ชี้เป้าดาวเด่น กองทุนลดหย่อนภาษี 2567 เลือกซื้ออย่างไรให้ตรงใจ
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ชี้เป้าดาวเด่น กองทุนลดหย่อนภาษี 2567 เลือกซื้ออย่างไรให้ตรงใจ

icon-access-time Posted On 03 ธันวาคม 2567
By Krungsri The COACH
เริ่มเข้าสู่ช่วงวางแผนภาษีกันแล้ว หลาย ๆ คนก็คงจะหัวหมุนไปกับกองทุนลดหย่อนภาษีที่มีให้เลือกซื้อมากมายจนเลือกไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็น SSF RMF หรือ Thai ESG ทำให้เกิดคำถามว่าจะต้องลงทุนกองทุนไหนก่อน และจะต้องลงทุนอย่างไรให้ได้ลดหย่อนภาษีไปพร้อมกับโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าพอใจ หากใครที่กำลังมีคำถามเหล่านี้อยู่ Krungsri The COACH มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากทุกคน
ทำความรู้จัก กองทุน ssf rmf และ thaiesg

ทำความรู้จัก กองทุน SSF RMF และ Thai ESG

ก่อนที่จะลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ SSF RMF และ Thai ESG เรามาดูวัตถุประสงค์ของทั้ง 3 กองทุนกัน เพื่อให้รู้ว่ากองทุนไหนเหมาะกับเรามากที่สุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
  • กองทุน SSF (Super Saving Fund) หรือกองทุนเพื่อการออม เป็นกองทุนที่เน้นการออมระยะยาว เหมาะกับผู้ที่มีเงินได้ และอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี โดยมีเงื่อนไขว่านักลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี

  • กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายในการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ โดยนักลงทุนสามารถขายกองทุนได้เมื่อผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปี

  • กองทุน Thai ESG (Thailand ESG Fund) หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและมีความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งช่วยให้เราสามารถออมเงิน และลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น

เปรียบเทียบกองทุนลดหย่อนภาษี SSF RMF และ Thai ESG โดยแยกตามเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์

กองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 3 ประเภท จะมีรายละเอียดของวงเงินลดหย่อนภาษี อายุการถือครอง เงื่อนไขการซื้อ และนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จากตารางข้างล่างนี้
 
ประเภทกองทุน SSF RMF Thai ESG
วงเงินลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 200,000 บาท* ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 500,000 บาท* ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท**
อายุการถือครอง ไม่น้อยกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ  ไม่น้อยกว่า 5 ปี
นับตั้งแต่วันที่ซื้อ
และต้องถือจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์
ไม่น้อยกว่า 5 ปี
นับตั้งแต่วันที่ซื้อ
เงื่อนไขการซื้อ
  • ไม่มีจำนวนเงินขั้นต่ำ
  • ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
  • ไม่มีจำนวนเงินขั้นต่ำ
  • ต้องซื้อต่อเนื่อง อย่างน้อยปีเว้นปี
  • ไม่มีจำนวนเงินขั้นต่ำ
  • ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
นโยบายลงทุน ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ลงทุนในหุ้นไทย และตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ตามหลัก ESG
*เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุน SSF กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และประกันแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

**เป็นวงเงินแยกต่างหาก โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ

เลือกลงทุนกองไหนก่อน ระหว่าง SSF RMF และ Thai ESG

เลือกลงทุนกองทุน

ในการเลือกจัดลำดับการลงทุนในกองทุน SSF RMF และ Thai ESG นั้น เป้าหมายหลักในการลงทุนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถือเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเริ่มลงทุนที่กองทุนตัวไหนก่อน โดยหลังจากนั้นจึงมาดูว่า เรามีงบประมาณสำหรับลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีจำนวนเท่าไร

ตัวอย่างเช่น เรามีงบในการลงทุน 600,000 บาท โดยไม่ได้มีการลดหย่อนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และประกันแบบบำนาญมาก่อน เมื่อเรากำหนดงบประมาณในการลงทุนแล้ว หลังจากนั้นให้กระจายลงทุนตามวัตถุประสงค์ของเรา ตัวอย่างเช่น
 

1. เป้าหมายเพื่อการออมระยะยาว

หากเป้าหมายหลักของเราต้องการออมระยะยาวในระยะเวลา 10 ปี เป็นอันดับแรก สามารถเลือกลงกองทุน SSF ก่อน โดยเลือกลงทุนได้สูงสุด 200,000 บาท และอีก 400,000 บาท สามารถกระจายการลงทุนในกองทุน RMF ได้ 300,000 บาท และส่วนที่เหลือลงทุนในกองทุน ThaiESG ได้ 100,000 บาท
 

2. เป้าหมายเพื่อเงินก้อนหลังเกษียณ

หากเป้าหมายหลักของเรา คือ ต้องการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ หลังอายุ 55 ปี สามารถลงทุนในกองทุน RMF ได้เต็มจำนวนที่ 500,000 บาท และเงินส่วนที่เหลือลงทุนในกองทุน Thai ESG ได้อีก 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำเพิ่มเติม ในกรณีที่เราอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ยิ่งควรพิจารณาซื้อกองทุน RMF ก่อน เนื่องจากกองทุน RMF มีข้อกำหนดในการถือครองอย่างน้อย 5 ปี และขายได้เมื่ออายุ 55 ปี
 
กองทุนลดหย่อนภาษี 2567
 

3. เป้าหมายหลักเพื่อการลดหย่อนภาษี โดยเลือกกองทุนที่ใช้เวลาลงทุนน้อยที่สุด

หากเราต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี โดยถือหน่วยลงทุนที่ใช้เวลาลงทุนน้อยที่สุดก่อน เราอาจจะเริ่มต้นลงทุนในกองทุน Thai ESG ก่อน เนื่องจากใช้ระยะเวลาการถือครองเพียง 5 ปีนับตั้งแต่วันที่เราซื้อแบบวันชนวัน ดังนั้น เราสามารถซื้อ Thai ESG ด้วยเงิน 300,000 บาทก่อน และอีก 300,000 บาท สามารถพิจารณาเพิ่มว่าจะลงทุนใน SSF หรือ RMF ตามอายุของผู้ลงทุน
  • ในกรณีอายุน้อยกว่า 45 ปี ลงทุนใน SSF ก่อนให้เต็มสิทธิ์ที่ 200,000 บาท เพราะจะขายได้หลังจากถือหน่วยลงทุน 10 ปี และอีก 100,000 บาท สามารถลงทุนในกองทุน RMF ซึ่งเราจะขายได้เมื่ออายุ 55 ปี
  • ในกรณีที่อายุมากกว่า 45 ปี เช่น อายุ 50 ปี สามารถนำเงิน 300,000 บาทที่เหลือ มาลงทุนใน RMF เนื่องจากหลังจากใช้เวลาถือครอง 5 ปีตามกำหนดแล้ว จะสามารถขายได้ทันทีเมื่ออายุ 55 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่น้อยกว่าการถือครอง SSF

อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่า การลงทุนใน RMF ต้องคำนึงด้วยว่าจะต้องซื้อทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปี
 
เลือกลงทุน เงินก้อนเดียว หรือทยอยลงทุน

ลงทุนแบบไหนให้ได้ผลตอบแทนโดนใจ : เงินก้อนเดียว VS ทยอยลงทุน

ในการซื้อหน่วยลงทุนจะสามารถใช้กลยุทธ์ได้ 2 แบบ คือ การลงทุนด้วยเงินก้อนเดียว เรียกว่า Lump Sum และการทยอยลงทุนรายเดือน เรียกว่า Dollar Cost Averaging หรือ DCA ซึ่งเราสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับเราได้ โดยการประเมิน ดังนี้
 

1. ประเมินเงินลงทุน

  • กรณีที่ไม่มีเงินก้อน : จะต้องเก็บเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนมาลงทุน ก็สามารถเลือกกลยุทธ์ DCA ได้ วิธีนี้สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีรายได้ประจำหรือมนุษย์เงินเดือน
  • กรณีมีเงินก้อน : สามารถลงทุนได้เลยในครั้งเดียว โดยเลือกลงทุนด้วยกลยุทธ์ Lump Sum ได้ วิธีนี้สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีรายได้เป็นก้อน เช่น ผู้ที่มีธุรกิจส่วนตัว หรืออาจจะเป็นเงินก้อนโบนัสพิเศษของมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับมาจากบริษัท
 

2. ประเมินประสบการณ์ลงทุน

  • กรณีไม่มีประสบการณ์ในการลงทุน : สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามราคากองทุนรวม และไม่มีประสบการณ์ที่สามารถจับจังหวะของตลาดได้ สามารถทยอยซื้อแบบ DCA อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ราคาถัวเฉลี่ยต้นทุนในการลงทุนที่ไม่แพงจนเกินไป
  • กรณีที่มีประสบการณ์ในการลงทุน : สามารถวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของราคาในตลาด และประเมินราคาหลักทรัพย์ได้ ก็สามารถเลือกใช้วิธีจับจังหวะเพื่อลงทุนเป็นเงินก้อนแบบ Lump Sum ได้

สำหรับใครที่กำลังวางแผนยื่นภาษีปี 2567 และมองหาแนวทางที่ช่วยให้การวางแผนเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น สามารถรับชมคลิปเพิ่มเติม มัดรวมแผนยื่นภาษีปี 2567 ใน Krungsri The COACH Ep.172 ที่รวบรวมทุกเคล็ดลับเพื่อช่วยจัดการภาษีได้อย่างง่าย

เปิดโผ กองทุน SSF RMF และ Thai ESG ดาวเด่น

1. กองทุนกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้-เพื่อการออม (KFAFIXSSF)

  • นโยบายการลงทุน : กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางที่มีคุณภาพดีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
  • วัตถุประสงค์การลงทุน : เพื่อการออม โดยมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)
  • ระดับความเสี่ยง : ระดับ 4 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ)
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษี : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ เมื่อลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของ SSF
  • สามารถอ่านรายละเอียดการลงทุนได้ที่ KFAFIXSSF
 

2. กรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGBRANRMF)

  • นโยบายการลงทุน : ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ Morgan Stanley Investment Fund-Global Brands Fund (Class Z) โดยเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก
  • วัตถุประสงค์การลงทุน : เพื่อการออม โดยมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)
  • ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษี : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ เมื่อลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของ RMF
  • สามารถอ่านรายละเอียดการลงทุนได้ที่ KFGBRANRMF
 

3. กรุงศรีเอ็นแฮนซ์เซ็ทไทยเพื่อความยั่งยืน (KFTHAIESG)

  • นโยบายการลงทุน : ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความโดดเด่น ด้านความยั่งยืนจากองค์กรหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ
  • วัตถุประสงค์การลงทุน : เพื่อการออม โดยมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)
  • ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษี : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ เมื่อลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของ ThaiESG สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KFTHAIESG

การเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี ควรพิจารณาทั้งเรื่องการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เพราะจะทำให้เราได้เปิดโอกาสในการลงทุน สามารถรับผลตอบแทนที่ดี และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีได้อย่างคุ้มค่าด้วย

คำเตือน :
  • *ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
  • *SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม | RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ | ThaiESG เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
  • *KFGBRANRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้


อ้างอิง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา