เมื่อพูดถึงสินค้าญี่ปุ่นแล้ว หลายท่านคงนึกถึงสินค้าดี มีคุณภาพ ปราณีต หรือไม่ก็สินค้าที่ดีไซน์น่ารัก ๆ แต่หากดูสินค้ายอดฮิตในแต่ละปี หรือสินค้าที่ขายดีนาน ๆ ดิฉันพบว่า สินค้าส่วนใหญ่ล้วนเกิดมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือ “ทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้หรือทานง่ายขึ้น” ทั้ง ๆ ที่กว่าจะได้ไอเดียหรือสินค้านั้นคงจะไม่ง่ายนัก
ลองดูจุดที่นักการตลาดญี่ปุ่นค้นพบว่า ลูกค้ารู้สึกลำบาก หรือเหนื่อยยาก และมุ่งปรับปรุงประสบการณ์การบริโภคสินค้านั้นให้ “ง่าย” ขึ้นนะคะ
1. ทานง่ายขึ้น
คำว่า
“ทานง่าย” ในที่นี้มีหลายความหมายค่ะ อาจหมายถึง รสชาติที่ทานง่าย โดยมาก นักการตลาดญี่ปุ่นมักเลือกหยิบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่คนไม่ค่อยชอบมาพัฒนา เพราะรสชาติของเดิมนั้นทานยาก เช่น น้ำเต้าหู้ที่ผู้บริโภคบางคนไม่ชอบกลิ่นถั่ว ทางแบรนด์ก็ปรับให้เป็นน้ำเต้าหู้ที่ดื่มง่าย ไม่เหม็น หรือน้ำส้มสายชูแบบดื่มทั่วไป ซึ่งมักจะมีรสเปรี้ยวและกลิ่นฉุน
บริษัท Mizkan จึงออกน้ำส้มสายชูสำหรับดื่มรุ่น “Herb Zu” ซึ่งมีรสชาติหวานนำ อร่อย แต่ยังคงคุณสมบัติของน้ำส้มสายชูครบถ้วน (ถ้าให้คนญี่ปุ่นมาเมืองไทย เขาอาจปรับปลาร้าหรือกะปิให้มีกลิ่นหอมตุ่ย ๆ กำลังดี ก็เป็นได้)
นอกจากรสชาติที่ทานง่ายแล้ว คำว่า “ทานง่าย” คือ รูปแบบที่ทานได้ง่าย เช่น
ขนมแบรนด์ Toraya ปรับขนมวุ้นถั่วแดงที่เป็นแท่งยาว ๆ มาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ สามารถแกะทานได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเอาจานรองและหยิบมีดมาหั่น
หรือชีสเค้ก “หนึ่งคำ” ของร้าน
Merveille ในฮอกไกโด ซึ่งออกมาเพื่อตอบโจทย์คนที่อยากทานชีสเค้ก แต่ทานเยอะไม่ได้ เพราะเลี่ยน เขาก็ห่อเป็นคำเล็ก ๆ พอดีคำ ทำให้ทานง่าย และเหมาะกับการซื้อเป็นของฝาก โดยผู้รับสามารถนำไปแบ่งคนอื่นได้ง่ายเช่นกัน (โดยส่วนตัว ดิฉันคิดว่า หากร้านข้าวหลาม ขนมชั้น และหม้อแกง สามารถทำไซส์ห่อละคำได้ จะดีใจเป็นอย่างยิ่ง)
2. ใช้ง่ายขึ้น
สินค้าประเภทนี้ออกมาเพื่อตอบโจทย์สินค้ารูปแบบเก่าที่ผู้ใช้รู้สึกว่า “ใช้ยาก” เหลือเกิน หากสังเกตดี ๆ เราจะพบว่า จริง ๆ แล้ว เราต้องอดทนกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น
เวลาเย็บเอกสาร สาวออฟฟิศหลายคนเผชิญปัญหาต้องออกแรงบีบ Max เย็บกระดาษแต่ละที ๆ
แม็ก Flat Karu Hit จะช่วยให้ออกแรงลดลงไปถึงร้อยละ 50 ทำให้เย็บเอกสารได้ง่ายขึ้น ไม่ปวดมือ
หรือแม่บ้านที่ไม่อยากมือเลอะเวลาตักผงซักฟอกซักผ้า หรือกะปริมาณผงซักฟอกไม่ถูกว่าใส่กี่ช้อนดี บริษัท
P&G ก็ส่งผงซักฟอกที่มีลักษณะคล้ายเยลลี่ปีโป้ ชื่อ
Ariel Gel Ball เพียงแค่โยนลูกเยลลี่นี้ 1 ลูกลงไปในเครื่องซักผ้า ทุกอย่างก็เรียบร้อย! (แถมซักสะอาดกว่าผงซักฟอกแบบผงด้วย)
ส่วนเมื่อปีที่แล้ว กรรไกรรุ่น
Twiggy สามารถขายได้กว่า 10 ล้านเล่มทั่วญี่ปุ่น กลายเป็นปรากฏการณ์กรรไกรมหัศจรรย์ คุณสมบัติพิเศษของเจ้ากรรไกรเล่มนี้ คือ เบากะทัดรัด ขนาดเท่าปากกาลูกลื่นทั่วไป เวลาไปไหนแล้วเกิดด้ายที่เสื้อหลุดออกมา หรืออยากตัดห่อขนมอะไร ก็สามารถคว้าเจ้า Twiggy ออกมาจากกระเป๋าหรือถุงดินสอมาตัดได้อย่างทันใจ ตอบโจทย์ลูกค้าที่มองหากรรไกรในยามฉุกเฉินอยู่บ่อย ๆ
3. ช่วยเหลือตัวเองได้ง่ายขึ้น
ทำอย่างไรให้ผู้ใช้สามารถใช้สินค้าได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ หรือพึ่งพาคนรอบข้าง
ดีไซเนอร์เสื้อผ้าของ
MUJI พบปัญหาว่า เด็ก ๆ ที่ถูกคุณแม่ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองมักมีปัญหาติดกระดุมผิด กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ติดไปจนจะเม็ดสุดท้ายอยู่แล้ว คุณแม่เองก็ต้องเสียเวลาติดให้ใหม่ หรือเด็ก ๆ รู้สึกแย่และหงุดหงิดที่ตัวเองติดกระดุมผิด MUJI จึงออกเสื้อผ้าเด็กเล็กรุ่นหนึ่งเป็นเสื้อสีพื้น ๆ แต่มีกระดุมหลายสีอยู่บนชุดเดียวกัน สีกระดุมกับสีด้ายที่เย็บรังดุม จะเป็นสีเดียวกัน เด็ก ๆ จึงรู้ว่า กระดุมเม็ดสีดำต้องกลัดตรงรังดุมสีดำ ส่วนกระดุมเม็ดสีขาวต้องกลัดกับช่องสีขาว ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุกกับการแต่งตัวด้วยตัวเอง
นอกจากเด็กญี่ปุ่นที่ต้องช่วยเหลือตัวเองแล้ว ผู้สูงอายุญี่ปุ่นก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุไม่อยากทำตัวเป็นภาระลูกหลาน และลูก ๆ ก็ทำงานไม่มีเวลาดูแลตัวเองเต็มที่ (ส่วนค่าแรงในญี่ปุ่นแพงมาก คนส่วนมากจึงไม่สามารถจ้างคนรับใช้ได้) สินค้าหลายแบรนด์ที่มุ่งเจาะกลุ่มตลาดผู้สูงอายุจึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ฉีกเปิดง่าย และมีตัวอักษรขนาดใหญ่ มีการใช้ภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจง่าย ผู้สูงอายุจึงสามารถเลือกซื้อและบริโภคเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนรอบตัว อย่างกรณีของอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อ
kewpie
ตัวอักษรที่เป็นชื่อสินค้าตรงกลางตัวใหญ่มาก มีการใช้ภาพและสีประกอบเพื่ออธิบาย
(Cr.
Kewpie)
ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยสอนดิฉันว่า
“เวลาออกแบบหรือคิดไอเดียอะไร อย่าคิดที่ตัวสินค้า แต่ให้มองไปที่ประสบการณ์
ประสบการณ์เดิมของลูกค้าเป็นอย่างไร และเราจะช่วยเหลือให้เกิดประสบการณ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร”
จากสามไอเดีย “ง่าย ๆ” ข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากนักการตลาดโฟกัสที่ตัวสินค้า เช่น ผงซักฟอก หรือเสื้อผ้าเด็ก บริษัทอาจได้แค่ผงซักฟอกกลิ่นใหม่ หรือเสื้อผ้าเด็กแบบใหม่ แต่หากมุ่งออกแบบและปรับปรุง “ประสบการณ์” พวกเราจะมองเห็นปัญหาหรือความลำบากของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หงุดหงิดเวลาติดกระดุมเสื้อผิดของเด็กน้อย หรือเหตุการณ์ที่แม่บ้านเดินไปล้างมือทุกครั้งหลังตักผงซักฟอกซักผ้า
หมั่นสังเกต และเปลี่ยน “เหตุการณ์” ในชีวิตลูกค้า ให้กลายเป็น “ประสบการณ์ใหม่” ที่ดีเยี่ยมกันนะคะ