ๆ ครับ
ระวังความเสี่ยงจากการลงทุน
หมั่นตรวจสอบผลการดำเนินงาน ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงแนวโน้มในอนาคตว่ายังเป็นการลงทุนที่ดีอยู่หรือไม่ รู้วิธีจำกัดความเสี่ยงของการลงทุนและควรระวังอย่าให้ความผิดพลาดจากการลงทุนมามีผลต่อเงินเก็บของเรา
สรุปสั้น ๆ ว่า เมื่อเงินเก็บมีน้อย เราควรที่จะระวังใจตัวเองให้มากในการใช้จ่าย ระวังปัจจัยที่จะทำให้รายได้ลดลง และระวังความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการใช้เงินฉุกเฉินนั่นเองครับ
เมื่อรู้ข้อควรระวังดังนี้แล้ว ถึงเงินเก็บของเราจะมีน้อยหน่อยแต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะเราได้วางแผนทุกการใช้จ่าย และป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว แถมหากมีเงินเหลือ เราก็สามารถนำไปเพิ่มในเงินเก็บได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากแผนการลงทุนและแผนการใช้จ่ายที่วางไว้ทำให้รู้สึกเครียดจนเกินไป เราสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนใหม่ได้นะครับ เพราะการลงทุนที่ดีไม่ควรสร้างความเครียดให้กับการใช้ชีวิตประจำวันครับ