ยังจำกันได้ไหมครับ?
บรรยากาศแบบนี้ในออฟฟิศเกิดขึ้นล่าสุดตอนไหน…
ตอนที่เดินสวนแล้วยิ้มทักทาย และถามสารทุกข์สุกดิบกัน
ตอนพักเที่ยงที่ช่วยกันคิดว่าเมนูว่ามื้อนี้จะกินอะไรดี หรือตอนมีปัญหากับงานแล้วไปปรึกษาเพื่อนที่โต๊ะตรงข้าม
เพราะนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และการทำงานของเราแทบทุกมิติ ผมเชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ องค์กรได้ปรับนโยบายใหม่ โดยนำ
การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) ที่ตอนนี้ทุกคนคงรู้จัก และคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับสังคม และไลฟ์สไตล์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว และไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง หรือฝ่ารถติดหลายชั่วโมงอีกด้วย
ถึงแม้ว่าการทำงานที่ไหนก็ได้จะเป็นเรื่องดี แต่กลับมีประเด็นที่น่าเป็นกังวลไม่น้อยเหมือนกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการขาดอุปกรณ์การทำงาน ภาระงานที่เพิ่มขึ้น การขาดเวลาส่วนตัว ไม่มี
Work-Life Balance ซึ่งทำให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง จนนำไปสู่
อาการ Burnout ในที่สุด และแย่ยิ่งไปกว่านั้นอาจ
เกิดกระแส “The Great Resignation” ที่หลาย ๆ องค์กรกำลังประสบปัญหาอยู่
นอกจากนี้ การติดต่อสื่อสารที่ยาก และไม่สะดวกเหมือนเดิม ทำให้พนักงานค่อย ๆ ห่างเหิน ไม่ได้สนิท และใกล้ชิดกันเหมือนเดิม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจนำไปสู่ “The Great Disconnection” ได้ด้วยเช่นกันครับ
โดย BetterUp สตาร์ตอัปด้านสุขภาพจิตได้ระบุว่าบริษัทที่ทำให้พนักงานรู้สึกถึง “Sense of Belonging” ว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ได้โดดเดี่ยว และเป็นส่วนสำคัญขององค์กรนั้นมักจะมีภาพรวมของการทำงาน (Job Performance) ที่มีประสิทธิภาพสูง และมีแนวโน้มการลาออกน้อยกว่า เมื่อเทียบกับพนักงานที่บริษัทไม่สนับสนุน และไม่ใส่ใจปัญหาต่าง ๆ ทำให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีคุณค่า ไร้เป้าหมาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีความเสี่ยงสูงที่จะลาออกอย่างสมัครใจ (Voluntary Turnover)
“เพราะพนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร”
ไม่ใช่แค่เงินเดือน ความมั่นคง และความก้าวหน้าเท่านั้นที่สำคัญกับพนักงาน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในชีวิตการทำงานคือ “ความสบายใจ” หากปล่อยให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยว หันไปไหนไม่เจอใคร หรือทำงานไปแบบไร้เป้าหมายต่อไป อาจทำให้เสียบุคลากรดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย และส่งผลกระทบต่อองค์กรได้ในระยะยาว
วันนี้ผมจึงรวบรวม 4 เคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยให้พนักงานกลับมาใกล้ชิด และสนิทกันมากขึ้น มาดูกันครับว่ามีวิธีไหนที่น่าสนใจ และสามารถนำไปปรับใช้ให้กับคนในองค์กรได้บ้าง
1. สนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม
การทำงานรูปแบบใหม่ทำให้พนักงานต้องติดต่อกันผ่าน Zoom หรือส่งข้อความหากันแทนการพูดต่อหน้ากัน แม้ว่าจะเรื่องปกติสำหรับสังคมในยุคนี้ แต่หากมองในมุมของการทำงานจะพบว่าค่อนข้างเป็นปัญหาต่อการติดต่อ หรือประสานงานอย่างมาก นอกจากนี้ บางคนก็ไม่สะดวกในการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เกิดความห่างเหินขึ้นไปเรื่อย ๆ
โดย Shasta Nelson ผู้เขียนหนังสือ “The Business of Friendship” ได้อธิบายว่ามิตรภาพที่ดีนั้นจะต้องเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกัน ซึ่งก็คือ ความสบายใจ ความปลอดภัย และการมีตัวตน ดังนั้น เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรให้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง ลองเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเล็ก ๆ ในเช้าวันจันทร์ หรือเย็นวันศุกร์ โดยให้พนักงานได้ออกมาแชร์เรื่องราวที่ประทับใจ หรือเล่าถึงปัญหาที่พบ
2. ช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงใจ
เมื่อต้องทำงานกันคนละที่ย่อมทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาทั้งการสื่อสารประสานงาน ตลอดจนความพร้อมของเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงาน ซึ่ง Heidi Grant นักจิตวิทยาสังคม ระบุว่า 75-90% ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนร่วมงานมักเริ่มต้นด้วยการถาม ซึ่งโควิด-19 ทำให้ต้องติดต่อ หรือประชุมกันผ่าน Zoom เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยากที่จะขอความช่วยเหลือ หรือช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว และทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีคนคอยรับฟัง และสนับสนุนอยู่เสมอ อาจลองพิจารณาสร้างกลุ่มสำหรับการช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาโดยเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสามารถติดต่อได้โดยตรง ไม่ว่าช่วงทำงาน หรือระหว่างการประชุมผ่าน Zoom
3. สร้าง Onboarding Experience ที่ดี
องค์กรควรให้ความสำคัญ และใส่ใจกับ “
กระบวนการต้อนรับพนักงาน (Onboarding)” ไม่ว่าสถานการณ์จะปกติ หรือวิกฤตก็ตาม เพราะ Onboarding เป็นเสมือนด่านแรกที่ช่วย “ซื้อใจ” ในการเริ่มต้นทำงานให้กับพนักงานใหม่รู้สึกประทับใจ และมีความสุขที่ได้ทำงานในองค์กรนี้ เพราะได้รับประสบการณ์ดี ๆ ตั้งแต่ช่วงแรก รับรู้ถึงความเป็นส่วนหนึ่งในทีม มีคุณค่า มีเป้าหมาย และไม่ได้โดดเดี่ยว
เนื่องจากทุก ๆ ปีจะมีเด็กจบใหม่จำนวนมากที่เริ่มงานใหม่ซึ่งในช่วงหลัง ๆ มานี้ทั้งข้อจำกัด และสถานการณ์บังคับ ทำให้ทุกกระบวนการตั้งแต่การสมัครงานสัมภาษณ์ ไปจนตอนทำงานต้องทำผ่านช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ หาก Onboarding Experience ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมาได้
4. สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน
ที่ผ่านมาทุกคนต่างเผชิญกับความท้าทาย และช่วงเวลาที่ยากลำบากพอ ๆ กัน และยิ่งสถานการณ์ที่ทำให้คนในองค์กรต้องห่างกัน สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมี ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม ก็คือ “
Empathy” โดยอาจเริ่มต้นจากหัวหน้าที่แสดงความเห็นอกเห็นใจกับลูกน้อง ผ่านการถามไถ่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ และเอาใจใส่
“ผู้นำที่ดีคือผู้ฟังที่ดี”
ผมเชื่อว่าเมื่อคนในองค์กรเห็นว่า “ผู้นำ” แสดงความใส่ใจ และเห็นอกเห็นใจต่อพนักงานองค์กร ก็จะทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นทุกคนในองค์กรมีความเห็นอกเห็นใจ และใส่ใจซึ่งกันและกัน
เมื่อเรารู้สาเหตุของปัญหาก็ควรรีบศึกษา ปรับตัว และหาแนวทางแก้ไข เพื่อวางแผนรับมือ และกำหนดกลยุทธ์ในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับปัญหาความห่างเหินของคนในองค์กร หากแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมดีกว่าปล่อยให้ปัญหาบานปลายต่อไป เพราะพนักงานคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร เหมือนกับ
“ภาวะผู้นำ” หรือ “Leadership” ที่เป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนต้องมี เพื่อการแก้ปัญหา และขับเคลื่อนองค์กรให้ไปต่อได้