“โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เว้นเสียแต่ความตายและภาษี” เป็นคำกล่าวของ เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์ และรัฐบุรุษผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกา บ่งบอกถึงความสำคัญของเรื่องภาษีที่เป็นสิ่งที่ต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่างจากความตาย และเหมือนตลกร้าย ถึงแม้ว่าจะตายไปแล้ว ความตายและภาษีก็ยังมาบรรจบกันอีก เพราะทรัพย์สินที่ส่งต่อไปถึงคนข้างหลังก็ยังต้องพัวพันกับภาษีอยู่ดี
ในภาพยนตร์ที่เป็นกระแสระดับประเทศ เรื่อง “วิมานหนาม” เมื่อตัวละคร “เสก” เสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน โดยไม่ทันได้สั่งเสีย ทำให้ที่ดินสวนทุเรียนต้องถูกส่งต่อเป็นมรดก ทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา ว่ามรดกจะถูกส่งไปที่ใคร? ระหว่าง แม่แสง (แม่ของเสก) หรือ ทองคำ (คนรักของเสก) รวมถึงที่ดินสวนทุเรียนจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ถ้าต้องเสียภาษีจะต้องเสียเท่าไร? แม้ความตายและภาษีจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่เตรียมวางแผนไว้ได้ วันนี้ Krungsri The COACH มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับภาษีมรดก แบบเข้าใจง่าย ๆ มาฝากทุกคนกัน
ภาษีมรดก คืออะไร
ภาษีมรดก หรือภาษีการรับมรดก คือ
ภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทหรือผู้รับมรดกแต่ละรายได้รับจากกองมรดก โดยที่มูลค่ามรดกสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท มีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี ดังนั้นหากทรัพย์สินที่ส่งมอบให้ทายาทแต่ละรายไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็สบายใจได้ว่าไม่มีเรื่องภาษีมรดกมารบกวนแน่นอน
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก มีอะไรบ้างตามกฎหมาย
ทรัพย์สินที่ถูกกำหนดให้เสียภาษีมรดกจะเป็นสินทรัพย์ที่มีการจดทะเบียน ได้แก่
- อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน อาคาร คอนโดมิเนียม
- หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เช่น หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวม
- เงินฝากธนาคาร
- ยานพาหนะ เช่น รถยนต์ และรถจักรยานยนต์
- ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้
มูลค่าที่ถูกใช้คำนวณภาษีมรดกจะใช้ราคาประเมิน หรือราคาตลาด ณ วันที่ได้รับมรดก ทั้งนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้รับจากมรดกจะต้องถูกคำนวณเพื่อเสียภาษีมรดกทั้งหมด เพราะยังมี
ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดกอีกด้วย ได้แก่
- สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนระบุชื่อเจ้าของ เช่น เครื่องประดับ ภาพวาด วัตถุโบราณ ประติมากรรม
- สินไหมจากประกันชีวิต ไม่นับเป็นมรดก เพราะเงินค่าสินไหมจากการทำประกันชีวิตที่ระบุยกให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากผู้เอาประกันเสียชีวิตแล้ว
- ทรัพย์สินที่ยกให้สาธารณประโยชน์ ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ
ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีมรดกเท่าไร
ถ้ามรดกที่ผู้เสียภาษีได้รับจากเจ้าของมรดกแต่ละรายมีมูลค่าสุทธิ เกิน 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกจะต้อง
เสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมายังมรดกของเสกในเรื่องวิมานหนาม สวนทุเรียนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดให้เสียภาษีมรดก และผู้ได้รับมรดกคือคุณแม่แสง หากที่ดินมูลค่าไม่ถึง 100 ล้านบาท แม่แสงจะไม่ต้องเสียภาษีมรดก แต่หากที่ดินมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท แม่แสงจะเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าที่เกิน 100 ล้านบาทนั่นเอง
เทคนิควางแผนภาษีมรดกให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ก่อนอื่นเราต้องเช็กทรัพย์สินทั้งหมดของเราก่อนว่า มีทรัพย์สินที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาทหรือไม่ หากมรดกที่ทายาทได้รับมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท และเข้าเกณฑ์ภาษีมรดก โดยวิธีประหยัดภาษีมรดกมี 2 วิธีดังนี้
วิธีที่ 1 ทยอยส่งมอบทรัพย์สินตั้งแต่ตอนมีชีวิต
หลังจากสำรวจทรัพย์สินของตนเองแล้ว หากทรัพย์สินใดที่ไม่จำเป็นต้องถือครองต่อ อาจส่งมอบไปยังทายาทได้ทันที หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่ยังจำเป็นต้องใช้งานอยู่ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย หรือปล่อยเช่า จะสามารถจดทะเบียนสิทธิอาศัยเพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้ หรือสิทธิเก็บกินเพื่อให้ยังสามารถได้รับค่าเช่าอยู่ แม้เปลี่ยนชื่อเจ้าของผู้ถือครองไปแล้ว โดยสามารถรับการยกเว้นภาษี หากเป็นการได้รับจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ต่ำกว่าปีละ 20 ล้านบาท และจากบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาท ต่อปีภาษี
วิธีที่ 2 ส่งต่อมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
สามารถส่งมอบมรดกด้วยการทำประกันชีวิต โดยระบุผู้ที่ต้องการส่งมอบทรัพย์สินเป็นผู้รับผลประโยชน์
ตัวอย่างเช่น คุณห่วงใย มีทายาทเป็นบุตรทั้งหมด 3 คน และมีทรัพย์สินจำนวน 450 ล้านบาท โดยคุณห่วงใยต้องการมอบทรัพย์สินเป็นมรดกให้ทายาททั้ง 3 คน คนละ 150 ล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท หากไม่ได้วางแผนภาษีมรดก บุตรทั้ง 3 คน จะต้องเสียภาษีมรดกคนละ 2.5 ล้านบาท (50 ล้าน x 5%)
ดังนั้น คุณห่วงใยสามารถวางแผนประหยัดภาษีมรดกได้ตามตารางด้านล่างนี้
ดังนั้น ภาษีมรดกเป็นเรื่องที่สำคัญ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมาก การวางแผนที่ดีจะช่วยให้ ลดภาระทางภาษี ส่งมอบทรัพย์สินไปยังทายาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนอกจากเรื่องภาษีที่สำคัญแล้ว
การจัดทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สินให้ชัดเจน และควรอัปเดตพินัยกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตรงตามจุดประสงค์ที่เจ้าของมรดกต้องการจะช่วยให้ทรัพย์สินถูกส่งมอบตามเจตนารมณ์ได้อย่างราบรื่น และสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวในอนาคตได้
อ้างอิง