4 ทางแก้ถ้าไม่อยากทำงานจนไฟมอด

4 ทางแก้ถ้าไม่อยากทำงานจนไฟมอด

By Krungsri Academy

คนที่ก้มหน้าก้มตาทำงานที่ไม่ได้ชอบมากมายนัก โดยมีเจ้าอารมณ์เบื่อหน่ายบวกเข้ากับระยะเวลาที่ทำงานมายาวนาน ถึงแม้จะมีตำแหน่งและเงินเดือนที่น่าพอใจแล้ว แต่กลายเป็นคนที่ทำงานไปวัน ๆ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนหรือขยับขยายอะไร มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนที่เป็นเหมือนกัน แถมบางคนยังมีแนวคิดแง่ลบมาคอยกรอกใส่หัวอยู่ทุกวัน แบบนี้จะยิ่งทำให้เบื่อหน่าย รู้สึกเหนื่อยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำงานหนักมาก ไฟมอดลงทุกวันโดยไม่รู้ตัว อายุอานามก็ยากที่จะหางาน ไม่อยากเริ่มต้นใหม่แล้ว อาการเหล่านี้มีแต่จะพาลให้คุณทำงานแย่ลง สร้างความเครียดทับถม จนเกิดปัญหาต่าง ๆ นานาตามมาอีก

ถึงแม้งานที่ทำจะไม่ได้เป็นงานในฝัน แต่เราสามารถเพิ่มเชื้อไฟให้การทำงานเป็นงานที่สนุกขึ้นได้โดย 4 วิธีนี้

1. สร้างทัศนคติเชิงบวก

เป็นเรื่องปกติที่การทำอะไรสักอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ มานานหลายปี ก็ย่อมทำให้เกิดความเบื่อได้เป็นธรรมดา ถ้าเรากะเกณฑ์ว่าเรื่องงานจะต้องเบื่อแน่นอน ทำ ๆ ไปมันไม่ได้มีอะไรดีขึ้นหรอก การคิดแบบนี้ก็รังแต่จะทำให้ความสุขในการทำงานลดลง ลองมองมุมใหม่ให้กว้างและใสขึ้น ด้วยการมองบวก เช่น มองดูคนที่มีโอกาสน้อยกว่า ลำบากกว่า แต่เขาต้องจำใจทำงานพวกนั้น หรือมองหาข้อดีของงาน เช่น เงินเดือนสูง สวัสดิการดี มีโอกาสดีมากมาย ได้เจอเพื่อนดี ๆ ได้ทำงานใกล้บ้าน เดินทางสะดวก หรือแม้แต่ใกล้ร้านทำเล็บที่ชอบ ฯลฯ โอ๊ย ข้อดีเยอะจะตายไป บางครั้งการมีเพื่อนดี ๆ ที่ทำงาน ก็เหมือนสมัยที่เราไปเรียนหนังสือนั่นแหละค่ะ วันไปทำงานก็เหมือนได้ไปเจอไปเมาส์กับเพื่อน

2. วางเป้าหมายชีวิต

แบบ 1-5-7+++ ปี การทำงานโดยไม่รู้ว่าวัน ๆ ทำไปเพื่ออะไร นี่ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากลุกจากเตียงเลยทีเดียว หากคุณตั้งเป้าหมายชีวิตในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ คุณก็จะรู้ว่า เช้านี้ที่จะลุกจากเตียงนั้น คุณทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร หรือทำไปทำไม เช่น การตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 1 ปีนี้ จะทำงานเก็บเงินไปเที่ยวมัลดีฟกับแฟน เป็นการทำงานเพื่อแสวงผลกำไรทางใจ ภายใน 5 ปี จะได้ไป 3 ประเทศ หรือเรียนภาษาจีน พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเป้าหมายใหญ่ภายใน 7–10 ปี ที่จะเลื่อนตำแหน่งจากสาย Specialist ไปสู่สายงาน Management ที่ต้องพัฒนาและพิสูจน์ตัวเอง ซื้อบ้านหลังใหม่ รถใหม่ เป็นต้น เป้าหมายที่ชัดเจนทำให้มีแรงสู้กับงานที่จำเจ ได้หางานยาก ๆ มาทำ

3. เติมความรู้ ด้วยงานอดิเรก

ทำงานที่ใช้สกิลเดิมทุกวัน ถึงแม้มีส่วนช่วยให้เก่งในวิชาความรู้ที่จบมาได้ (ถ้าสายงานตรงกับที่จบมานะคะ) แต่การที่ใช้แต่สกิลเดิม ๆ ไม่ได้เพิ่มเติมความรู้ใหม่ ๆ นั่นล่ะที่จะทำให้รู้แล้วตัน ลองมองหางานอดิเรกใหม่มาทำ เช่น เรียนภาษาที่ 3 หรือ 4 ลงเรียนคอร์สบริหาร บัญชี เล่นหุ้น Workshop งานฝีมือต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะใหม่แล้ว ยังอาจเป็นโอกาสที่คุณจะได้หารายได้เสริมจากงานอดิเรกก็เป็นได้

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ แล้วไม่ลืมที่จะให้รางวัลตัวเอง

ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่แข็งแกร่ง แค่นี้ก็ทำให้การทำงานในทุกวันไม่เหนื่อยล้าอย่างที่เคยเป็น สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ออฟฟิศกว่า 80% ลืมที่จะทำก็คือ “ดูแลร่างกายและจิตใจ” ของตนเอง วัน ๆ ทำแต่งานที่เอาแต่จ้องนาฬิกา เล่นเน็ตทั้งวัน รอเวลาเลิกงาน แล้วต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในการกลับบ้าน ไหนจะพักผ่อนไม่พอ ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายอีก ร่างกายและจิตใจพังขนาดนี้ จะไปมีกระจิตกระใจทำงานได้อย่างไร ลองถอยหลังออกมาหนึ่งก้าว มองตัวเองว่า เมื่อ 1-3 ปีก่อนสุขภาพกายสุขภาพใจเป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะกลับไปดีเหมือนก่อนได้ไหม อาจจะเริ่มจากการดูแลตัวเองทั้งอาหาร การออกกำลังกาย และที่สำคัญ ทำงานได้เงินเยอะแยะก็ไม่ลืมที่จะให้รางวัลตัวเอง เช่น การไปเที่ยวเติมพลัง ซื้อกระเป๋าใบใหม่ที่เล็งไว้แต่ไม่กล้าซื้อสักที หรือแม้แต่การไปวิ่งมาราธอนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ฯลฯ
งานประจำที่ทำอยู่มานาน มันเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะเบื่อ จะเอียน แต่คุณไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นเจ้าของธุรกิจ ก็จำเป็นต้องทำงานประจำต่อไปให้ดีที่สุด ถ้าไม่อยากเบื่องาน ลองนำเทคนิคง่าย ๆ 4 ข้อนี้ไปทำดู บอกเลยว่า ถ้าได้ลองแล้ว รับรองว่า มีเชื้อไฟในการทำงานเพิ่มขึ้นมาอีกเกือบเต็มร้อยเลยล่ะค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow