วางแผนลดหย่อนภาษีดี ได้ผลประโยชน์ถึง 2 ต่อ
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนลดหย่อนภาษีดี ได้ผลประโยชน์ถึง 2 ต่อ

icon-access-time Posted On 15 กรกฎาคม 2564
By Krungsri The COACH

เข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง หลายคนเริ่มเตรียมตัววางแผนภาษีกันแล้ว เราเลยอยากนำเสนอการลดหย่อนภาษีที่จะทำให้ได้ประโยชน์ที่มีแต่คำว่า “คุ้ม” และอธิบายการคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเสียภาษี หรือคนทั่วไปที่ยังสงสัยเรื่องนี้ เรามีไกด์ไลน์สำหรับแผนลดหย่อนภาษีไว้ให้แล้ว หากวางแผนภาษีดี นอกจากจะได้เงินภาษีคืน ยังได้ผลประโยชน์จากวิธีลดหย่อนภาษีที่เราเลือกซื้ออีกด้วย

ก่อนอื่นมาเช็กกันว่า รายได้ต่อปีของเรานั้นถึงเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษีหรือไม่?
สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนเริ่มวางแผนลดหย่อนภาษี
ผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่
  1. บุคคลธรรมดา ที่มีเงินได้ทั้งปี มากกว่า 120,000 บาท (กรณีโสด) และมากกว่า 220,000 บาท (กรณีสมรส) มีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมาย แต่เงินที่จะนำมาคำนวณภาษีคือเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ถ้าไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกิน 150,000 บาท นั้นต้องเสียตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด
  2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในปีภาษีนั้น โดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษี ตามเงินได้ทั้งปีภาษี
  3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และต้องมีเงินได้ทั้งปี ตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีจากเงินได้ทั้งปี
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้ทั้งปีเกิน 60,000 บาท
สอนคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ
ขั้นที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อหาเงินได้สุทธิ
สูตรคำนวณ คือ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

ขั้นที่ 2 นำเงินได้สุทธิมาเทียบกับอัตราภาษีแบบขั้นบันได แล้วนำเงินได้สุทธิคูณกับอัตราภาษีแต่ละขั้นบันได เพื่อหาว่าเราต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่
สูตรคำนวณ คือ เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามขั้นบันได) = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว 400,000 บาท
150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้น
150,000 บาทต่อมา คำนวณอัตราภาษี 5% เป็นเงิน 7,500 บาท
เราจะเหลืออีก 100,000 บาทสุดท้าย คำนวณอัตราภาษี 10% เป็นเงิน 10,000 บาท
รวมแล้วเราต้องเสียภาษี 17,500 บาท

สำหรับคนที่โดนหักภาษีระหว่างปีไปแล้ว ต้องนำเงินก้อนนี้มาหักออกจากเงินภาษีที่ต้องจ่าย จะได้เหลือเฉพาะภาษีที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติมเท่านั้น หรือถ้าใครที่โดนหักเกินไปก็จะได้เงินภาษีคืน เราสามารถตรวจสอบยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วระหว่างปีภาษีในเอกสาร 50 ทวิ ซึ่งทางบริษัทหรือนายจ้างจะเป็นผู้ออกเอกสารนี้ให้

โดยเรามีไกด์ไลน์สำหรับวิธีการลดหย่อนภาษีที่ให้ผลประโยชน์ดี ๆ มานำเสนอ 2 วิธี คือ
วิธีลดหย่อนภาษี ที่ทำให้เราได้ผลประโยชน์ถึง 2 ต่อ
วิธีที่ 1 นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม
ในปี 2564 มีกองทุน 2 ประเภทที่ลดหย่อนภาษีได้ คือ กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้ มีรายละเอียดและเงื่อนไขการซื้อขายที่แตกต่างกันในบางประเด็น จึงทำให้แต่ละกองทุนก็เหมาะกับบางคน

กองทุน SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องลงทุนครบ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

กองทุน RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวัน ปีชนปี (เช่น ซื้อกองทุนเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 จะนับว่าครบ 1 ปีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 จะครบ 5 ปี ในวันที่ 1 พ.ค. 2569) และต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ถึงจะสามารถขายกองทุนนี้ได้ (สามารถเว้นการซื้อได้ 1 ปี และไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี)

ดังนั้น กองทุน SSF จึงเหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนระยะยาว อย่างน้อย 10 ปี ส่วนกองทุน RMF เหมาะกับคนที่สนใจวางแผนเกษียณ

ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับจากวิธีนี้คือ ต่อที่ 1 เราได้ลดหย่อนภาษี ต่อที่ 2 มีโอกาสได้รับผลอบแทนจากกองทุนอีกด้วย แต่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับกองทุนที่เราเลือกไปลงทุน ว่าเป็นกองทุนประเภทไหน ลงทุนในสินทรัพย์อะไร
วิธีลดหย่อนภาษี ที่ทำให้เราได้ผลประโยชน์ถึง 2 ต่อ
วิธีที่ 2 นำเงินไปซื้อประกัน
ประกันเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คนส่วนใหญ่จะสนใจเลือกซื้อหรือให้ความสำคัญเป็นลำดับท้าย ๆ แต่กลับตรงกันข้ามกับนักวางแผนการเงินที่ให้ความสนใจกับประกันก่อน เพราะประกันถือเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง โดยจะโอนความเสี่ยงภัยของเราไปยังบริษัทประกันภัยแทน

ดังนั้น หากต้องการได้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่าจากประกัน เราจึงควรเลือกซื้อประกันที่ตรงกับความจำเป็นของเรา และเลือกซื้อเพราะต้องการความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ ด้วย ไม่ใช่ซื้อเพียงเพราะว่าอยากลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว

ประกันที่ลดหย่อนภาษีได้ มีทั้งหมด 3 แบบ คือ ประกันชีวิต ประกันบำนาญ และประกันสุขภาพ

ประกันชีวิตแบบทั่วไป เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ เป็นต้น เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

ประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี (ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท หากไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนสำหรับประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือมาหักในส่วนของประกันบำนาญ) โดยมีเงื่อนไข คือ กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนได้รับผลประโยชน์ และต้องกำหนดช่วงอายุการจ่ายเงินเป็น 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น

ประกันสุขภาพ สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เราสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยคุณพ่อหรือคุณแม่ต้องมีรายได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท และเราจะต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)

ทั้งนี้ กองทุน SSF, กองทุน RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อนำไปรวมกับกลุ่มเกษียณ (เช่น กบข. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนการออมแห่งชาติ) รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับจากวิธีที่ 2 คือ ต่อที่ 1 เราได้ลดหย่อนภาษี ต่อที่ 2 มีหลักประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะโอนความเสี่ยงภัยของเราไปยังบริษัทประกันภัยแทน
สุดท้าย สิ่งที่สำคัญในการวางแผนลดหย่อนภาษี คือ ควรเลือกวิธีให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการของตัวเอง แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ มีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ไม่ควรซื้อเยอะจนเกินความจำเป็น เพราะอาจจะมากเกินกำลังจนไม่สามารถจ่ายต่อได้ อาจส่งผลกระทบกับแผนการเงินของเราในอนาคต

ฉะนั้นเลือกให้ตรงกับเป้าหมาย และพอดีกับความต้องการของตัวเราจะดีที่สุด
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา