ย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว…หากมีใครบอกว่า AI จะเปลี่ยนโลก คงยากที่จะมีใครเชื่อ แต่ในวันนี้ AI มีบทบาทสำคัญมากในแวดวงธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ปัญญาประดิษฐ์จึงถูกนำไปต่อยอดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ ธุรกิจ E-Commerce ธุรกรรมทางการเงิน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมอาหาร ด้วยความอัจฉริยะของ AI ที่ทำงานกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ สร้างระบบที่คิดและกระทำเหมือนมนุษย์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไร้ซึ่งอคติ หลายประเทศทั่วโลกจึงกระตือรือร้นสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จาก AI เพื่อส่งผลประโยชน์ทางธุรกิจและทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น
จีน - โชว์ล้ำ ฝันหวานผู้นำ AI
นอกจากจีนจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ยังประกาศกร้าวขอเป็นผู้นำ AI โลก ภายในปี 2030 ความมั่นอกมั่นใจนี้ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายขายฝัน แต่มาจากการผลักดันร่วมกันระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน และดูเหมือนว่าจีนได้ทำสำเร็จไปบ้างแล้ว จนทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างอเมริการู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่มากก็น้อย จากรายงานข้อมูลเว็บไซต์ Scimago ได้จัดลำดับงานวิจัย AI ของแต่ละประเทศผ่านจำนวนงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในช่วงปี 2013 ถึง 2017 พบว่าจีนยังครองอันดับ 1 ของโลก ในแง่ปริมาณจำนวนงานวิจัย มีมากถึง 37,918 ฉบับ แซงหน้าอเมริกา ที่มี 32,241 ฉบับ
อย่างไรก็ตามในส่วนของงานวิจัยที่มีคนนำไปอ้างอิงมากที่สุดอเมริกายังคงครองแชมป์ แต่หลายคนก็คาดว่าจีนน่าจะตามทันได้ เพราะจีนได้คิดค้นสิ่งใหม่ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ เช่น การเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI คนแรกของโลก โดยสำนักข่าวซินหัวได้ร่วมมือกับ Sogou.com บริษัท Search Engine ของจีน โดยถอดแบบมาจากผู้ประกาศข่าวภาษาอังกฤษของสำนักข่าวซินหัวที่มีตัวตนอยู่จริง โดยนักข่าว AI สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง อ่านข่าวได้เป็นธรรมชาติเหมือนผู้ประกาศมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีระบบอัลกอริทึมที่พัฒนาโดย YITU Technology บริษัทในเซี่ยงไฮ้ สามารถจดจำใบหน้าบุคคลพร้อมกันถึง 10 ล้านคน ภายในหลักวินาที ซึ่ง
เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้กับสถานที่สำคัญและกล้องวงจรปิดที่ช่วยติดตามผู้ต้องสงสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อเมริกา – ผู้นำ E-Commerce
มาถึงคู่แข่งของจีนอย่างอเมริกากันบ้าง หลังจากที่ปล่อยให้จีนวิ่งนำแซงหน้าไปหลายก้าว แต่อเมริกายังมีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนา AI โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง IBM, Google, Microsoft, Facebook และ Tesla เป็นต้น ได้มีการทำวิจัยกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ Amazon เว็บไซต์
E-Commerce ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลก ได้ปิดการซื้อขายมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 796,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ซึ่งผลงานเจ๋ง ๆ ของ Amazon ก็คือ Alexa ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยส่วนตัว สามารถตอบโต้ด้วยเสียงและเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ แค่พูดคำว่า Alexa แล้วตามด้วยคำสั่ง เป็นภาษาอังกฤษ เช่น Alexa, please set an alarm (ช่วยตั้งนาฬิกาปลุกให้หน่อย) ระบบก็จะทำงานตามคำสั่งเสียงทันที
เมื่อไม่นานมานี้ Walmart ร้านค้าปลีกรายใหญ่ของอเมริกา ได้เปิดตัวร้านค้าแห่งอนาคตภายใต้คอนเซปต์ Intelligent Retail Lab (IRL) โดยเปิดตัวสาขาแรกอย่างเป็นทางการในเขต Levittown นิวยอร์ก ซึ่งนำ AI มาช่วยตรวจสอบคลังสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภค ภายในร้านค้าจะติดตั้งกล้องที่มีเซ็นเซอร์และหน่วยประมวลผลเอาไว้เพื่อแสดงข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในร้านได้แบบเรียลไทม์ เพื่อแจ้งเตือนพนักงานให้ทราบทันทีที่สินค้าในชั้นวางหมด ดังนั้นสินค้าจะถูกเติมตลอดเวลา เพื่อให้ร้านไม่เสียรายได้
แม้แต่วงการอาหารก็ยังหนีไม่พ้น AI เมื่อ IBM หวังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ด้วยการพัฒนาเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษได้แม้อยู่ที่บ้าน โดยใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการร่วมมือกับ McCormick ผู้ผลิตเครื่องเทศและสมุนไพร เพื่อใช้ AI คิดค้นเครื่องปรุงอาหารรสชาติใหม่ ๆ ซึ่งคาดว่าจะจัดจำหน่ายในปี 2021
อังกฤษ - โดดเด่นด้าน Health Tech
มาถึงประเทศที่เป็นผู้นำด้าน AI ของฝั่งยุโรปอย่างประเทศอังกฤษกันบ้าง จากการจดสิทธิบัตรด้าน AI รวมแล้วถึง 10,100 ฉบับ ระหว่างปี 2011-2015 และถ้าหากเจาะลึกเรื่อง Deep Learning ซึ่งเป็นระบบการทำงานของ AI อังกฤษอยู่เป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว และคาดว่าในปี 2030 ตัวเลข GDP ของ AI นั้นจะสูงขึ้นถึง 10% ซึ่งอังกฤษประสบความสำเร็จกับการพัฒนา AI ในวงการแพทย์ อย่างในกรณีที่นักวิจัยจากโรงพยาบาล Oxford ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอด ซึ่งได้เริ่มนำเทคโนโลยีนี้ไปทดลองใช้งานตามโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพ Health Tech ที่น่าจับตามอง อย่าง Babylon ได้เปิดตัว Babylon Health แอปพลิเคชั่นให้คำปรึกษาด้านสุขภาพด้วยการโต้ตอบผ่านระบบแชทบอท สามารถประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้ รวมไปถึงบริการปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอล ซึ่งผลการประเมินจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบว่าเทคโนโลยีของ Babylon มีความแม่นยำถึง 80% แม้จะไม่ใช่การวินิจฉัยโรค แต่แอปพลิเคชั่นนี้ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลสุขภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องจ่ายแพง
ไม่เพียงแค่สามประเทศนี้เท่านั้นที่โดดเด่นด้าน AI ยังมีประเทศอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องจับตาดูกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียที่มีการวางแผนว่าภายในปี 2025 จะใช้ AI เข้ามาช่วยในกองกำลังทหาร หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่ทางรัฐบาลได้เริ่มทำการวิจัยในเรื่องของ AI แล้วเช่นกัน อีกทั้งบริษัท Alibaba ของจีนยังใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการวิจัย AI ในต่างประเทศเป็นแห่งแรก ขณะที่ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียที่มีการนำมาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้มากถึง 17.1 % โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI อย่างต่อเนื่อง นับเป็นสัญญาณที่ดีของคนไทย