ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันนั้นมิจฉาชีพมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่เรามักพบเจอกันอยู่บ่อย ๆ และตอนนี้อีกหนึ่งรูปแบบที่เหล่ามิจฉาชีพชอบใช้ก็คือ การทำ
เพจ Facebook ปลอมโดยอ้างตัวเป็นคนดังสายลงทุน หรือนักธุรกิจต่าง ๆ ที่ชักชวนให้คนติดตามและร่วมลงทุนโดยอ้างว่าใช้แค่เงินทุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากมาย จนทำให้มีคนตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินกันเป็นจำนวนมาก
เพื่อไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพอีกต่อไป ในวันนี้เราเลยอยากมาบอกเล่ากลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่ชอบสวมรอยเป็นคนดังมาชวนเราให้ลงทุน พร้อมวิธีการรับมือและป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
1. นำภาพคนดัง นักธุรกิจระดับประเทศมาชวนลงทุน
สำหรับข้อนี้เรามักเจอกันบ่อยที่สุดในช่วงนี้ เมื่อเวลาเราใช้โซเชียลมีเดียก็มักจะเห็นโพสต์คนดังชวนลงทุนอยู่บ่อย ๆ โดยโพสต์แบบนี้มักถูกสร้างขึ้นโดยเพจ Facebook ปลอม และจะใช้วิธีการนำเสนอผ่านรูปภาพให้เห็นผลตอบแทนที่สูงมาก พร้อมมีภาพคู่นักธุรกิจ หรือคนดังประกอบเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วจะให้เหยื่อคลิกลิงก์หากสนใจ
หากเราเผลอคลิกลิงก์ที่มิจฉาชีพส่งให้อาจตกเป็นเหยื่อก็เป็นได้
จุดสังเกตมิจฉาชีพ
หากเจอโพสต์ประเภทนี้ ให้สังเกตดูตัวอักษรของชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ ส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักทำเพจปลอมโดยใช้การสะกดชื่อคล้ายของจริง และข้อสังเกตต่อมาคือ เพจลงทุนที่เป็นของจริงจะไม่การันตีเรื่องของผลตอบแทน และจะไม่นำภาพคนดัง หรือนักธุรกิจเข้ามาโปรโมต หากเจอโพสต์ในลักษณะนี้ให้ฟันธงได้เลยว่าเรากำลังเจอมิจฉาชีพเข้าให้แล้ว
พลาดไปลงทุนกับโพสต์คนดัง (ปลอม) ต้องจัดการแบบนี้
รวบรวมแช็ตที่พูดคุยกับมิจฉาชีพ รวมถึงสลิปโอนเงิน แล้วนำไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือหากไม่สะดวกไปด้วยตัวเองสามารถแจ้งความออนไลน์ผ่าน
https://www.thaipoliceonline.go.th/ ก็ได้เช่นเดียวกัน
2. โทรศัพท์แอบอ้างรู้จักคนดัง นักธุรกิจ ชักชวนทำธุรกิจ
อีกหนึ่งสถานการณ์ของการ
โดนคนดังหลอกให้ลงทุนนั้นก็อาจจะมาในรูปแบบของการโทรศัพท์เข้าหาเรา โดยปลายสายจะใช้วิธีการแอบอ้างว่าเป็นเลขา หรือตัวแทนบริษัทยักษ์ใหญ่มาชักชวนให้เราลงทุนเพื่อรับผลกำไรที่มากมาย ซึ่งหากใครที่หลงเชื่อไปแล้วปลายสายจะพาไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือ เพิ่มเพื่อนในแอปฯ แชต อย่างเช่นแอปฯ LINE หรือ Telegram เมื่อเข้าสู่แชตสนทนาอีกฝ่ายจะส่งข้อความ รวมถึงรูปภาพที่จะชักชวนให้เรานำเงินมาร่วมทำธุรกิจ และอาจกล่าวถึงผลตอบแทน
หากว่าเราลังเลจะมีการส่งภาพถ่ายคู่คนดัง หรือบรรดาเจ้าสัว นักธุรกิจคนดังขึ้นมาอ้างว่าธุรกิจดังกล่าวก็มีบุคคลที่มิจฉาชีพนำมาแอบอ้างร่วมลงทุน ทำให้เหยื่อตายใจแล้วนำเงินมาลงทุน สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปมิจฉาชีพพวกนี้ก็จะบล็อกการสนทนาของเรา แล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
จุดสังเกตมิจฉาชีพ
สำหรับมิจฉาชีพแบบนี้จุดสังเกตส่วนใหญ่จะอยู่ที่
การเข้าหาเราโดยใช้เบอร์แปลก หรือมิจฉาชีพบางรายอาจใช้เบอร์โทรในกลุ่มเลขสวย เบอร์มงคลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และมักจะอ้างชื่อนักธุรกิจ หรือคนดังในระดับประเทศเพื่อให้เหยื่อคล้อยตามได้ง่าย หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะมีการพูดถึงชื่อธุรกิจที่มีชื่อคล้าย ๆ กับธุรกิจจริงที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพูดถึงผลตอบแทนจำนวนมาก แต่ต้องให้เรารีบโอนเงินไปลงทุนโดยเร็ว โดยอ้างว่าหากหมดโควต้าลงทุนจะเสียโอกาสทำกำไร
เผลอลงทุนไปกับมิจฉาชีพที่โทรมาแอบอ้าง ต้องจัดการแบบนี้
- ให้ทำการเก็บสลิปการโอน รวมถึงหลักฐานคลิปเสียง หรือข้อความการสนทนาระหว่างเรากับมิจฉาชีพเอาไว้เป็นหลักฐาน
- นำหลักฐานที่มีทั้งหมดนำไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือหากไม่สะดวกไปด้วยตัวเองสามารถแจ้งความออนไลน์ผ่าน https://www.thaipoliceonline.go.th/ หรือโทร. 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- นำหลักฐานที่มีพร้อมใบบันทึกประจำวัน นำส่งเรื่องร้องเรียนได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสามารถส่งอีเมลไปที่ complaint@tcc.or.th หรือโทร. 02-239-1839 กด 1 หรือหากไปยื่นเอกสารด้วยตัวเองก็จะดีที่สุด
3. แอบอ้างบริษัท บัญชีธุรกิจเข้ามาแช็ตชวนลงทุน
สำหรับรูปแบบนี้ก็มักเจอกันบ่อย ๆ ในแอปฯ LINE ที่เหยื่อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ เพราะมิจฉาชีพจะใช้วิธีการปลอมตัวเป็นบัญชีธุรกิจแบรนด์สินค้าใหญ่ ๆ เข้ามาพูดคุย หรือส่งข้อความให้เหยื่อหลงเชื่อ โดยจะใช้การพูดคุยให้เหยื่อเข้ามาร่วมลงทุนผ่านสินทรัพย์แบบต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น
รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่มักจะอ้างทิ้งท้ายว่า ไม่ต้องกลัวหลอกลวง เพราะบัญชีนี้เป็นของจริง มีคนตามมากมาย หากว่าเหยื่อหลงเชื่อเมื่อไหร่ ก็จะส่งลิงก์เว็บให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน อ้างว่าใช้เพื่อเปิดบัญชีลงทุนครั้งแรก หากเจอแบบนี้รับรองได้เลย เรามีโอกาสตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินแน่ ๆ
จุดสังเกตมิจฉาชีพ
หากเจอมิจฉาชีพเข้ามารูปแบบนี้ให้สังเกตง่าย ๆ เลยคือ บริษัท หรือบัญชีธุรกิจจริง ๆ จะไม่เป็นคนเข้ามาพูดคุยกับเราก่อน และจะไม่มีการส่งลิงก์ให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ทั้งสิ้น และอีกจุดคือชื่อบัญชีของพวกมิจฉาชีพ จะไม่มีสัญลักษณ์โล่สีเขียว ที่เป็นเครื่องหมายแสดงตัวตนเพื่อแสดงถึงการเป็นบัญชีทางการ หรือบัญชีที่ได้รับการรับรองจาก LINE ประเทศไทยที่สามารถเชื่อถือได้ หากใครเจอมิจฉาชีพเข้ามาพูดคุยแบบนี้ ให้รีบบล็อกแชตทันที ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อโดยไม่ทันตั้งตัว
พลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจากแช็ตชวนลงทุน ต้องจัดการแบบนี้
- รวบรวมหลักฐานทั้งหมดไม่ว่าแช็ตการสนทนาทั้งหมด สลิปใบโอนเงิน หลักฐานทุกอย่างที่เราหาได้ไปแจ้งความได้เลยที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ
- เมื่อเสร็จแล้วนำใบแจ้งความไปดำเนินเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI หรือโทรสายด่วน 1202 เพื่อติดตามเอาผิดมิจฉาชีพที่หลอกให้เราผ่านแช็ต LINE ลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่
ในสังคมยังมีมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกวัน หากพบเจอเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งที่ต้องทำก็คือการตั้งสติและไตร่ตรองถึงลำดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ตามที่เราได้แนะนำไป ซึ่งจะทำให้คุณไม่พลาดพลั้งถูกหลอกจากกลโกงที่จะทำให้สูญเสียทรัพย์ และเดือดร้อน แม้พลาดพลั้งไปแล้วก็จะจัดการกับมิจฉาชีพเหล่านั้นได้อย่างถูกวิธี แล้วคุณนั้นก็จะสามารถ
รับมือกับกลโกงจากมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ได้