รู้ไหมว่าตอนนี้พวกเรากำลังอยู่ท่ามกลางยุคที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ World Population Data Sheet ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9.9 พันล้านคน ซึ่งทำให้เราต้องผลิตอาหารมากขึ้น ในขณะเดียวกันโลกเรากลับผลิตอาหารได้ลดลง เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แถมยังมีเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผลิตอาหารได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ โลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ อากาศที่แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมถึงธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ทางออกของโลกใบนี้นั้นจึงเป็นเรื่องการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรที่จะช่วยให้เราสามารถผลิตอาหารให้คนบนโลกได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน ดังนั้น น้องเพลินเพลินจึงอยากพาทุกคนมารู้จักนวัตกรรมทางการเกษตรในยุคนี้ว่ามีอะไรบ้าง
นวัตกรรมการเกษตรคืออะไร?
นวัตกรรมการเกษตรหรือระบบ
เกษตรอัจฉริยะคือการนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการทำเกษตรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราสามารถผลิตอาหารได้มากยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้โลกของเราน่าอยู่อีกด้วย มาดูตัวอย่าง 7 นวัตกรรมการเกษตรที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การใช้โดรนเพื่อทำการเกษตร
การใช้โดรนเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการเกษตรที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดรนสามารถทำงานด้วยการบินได้ครอบคลุมในพื้นที่ที่กำหนด ทำงานได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุนมากกว่าการจ้างแรงงาน เราสามารถบังคับและควบคุมโดรนให้ทำงานตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ การพ่นสารเคมี การฉีดยาปราบศัตรูพืช การให้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมในพื้นที่ที่เราต้องการ นอกจากนี้การใช้โดรนนั้นยังช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากสารเคมีที่เป็นอันตราย สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของพืชและตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ ให้เราสามารถจัดการได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกด้วย หลายประเทศได้นำนวัตกรรมการเกษตรนี้มาใช้ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
2. การใช้ AI เพื่อตรวจสอบคุณภาพผลผลิต
แน่นอนว่าเมื่อเกษตรกรปลูกพืชผักจนออกดอกออกผลแล้ว ก่อนจะนำไปขายเขาก็ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ สมัยก่อนเราก็จะจ้างแรงงานมาตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือง่าย ๆ ในการชั่ง ตวง วัด และดูจากภายนอกว่าผลผลิตที่ได้มีความสมบูรณ์ แต่จริง ๆ แล้วการใช้สายตาของคนดูก็ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานได้ทั้งหมด แต่ในปัจจุบันเรามีนวัตกรรมการเกษตรอย่าง AI ในการตรวจสอบได้แล้ว โดยการให้ AI ไปเรียนรู้ด้วย Deep Learning จากภาพถ่ายต่าง ๆ AI ก็จะเรียนรู้และประมวลผลได้ว่า ผลผลิตแบบไหนดีแบบไหนมีปัญหา และปัญหาเกิดจากอะไร AI ก็จะบอกเราได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดเวลาของเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก
3. การใช้นวัตกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ
เศรษฐกิจชีวภาพ คือ การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เช่น ซากพืช ซากสัตว์ จุลินทรีย์ มาใช้ในการผลิตพลังงาน ถือว่าเป็นนวัตกรรมการเกษตรอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การนำพืชและของเสียจากสัตว์มาสร้างพลังงานชีวมวล การผลิตพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ และการสร้างวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ได้มาจากธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ประเทศไทยก็มีการนำกากที่ได้จากพืชมาทำพลังงานชีวมวล อย่างเช่น โรงงานผลิตน้ำตาลก็จะเอาชานอ้อยที่ได้ในกระบวนการผลิต ไปส่งต่อให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างพลังงานอีกที กลายเป็นโรงงานที่ได้ผลประโยชน์จากการเกษตรตั้งแต่พลังงานจนถึงน้ำตาล
4. การทำเกษตรแนวตั้ง
ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เราจะต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ในการปลูกผลผลิต แต่ในปัจจุบันเรามีนวัตกรรมการเกษตรที่สามารถทำการเกษตรในแนวตั้งได้ คล้าย ๆ การจับพืชผักมาปลูกเป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตบนพื้นที่ที่จำกัดได้ นวัตกรรม
การเกษตรแบบอัจฉริยะนี้จะมีการควบคุมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้พืชผักเติบโตได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสงประดิษฐ์ การให้สารอาหารและให้น้ำที่ควบคุมอย่างเป็นระบบ แนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารกับโลกได้อีกด้วย เพราะสามารถปลูกพืชผักได้ตลอดปี อย่างในประเทศอิสราเอล มีการใช้นวัตกรรมการเกษตรนี้ โดยมีการใช้ฟาร์มแนวตั้งปลูกใกล้กับซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและร้านค้าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ผักกาด โหระพา คะน้า สะระแหน่ สามารถซื้อกลับไปทานหรือซื้อไปพร้อมกับดินรองพื้นเพื่อปลูกต่อก็ได้
5. เทคโนโลยีการขนส่งสินค้าเกษตร
การขนส่งสินค้าเกษตรเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการตั้งแต่ในอดีต เนื่องจากสินค้าสามารถเน่าเสียได้โดยง่าย บางทียังส่งไปไม่ถึงที่หมายของอาจจะหมดอายุเสียก่อน เราจึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อยืดอายุของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่ช่วยเก็บสินค้าได้ยาวนานขึ้น ไม่เสียง่าย รวมไปถึงการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาคุณภาพของผลผลิตได้เป็นอย่างดี
6. แอปพลิเคชันเกษตรกรดิจิทัล
นวัตกรรมการเกษตรนี้เป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงเมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงมือถือสมาร์ทโฟนได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สามารถส่งคำสั่งและควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในฟาร์มด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ยกตัวอย่างเช่น การใช้โทรศัพท์มือถือเปิดปิดน้ำหรือตั้งเวลาให้มีการเปิดน้ำ การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเติบโตของพืชผักได้ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ช่วยทำให้เกษตรกรสามารถจัดการงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถทำงานทางไกลได้ และประหยัดเงินและแรงงานอีกด้วย อย่างในประเทศจีน เนื่องจากการพัฒนาที่ทำให้ประชากรเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ทำให้เกษตรกรก็ปรับตัวให้กลายเป็นการเกษตรกรแบบดิจิทัลได้มากขึ้นเช่นกัน
7. แพล็ตฟอร์มสำหรับธุรกิจทางการเกษตร
ในปัจจุบันการให้บริการธุรกิจทางการเกษตรก็มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรต้องการขายสินค้าก็สามารถหาผู้ซื้อได้ง่าย ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์หรือแอปพลิเคชัน ทำให้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป ทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการดำเนินกิจการที่สูง ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น และสามารถส่งสินค้าสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย อย่างไรปัจจุบันก็มี Startup ไทยอย่าง “ส่งสด” ที่มีระบบบริการจัดการขายสินค้าทางการเกษตรสู่ผู้บริโภคและธุรกิจได้ง่าย ๆ อีกด้วย
Tips by น้องเพลินเพลิน
ในปัจจุบันนวัตกรรมการเกษตรเข้ามามีบทบาทต่อพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานั้นสามารถช่วยทำให้เราลดต้นทุนทางด้านแรงงานได้เยอะมาก แถมยังสามารถช่วยให้เราทำการเกษตรได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและได้ผลผลิตมากขึ้น ดังนั้นเมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไปเราก็ต้องเปลี่ยนตาม อย่าลืมศึกษาเพิ่มเติมว่าเทคโนโลยีไหนจะช่วยเพิ่มศักยภาพในธุรกิจของเราได้ และลองดูว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างไร ค่อย ๆ ปรับทีละนิดโดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวง่าย ๆ ก่อน เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือว่ามีแอปพลิเคชันอะไรที่ช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น และทยอยปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่เราได้ประโยชน์ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า นวัตกรรมการเกษตรที่กล่าวมานั้นสามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตอาหารให้กับโลกใบนี้ได้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาความขาดแคลนอาหารในอนาคต และเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นอีกด้วย