แม้จะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่เลี้ยงชีพด้วยงานประจำ ก็สามารถลงทุนเสริมความมั่งคั่ง และวางแผนให้ชีวิตมั่นคงได้ เพียงแค่ต้องศึกษา และเลือกแผนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตนเอง ซึ่งนี่คือเหตุผลว่า ทำไมมนุษย์เงินเดือน ควรพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุน SSF ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจและหันมาเลือกลงทุนกันมากขึ้น แต่ก่อนลงทุน คุณควรทำความรู้จักกับกองทุนนี้ให้ครบทุกมุม ซึ่งวันนี้เรานำข้อมูลที่ย่อยมาให้เข้าใจง่าย ๆ มาฝากทุกคนแล้ว ตามไปดูกันต่อเลยว่า กองทุน SSF คืออะไร
กองทุน SSF คืออะไร
กองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาว เป็นกองทุนรวมที่สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่อยากกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกองทุน SSF จึงมีนโยบายให้สามารถนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แบบปีต่อปี โดยในปัจจุบันจะมีช่วงระยะเวลากำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2563-2567 และสามารถนำไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย และเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้หลายคนสนใจคือ ไม่มีข้อบังคับทั้ง “จำนวนเงินขั้นต่ำ และการที่ต้องลงทุนทุกปี” เพียงแต่เมื่อลงทุนแล้วต้องถือครองไว้อย่างน้อย 10 ปี ตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อกองทุนเท่านั้น
กองทุน SSF ต่างจากกองทุน RMF อย่างไร
การลงทุนในกองทุน SSF ต่างจากกองทุน RMF ตรงที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มทุกปี และถ้าอยากจะขายคืนหน่วยลงทุนก็สามารถทำได้เมื่อถือครองครบ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อแบบวันชนวัน และที่สำคัญคือ กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งสามารถนำไปหักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่จะต้องไม่เกิน 200,000 บาท และมีกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้เลือกได้ด้วย
ส่วนกองทุน RMF ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี หรือลงทุนแบบปีเว้นปี แต่จะต้องถือครองไปจนถึงอายุ 55 ปี จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ ส่วนเรื่องการลดหย่อนภาษี กองทุน RMF จะลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้เท่ากัน เพียงแต่จำนวนเงินสูงสุดจะต่างกัน โดยต้องไม่เกิน 500,000 บาท และทุกกองทุน RMF จะไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
และสำหรับการลดหย่อนภาษีของทั้ง 2 กองทุนนี้ หากผู้ลงทุนมีสิทธิลดหย่อนจากการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ อยู่ด้วย เมื่อนำทั้งหมดมารวมกันจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ทำไมมนุษย์เงินเดือน ควรซื้อกองทุน SSF
มนุษย์เงินเดือนควรมีการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลเอาไว้อย่างรัดกุม ทั้งแผนแบบระยะสั้น ที่ต้องบริหารเงินเป็นรายเดือน และรายปี, แผนระยะกลาง สำหรับบริหารการเงินในช่วง 2-5 ปี และแผนระยะยาว ที่ต้องบริหารเงินตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จนถึงการวางแผนเพื่อการเกษียณ
สำหรับการลงทุนในกองทุน SSF นั้น จัดว่าเป็นการลงทุนด้วยแผนระยะยาว ตัวอย่างที่สามารถใช้การลงทุนนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินได้ เช่น เพื่อการวางแผนการศึกษาต่อของบุตร, วางแผนเพื่อซื้อรถ หรือซื้อบ้าน, การวางแผนเพื่อเตรียมเงินสำหรับลงทุนธุรกิจ และการวางแผนเพื่อการเกษียณ เป็นต้น และนี่คือ 5 เหตุผลที่จะช่วยตัดสินใจได้ว่า ทำไมมนุษย์เงินเดือนควรซื้อกองทุนนี้
- การลงทุนในกองทุน SSF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งในตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนผสม ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท
- ด้วยเงื่อนไขการถือครองระยะยาว 10 ปี ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในทางบวก ทั้งนี้ควรศึกษาเงื่อนไขการลงทุนจากหนังสือชี้ชวนก่อนการลงทุนทุกครั้ง
- กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ จึงช่วยประหยัดภาษีได้ ทำให้มีเงินเหลือมากขึ้น ปัจจุบันจะใช้สิทธิได้ถึงปี 2567
- เงื่อนไขของการซื้อกองทุน SSF เพื่อสิทธิลดหย่อนภาษีนั้น ไม่มีข้อผูกมัดที่ต้องซื้อทุกปี และไม่มีขั้นต่ำ
- สามารถสับเปลี่ยนไปกองทุนอื่น ๆ ที่เป็น SSF เหมือนกันได้ จึงสะดวกต่อการบริหารพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ
คำนวณฐานเงินเดือน สามารถซื้อ SSF ได้เท่าไหร่
ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ อีกข้อก็คือ ฐานเงินเดือนในปัจจุบัน หากต้องการลงทุนใน SSF ซื้อได้เท่าไหร่ อันดับแรก ให้จำไว้ก่อนว่า กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยตารางด้านล่างนี้จะทำให้คุณเห็นภาพของจำนวนสูงสุดที่ซื้อได้ง่ายขึ้น
ส่วนสำหรับคนที่อยากรู้ต่อว่า แล้วถ้าต้องการซื้อเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย จะต้องซื้อเท่าไร ในส่วนนี้คุณต้องคำนวณเพื่อหาฐานภาษีเพิ่มเติม ซึ่งจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะว่าการเก็บ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยเป็นแบบขั้นบันได ดังตารางด้านล่างนี้
อยากซื้อกองทุน SSF จะมีกองไหนน่าสนใจมาดูกัน
สำหรับท่านที่สนใจลงทุนในกองทุน SSF อาจจะยังไม่มั่นใจว่า ตนเองควรจะเลือกกองทุนแบบไหน หรือต้องซื้ออะไรดี วันนี้เราจึงมี 3 กองทุนมาเป็นไอเดียในการเลือกให้กับทุกท่าน โดยทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้แนะนำไว้ดังนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรพอร์ตการลงทุน มีความเสี่ยงระดับ 4 ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ เหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น และมีเป้าหมายให้เป็นกองทุน SSF ลดหย่อนภาษี สินทรัพย์หลักที่เลือกลงทุนมีทั้งของรัฐบาลและเอกชน คือ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก และตราสารหนี้เอกชน โดยมีการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
กองทุนรวมตราสารทุนที่มีความเสี่ยงสูงระดับ 6 กองทุนนี้มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวแบบเดียวกับดัชนี SET100 จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นไทย และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือ “ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุน” ที่ถือว่ามีอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนรวมตราสารทุนอื่น ๆ
กองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่มีความเสี่ยงสูงระดับ 6 โดยเน้นการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ Morgan Stanley Investment Funds (Class Z) เป็นหลัก นโยบายของกองทุนนี้จะเลือกลงทุนในบริษัทชั้นนำจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลก โดยพิจารณาเลือกลงทุนจากเกณฑ์ Intangible Assets เช่น เป็นแบรนด์สากลที่ทั่วโลกรู้จัก มีสินค้าที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือมีกลวิธีการจัดจําหน่ายที่ช่วยสร้างผลกำไรได้ เป็นต้น มุ่งหวังให้ได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก และกองทุนหลักมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนี MSCI World NETR USD ในส่วนของการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
คำแนะนำเพิ่มเติม ก่อนเลือกซื้อกองทุน SSF หรือ RMF
คำแนะนำที่ต้องขอทิ้งท้ายไว้ในทุกการลงทุนเลยก็คือ “ควรลงทุนในความรู้ ก่อนลงเงิน” โดยเฉพาะในกลุ่มของกองทุนที่มีสิทธิลดหย่อนภาษีอย่าง SSF และ RMF ที่มักมีเงื่อนไขการถือครองกำหนดเอาไว้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาสิทธิการลดหย่อนอื่น ๆ ร่วมด้วยว่า ใช้ไปจำนวนเท่าไรแล้ว และประเมินระยะเวลาที่ต้องถือครอง ซึ่งกองทุน SSF คือกองทุนที่เหมาะกับจุดประสงค์เพื่อการออมเงินระยะยาวที่สามารถถือครอง 10 ปีได้ เมื่อพิจารณาร่วมกับอายุของคุณ ต้องดูว่าตอนนี้อายุเท่าไหร่ หากอายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว ก็อาจจะไม่เหมาะกับ SSF โดยสามารถพิจารณากองทุน RMF แทนได้ เพราะถือครองแค่ 5 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีก็สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ ดังนั้นถ้าจะซื้อ SSF แนะนำว่าอายุของผู้ลงทุนไม่ควรเกิน 45 ปี
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุน ที่หากผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ต่ำหรือปานกลาง ก็แนะนำให้เลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือหากรับความเสี่ยงสูงได้ จะเลือกลงทุนในกองทุนตราสารทุน หรือสินทรัพย์ทางเลือกก็ได้ และควรทำความเข้าใจข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนทุกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลทั้งหมดของกองทุน SSF ที่เรานำมาให้มนุษย์เงินเดือนได้ทำความเข้าใจก่อนลงทุน ซึ่งทั้งกองทุน SSF, RMF หรือการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และสำหรับท่านที่ต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องกองทุน SSF หรือการลงทุนอื่น ๆ ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยามีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน ที่สามารถให้คำปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือเลือก
ฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาติดต่อกลับก็ทำได้อย่างสะดวก
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
- กองทุน KFAFIXSSF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
- กองทุน KFAFIXSSF ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
- กองทุน KFGBRANSSF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา