รู้จักกองทุน

ความรู้การลงทุน
รู้จักกองทุน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเป้าหมายทางการเงินและต้องการลงทุน แต่
... ไม่มีเวลาติดตามภาวะตลาด
... ไม่มีประสบการณ์ลงทุน
... ไม่มั่นใจจะลงทุนด้วยตนเอง
... ไม่มีเงินก้อน
ถ้าคุณกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ “กองทุนรวม” (Mutual Fund) น่าจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่จะช่วยให้คุณเริ่มต้นและต่อยอดความมั่งคั่งสู่เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้ แต่การลงทุนในกองทุนรวมคืออะไร และกองทุนรวมมีอะไรบ้าง เราไปทำความเข้าใจถึงความรู้ด้านการลงทุนเบื้องต้นกันได้ในบทความนี้

กองทุนรวมคืออะไร ? *

“กองทุนรวม” คือ การระดมเงินทุนจากนักลงทุนหลายรายมารวมกันให้เป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ผู้ทำหน้าที่ระดมเงินทุนจะนำกองทุนไปจดทะเบียน เป็นนิติบุคคล และนำเงินกองทุนนั้นไปลงทุนตามนโยบายตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน
ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
01

ระดมเงินจากนักลงทุนมากองรวมกัน
(เงินกองทุน)

ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
02

บลจ. นำเงินกองทุนไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุน

ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
03

ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

นักลงทุนแต่ละรายจะได้รับจัดสรร “หน่วยลงทุน” เพื่อแสดงสถานะความเป็นเจ้าของในเงินที่ได้ลงทุนไป ดังนั้น ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมจึงถูกเรียกว่า “ผู้ถือหน่วยลงทุน”
 
กองทุนรวมที่เสนอขายครั้งแรก (Initial Public Offering – IPO) จะมีราคาหรือมูลค่าหน่วยลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาท เมื่อ บลจ. นำเงินกองทุนไปบริหารตามนโยบายการลงทุนแล้วเกิดผลตอบแทนขึ้น บลจ.จะจัดสรรผลตอบแทนนั้นให้ผู้ถือหน่วยลงทุนตามจำนวนหน่วยที่มีอยู่ มูลค่าหน่วยลงทุนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากมูลค่าเริ่มต้น ขึ้นกับการบริหารของ บลจ.ในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

*แหล่งที่มาของข้อมูล : ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/set/education/main.do)

ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวม

ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายทางการเงิน
ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
มีมืออาชีพที่เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกคอยบริหารจัดการให้สร้างความมั่นใจและลดภาระให้กับผู้ลงทุน
ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
สามารถกระจายการลงทุนได้ โดยใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก
ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ลงทุนในการติดตามการลงทุน จากข้อมูลและรายงานสถานการณ์ลงทุนที่ บลจ. จัดให้สม่ำเสมอ
ความรู้เบื้องต้น และประเภทของกองทุนรวม - ธนาคารกรุงศรี
รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับ SSF / RMF ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร

ประเภทของกองทุนรวม

Money Market Fund
กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้หรือสำหรับการลงทุนระยะสั้นๆ โดยทั่วไปให้ผลตอบแทนที่ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และผลตอบแทนที่ได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
Fixed Income Fund
กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ของภาคเอกชน ผลตอบแทนที่กองทุนได้ร้บจากการลงทุนส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ย และอาจมีส่วนต่างของราคาต้นทุนของตราสารหนี้ที่ลงทุนกับราคาตลาดที่มีการคำนวณทุกวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดกำไรหรือขาดทุนได้ ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ คาดหวังความสม่ำเสมอของผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม ราคาของกองทุนตราสารหนี้อาจมีความผันผวนได้ตามภาวะตลาด ดังนั้น การลงทุนควรเป็นไปตามระยะเวลาที่แนะนำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง ควรลงทุนอย่างน้อย 1 ปี
Mixed Fund
กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนทั้งในตราสารหนี้หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ดังนั้น ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับและความเสี่ยงของการลงทุนจะแตกต่างไปตามสัดส่วน การลงทุนของแต่ละตราสาร เช่น กองทุนผสม A ลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% จะมีความเสี่ยงสูงกว่า กองทุนผสม B ที่ลงทุนในหุ้น 20% และตราสารหนี้ 80% เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูง หรือต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ภายในกองทุนเดียว โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะกับแต่ละภาวะตลาด
Equity Fund
กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) หรือ กองทุนรวมหุ้น
คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์(Warrant) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นๆ กองทุนหุ้นจะถูกกำหนดให้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บางกองทุนมีนโยบายลงทุนตามขั้นต่ำ แต่ละกองทุนอาจลงทุนสูงสุดที่ 100% การลงทุนในหุ้นมีความผันผวนซึ่งนำไปสู่ทั้งโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้น กองทุนหุ้นจึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนระยะยาวได้ และเข้าใจว่าการขาดทุนระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้
Foreign Investment Fund: FIF
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)
คือ กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ซึ่งมีนโยบายให้เลือกลงทุนหลากหลายเช่นเดียวกับกองทุนในประเทศ เช่น กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแตกต่างกัน สินทรัพย์ในต่างประเทศกับในประเทศไทย อาจมีผลตอบแทนแตกต่างกัน การเลือกลงทุนใน FIF จึงเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง นอกจากความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละตราสารการลงทุนแล้ว การลงทุนใน FIF ยังมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย นักลงทุนจึงต้องสามารถรับความผันผวนของค่าเงินที่กองทุนไปลงทุนด้วยเช่นกัน
Super Savings Fund: SSF
กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF)
คือ กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากภาครัฐ โดยผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท SSF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ หลากหลายประเภทเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้, หุ้น, REITs โดยสามารถลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนทุกประเภทที่สามารถลงทุนระยะยาวได้
Retirement Mutual Fund: RMF
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF)
คือ กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมและเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณอายุโดยผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ* ต้องไม่เกิน 500,000 บาท RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ตั้งแต่การลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ ตราสารผสม และ หุ้นทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ลงทุนสามารถเลือกออมเงินลงทุนตามความเสี่ยง ความคาดหวังในผลตอบแทน และระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้น RMF จึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนทุกประเภทที่สามารถลงทุนระยะยาวได้
Alternative Investment
กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment)
คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกต่างๆ เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ รวมถึงทองคำ กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากทรัพย์สินที่ไปลงทุนอาจมีความผันผวนของราคาสูงมาก หรืออาจไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย หรือราคาอ้างอิงกับสินทรัพย์อื่นๆ ดังนั้น ผู้ที่จะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไปลงทุน ลงทุนระยะยาว และสามารถรับความเสี่ยงได้สูง
*เงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ประกอบด้วย กองทุน SSF กองทุน RMF กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

  • การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน รวมทั้งไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จึงมีความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน
  • ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมต่อเมื่อเห็นว่าการลงทุนในแต่ละกองทุนรวมนั้นมีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของผู้ลงทุน และผู้ลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม โดยเฉพาะ นโยบายการลงทุน ความเสี่ยง ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม และคู่มือการลงทุนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน บริษัทจัดการอาจจะใช้หรือไม่ใช่เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศภายใต้ดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และ/หรือ ได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ และเนื่องจากกองทุนรวมมีการลงทุนในต่างประเทศจึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศที่กองทุนรวมไปลงทุนได้ ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
  • กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) จึงมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
  • กองทุนรวมบางประเภทอาจมีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk profile) ของผู้ลงทุนที่ได้ประเมินไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องเข้าใจและรับทราบความเสี่ยงของกองทุนรวมดังกล่าวก่อนทำการลงทุนและหากประสงค์จะลงทุนในกองทุนนั้น ผู้ลงทุนจะต้องลงนามรับทราบและยอมรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk profile) ของผู้ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนทำการลงทุนทุกครั้ง
  • กองทุนรวม SSF/SSFX เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม LTF เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้น และ RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน และจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับพร้อมเงินเพิ่มตามกฎเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ผู้ลงทุนไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนให้กับบริษัทจัดการเท่านั้น
ผู้ลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา
อ่านทั้งหมด

เปิดบัญชีกองทุนและสมัครบริการวางแผนลงทุนแบบประจำบน KMA ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS, Android และ Huawei

อยู่ที่ไหนก็สามารถลงทุนได้ ให้คุณไม่พลาดทุกโอกาสการลงทุน
Appstore
Googleplay
Huawei
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา