3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต

3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต

By รวิศ หาญอุตสาหะ
วิกฤตเก่าที่ยังไม่คลี่คลายธุรกิจยังไม่ทันได้ฟื้นฟู แต่ไม่ทันไรวิกฤตใหม่ก็มาทักทายทุกทิศทาง แถมสร้างความปวดหัวให้คนทำงานนับไม่ถ้วนยิ่งในยามวิกฤตแบบนี้หากเลี้ยวผิดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายตามมาจนกู่ไม่กลับได้ “ผู้นำ” จึงเป็นหัวแรงหลักในการนำองค์กร และพยุงทุกอย่างให้ดำเนินไปต่อได้
แล้วอะไรคือสิ่งที่ผู้นำควรทำและโฟกัสให้ถูกจุดเพื่อสร้างความมั่นคงและรับมือกับปัญหาต่าง ๆ มาติดตาม และค้นหาคำตอบในบทความนี้กัน!
3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต
สถานการณ์ในช่วงนี้คงไม่มีอะไรอธิบายไปได้ดีกว่าสำนวน “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” นี้แล้ว ทั้งผลกระทบของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวันเท่านั้น แต่ภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ และเจอศึกหนักไม่น้อยไปกว่ากัน
อย่างที่เรารู้กันดีครับว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะดีหรือร้ายก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทาง และสร้างความมั่นคงให้องค์กรก็คือ “ผู้นำ” เพราะถ้าผู้นำเผลอเลี้ยวผิดไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายตามมาได้
ด้วยเหตุนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “สิ่งที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤตคืออะไร?”
ผมได้สรุป 3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต จากบทความของ Harvard Business Review เรื่อง “3 Strategies for Leading Through Difficult Times” มาฝากกันครับ
3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต

3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต

1. ลดอีโก้ลงบ้าง

ถ้าหากให้นิยามว่าคนที่มีอีโก้สูงเป็นอย่างไร ผมคิดว่าคนประเภทนี้มักจะให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น แม้หลายคนอาจปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าตัวเองไม่มีอีโก้ก็ตาม แต่ในสายตาของคนอื่นนั้น เราอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ครับ และปัญหาตามมาอย่างแน่นอนครับ
อีโก้ทำให้เรามีโลกแคบลง ไม่มองการณ์ไกล ไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ยอมรับความผิดพลาด เท่านี้ยังไม่พอยังทำให้ลูกน้องไม่เคารพ และไม่อยากร่วมงานด้วย ยิ่งช่วงวิกฤตแบบนี้ ก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่แน่นอนครับ จากเรื่องเล็ก ๆ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เกินจะควบคุมก็ได้
อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองว่าเผลอแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ไปบ้างหรือเปล่า หากใครเป็นแบบนี้อยู่ก็อย่าลืมแก้ไข เราจะได้เป็นหัวหน้าที่พึ่งพาได้ และมีแต่คนอยากทำงานด้วย

2. กล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ

จากวิกฤตซ้อนวิกฤตที่กำลังเป็นอยู่ เราจำเป็นต้องเลือกสิ่งที่มีความปลอดภัยสูงเป็นหลัก แต่เชื่อไหมครับว่าบางครั้งเราก็ต้องลองทำสิ่งใหม่ ๆ บ้าง เพราะถ้าสิ่งที่ทำอยู่นั้นอยู่ได้ก็จริง แต่อาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว ผมคิดว่าเราต้องกล้าคิด กล้าทำ และกล้าตัดสินใจ
พูดง่าย ๆ ก็คือในช่วงเวลาแบบนี้ “ความกล้าหาญ” ก็สำคัญไม่แพ้ความมั่นคงปลอดภัย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า สิ่งเหล่านี้ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้น หากเราจะทำให้อัตราการเกิดความเสี่ยงนี้น้อยลง ก็จำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ศึกษาตลาดให้ดี ฟังความเห็นของผู้อื่น รวมถึงนำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียน ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับความกล้าในครั้งนี้ไม่น้อยครับ

3. สื่อสารอย่างเปิดเผยและโปร่งใส

หากเป็นเมื่อก่อนเราอาจไม่คุ้นเคยกับ Work From Home เท่าไร แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วโดยคนทำงานส่วนใหญ่ชอบ และไม่ค่อยอยากกลับมาทำงานแบบ On-site กันเลยทีเดียว เพราะสร้างความยืดหยุ่นและตอบโจทย์วิถีชีวิตมากกว่า แต่ก็มีปัญหาที่น่ากังวลใจเหมือนกันครับ
3 เรื่องที่ผู้นำควรโฟกัสในยามวิกฤต
โดยหลัก ๆ ก็คือ “การสื่อสาร” ทั้งการสื่อสารที่น้อยลง ไม่ชัดเจน หรือผิดพลาด ที่มองดูแล้วอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็สร้างความเสียหายมานักต่อนักแล้วครับ เพราะไม่ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของพนักงานเท่านั้น แต่ยังทำให้คนทำงานไม่รู้ถึงสถานการณ์ที่องค์กรกำลังเผชิญ จนอาจทำให้รู้สึกไร้ตัวตน ไร้เป้าหมาย ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร นำไปสู่อาการ Burnout ในที่สุด แล้วผู้นำจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? คำตอบคือ “การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา” ที่ทั้ง “เปิดเผย” และ “โปร่งใส” นั่นเองครับ
เช่น ไม่ควรปกปิดข้อมูลสำคัญหรือปัญหาที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี เพราะยิ่งพนักงานรู้จุดยืน และความเคลื่อนไหวมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีไอเดียใหม่ ๆ แก้ปัญหาได้ตรงจุด รวมถึงรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กรอีกด้วยครับ
จากการสำรวจของ Potential Project ระบุว่า ถ้าในยามวิกฤตผู้นำทำทั้ง 3 สิ่งนี้ ประกอบด้วย การลดอีโก้ ความกล้าหาญ และความโปร่งใส ก็จะทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานเพิ่มขึ้นกว่า 11% มีความผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น 10% และอาการ Burnout ลดลงถึง 10%
จากที่กล่าวมานี้ ผมคิดว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้นำในทุกสถานการณ์อยู่แล้วครับ เพียงแต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ หากผู้นำโฟกัส 3 ประเด็นนี้มากขึ้น ก็จะช่วยเสริมเกราะป้องกันให้ธุรกิจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้คนในองค์กรไม่น้อยทีเดียวครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow