ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก โดยมีโตโยต้าเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือมายาวนาน และได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
ซึ่งดูได้จากยอดขายรถยนต์ล่าสุดของกลุ่มบริษัทรถยนต์เครือโตโยต้าที่ประกอบไปด้วยโตโยต้า, ไดฮัทสุ, ฮีโน่ สามารถครองยอดขายอันดับ 1 ด้วยยอดขายรวมกัน 10.48 ล้านคันทั่วโลกในปี 2022
หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในวงการรถยนต์สำหรับประเทศญี่ปุ่นทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้งานย่อมมีความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ แน่นอน
โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงไปสู่พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์สู่ชั้นบรรยากาศโลก และสอดรับกับนโยบายหลักด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลทั่วโลกย่อมทำให้เป็นเรื่องน่าสนใจว่า คนญี่ปุ่นจะปรับตัวกันเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
จำนวนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า EV (คัน) ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นแทนด้วยกราฟเส้นสีแดง
photo credit: dena.com
แต่ที่น่าตกใจมากคือ ตัวเลขยอดขาย
รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นที่เคยอยู่อันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2010 (หรือช่วงแรกของการเปิดตัวรถไฟฟ้าในญี่ปุ่น) โดยช่วงนั้นญี่ปุ่นยังมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา ผ่านไปเพียงแค่ 10 ปี กลับกลายเป็นว่าญี่ปุ่นมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า EV อยู่ในอันดับสุดท้าย แทบไม่แตกต่างจาก 10 ปีก่อนหน้าคือ ขายได้ประมาณปีละ 10,000 คันเหมือนเดิม ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลกอย่างเช่น จีน, สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์, เยอรมนีกลับมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแซงหน้าญี่ปุ่นไปมากหลายเท่าตัวแล้ว
(ด้านล่างเป็นข้อมูลโดยคร่าวๆ ที่ผมเอามาจากกราฟนี้)
จำนวนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าปี 2020 โดยประมาณของประเทศต่าง ๆ ในโลก
- ญี่ปุ่น 13,000 คัน (กราฟเส้นสีชมพู)
- จีน 990,000 คัน (กราฟเส้นสีเทา)
- อเมริกา 260,000 คัน (กราฟเส้นสีฟ้า)
ยุโรป
- อังกฤษ 110,000 คัน
- ฝรั่งเศส 110,000 คัน
- เนเธอร์แลนด์ 70,000 คัน
- อิตาลี 29,000 คัน
- สเปน 16,000 คัน
ยุโรปตอนเหนือ
- นอร์เวย์ 77,000 คัน
- สวีเดน 28,000 คัน
- เดนมาร์ก 12,000 คัน
- ฟินแลนด์ 7,000 คัน
- แคนาดา 23,000 คัน
เพราะเหตุใดประชากรชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกกลับซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพียงแค่ 13,000 คัน/ปี ซึ่งนับเป็นยอดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพียงแค่ 1.42% ของยอดขายรถยนต์ในปีดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เราจะไปดูสาเหตุนั้นกันครับ
ปัจจัยขัดขวางการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของคนญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่เทรนด์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังมาแรง รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เริ่มขายครั้งแรกในญี่ปุ่นช่วงปี 2010 ผ่านมา 10 กว่าปีก็ยังมียอดผู้ใช้งานไม่ได้เยอะขึ้นมากนัก ซึ่งเกิดมาจาก
3 ความกังวลของคนญี่ปุ่นที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
1. กังวลเรื่องแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจเสื่อมง่าย ทำให้ไม่คุ้มค่าในระยะยาว
คนญี่ปุ่นมีความเข้าใจว่า แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่นิยมนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าอาจเสื่อมสภาพลงได้ตามการใช้งานเมื่อระยะเวลาที่ผ่านไป ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหลายต้องออกมาสร้างความมั่นใจในประเด็นนี้ ด้วยการกำหนดระบบประกันอายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ รวมถึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ ออกมารับประกันแบตเตอรี่ที่ระยะเวลา 8 ปี หรือระยะทาง 160,000 กิโลเมตร (ขึ้นอยู่กับว่าอะไรถึงก่อน) โดยมีการคงความจุของแบตเตอรี่ไว้ขั้นต่ำ 70% ตลอดระยะเวลาการรับประกัน ซึ่งเมื่อเอาข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบกับรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงจะทำให้ข้อกังวลดังกล่าวลดน้อยลง
2. คนญี่ปุ่นยังรู้สึกว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าแพงอยู่
มีข้อมูลว่าคนญี่ปุ่นจะพิจารณาซื้อรถคันใหม่ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,000,000-3,000,000 เยน (250,000-750,000 บาทโดยประมาณ) ซึ่งเป็นราคาที่เอื้อมง่ายเมื่อต้องการซื้อรถพลังงานเชื้อเพลิงแบรนด์ญี่ปุ่น ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าที่วางขายในญี่ปุ่นทั้งแบรนด์ญี่ปุ่นเอง และแบรนด์ต่างประเทศอย่าง TESLA จะตั้งราคาขายอยู่ที่ 5,000,000-8,000,000 เยนโดยเฉลี่ย ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าอาจจะตัดสินใจยากขึ้นเมื่อ
ต้องการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า
กราฟราคารถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถซื้อได้ในประเทศญี่ปุ่น
Photo credit: blog.evsmart.net
ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า BYD ATTO 3 ที่มียอดขายถล่มทลายในประเทศไทยเมื่อช่วงที่ผ่านมาน่าจะเห็นช่องว่างทางการตลาด และความกังวลของคนญี่ปุ่นเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน จึงวางขาย BYD ATTO 3 ในตลาดญี่ปุ่นด้วยราคา 4,400,000 เยน ซึ่งเป็นรถยนต์นำเข้าที่มีราคาถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ๆ
Nissan Sakura (Kei Car)
Photo Credit: xtrend.nikkei.com
นอกจากนี้ปี 2022 ในญี่ปุ่นได้มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐชื่อว่า Nissan Sakura (รถยนต์ประเภท Kei Car หรือรถยนต์ขนาดเล็ก) ซึ่งมีราคาเริ่มต้นน่ารักที่ 2,333,100 เยนทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความตื่นตัว และรู้สึกว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าเอื้อมถึงง่ายกว่าแต่ก่อน และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงขึ้นในอนาคต
3. สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอ
จากการเก็บสถิติจำนวนเครื่องชาร์จไฟฟ้า (EV Charger) ของบริษัทแผนที่ของญี่ปุ่นพบว่า มีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ในญี่ปุ่นเพียงแค่ 30,000 แห่งทั่วประเทศ (สถิติ ณ เดือนมีนาคม 2023) โดยเป็นตัวเลขที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากประเทศจีนที่มีความนิยมของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และมีจำนวนเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV มากถึง 1,760,000 แห่ง
ความเปลี่ยนแปลงของจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั่วประเทศญี่ปุ่น
Photo Credit: www3.nhk.or.jp
หรือแม้กระทั่งประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีพื้นที่ประเทศเล็กกว่าประเทศญี่ปุ่น แต่ยังมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV มากถึง 124,000 แห่ง แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าน้อยเกินไป นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถเดินทางระยะไกลได้ กลัวแบตเตอรี่หมดกลางทาง ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะรู้สึกเช่นนั้น
จากทั้ง 3 สาเหตุดังกล่าวทำให้เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่แม้จะมาแรงแค่ไหน แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจให้คนญี่ปุ่นหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ จึงมีตัวเลขการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพียงแค่ 1.42% จากยอดขายรถยนต์ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐ ภาคเอกชนญี่ปุ่นก็ไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมาก เพื่อเร่งประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งโลก เช่น การทำให้รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดภายในปี 2035 การเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจาก 30,000 แห่งให้มีมากขึ้นถึง 150,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2030 เป็นเรื่องน่าสนใจว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร คนญี่ปุ่นจะเปลี่ยนใจหันมาใช้รถไฟฟ้ากันหรือไม่ ต้องคอยติดตามครับ
ภัทรพล เหลือบุญชู (Boom JapanSalaryman)