เทคนิคเลือกประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีตามวัย ให้คุ้มคูณ 2
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เทคนิคเลือกประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีตามวัย ให้คุ้มคูณ 2

icon-access-time Posted On 24 ตุลาคม 2567
By Krungsri The COACH
นับตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา ความสนใจในการทำประกันก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ จากการตระหนักถึงความไม่แน่นอนในชีวิตและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี จึงทำให้การทำประกันถือเป็นการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ เพราะให้ผลประโยชน์กับเราถึง 2 ต่อ ได้ทั้งเรื่องของความคุ้มครองและการลดหย่อนภาษีไปพร้อม ๆ กัน

วันนี้ Krungsri The COACH จะมาแนะนำ แผนการทำประกันแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับคนในแต่ละวัย รวมถึงทำความเข้าใจ เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต เพื่อให้ทุกคนได้รับความคุ้มค่าจากการทำประกันให้ได้มากที่สุด
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีด้วยประกันแบบต่าง ๆ

เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีด้วยประกันแบบต่าง ๆ

ปัจจุบัน กรมสรรพากรกำหนดให้เราสามารถได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันที่จ่ายไป ทั้งประกันที่เราทำให้ตัวเอง และรวมถึงประกันที่ทำให้คนในครอบครัวหรือคนอื่นด้วย ซึ่งแต่ละอย่างก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนี้
 

เบี้ยประกันของตัวเอง

สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของเบี้ยประกันที่เราทำให้ตัวเอง จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จากทั้งเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันสุขภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
 
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป
    ประกันชีวิตแบบทั่วไป ได้แก่ ประกันแบบตลอดชีพ ประกันแบบชั่วระยะเวลา และประกันแบบสะสมทรัพย์ รวมถึงประกันแบบควบการลงทุน (Unit Linked) โดยมีเงื่อนไขว่า
    • ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
    • สำหรับแบบประกันควบการลงทุน เบี้ยที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จะลดหย่อนได้เฉพาะเบี้ยส่วนที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันเท่านั้น
    • แบบประกันชีวิตที่ทำจะต้องมีสัญญาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป / ต้องเป็นแบบประกันในไทย / หากมีเงินคืน ต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันในแต่ละปี หรือเป็นแบบที่ทางบริษัทประกันแจ้งว่าสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
    • ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และหากรวมกับเงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ + SSF + RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
    • หากในโควต้าประกันชีวิตแบบทั่วไป ยังใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ถึง 100,000 บาทเต็ม สามารถใช้เบี้ยของประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนเพิ่มจนกว่าจะเต็มโควต้า 100,000 บาทต่อปี
    • เงื่อนไขของรูปแบบประกัน เช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบทั่วไป
  • เบี้ยประกันสุขภาพ
    • ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป จะต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
    • จะต้องเป็นประกันสุขภาพที่คุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย หรือจากอุบัติเหตุ / กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ / โรคร้ายแรง / การดูแลระยะยาวเท่านั้น (ไม่รวมความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน)

เบี้ยประกันที่จ่ายให้คนในครอบครัว

เบี้ยประกันที่จ่ายให้คนในครอบครัวสามารถนำไปลดหย่อนภาษีให้ตัวเองได้ เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้คู่สมรส และเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้พ่อแม่ของเรา หรือพ่อแม่ของคู่สมรสเท่านั้น (เบี้ยประกันที่จ่ายให้บุตรไม่สามารถนำไปลดหย่อนได้) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
 

เบี้ยประกันชีวิตให้คู่สมรส

  • ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อปี
  • คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • ต้องเป็นคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนสมรส เป็นระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป (เพิ่งแต่งงานภายในปีนี้จะยังไม่สามารถลดหย่อนได้)
  • เงื่อนไขของรูปแบบประกัน เช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบทั่วไป
 

เบี้ยประกันสุขภาพให้พ่อแม่

  • ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง รวมกันทั้งพ่อและแม่ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี
  • หากพี่น้องร่วมกันจ่ายเบี้ย จะใช้สิทธิ์ได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หารด้วยจำนวนพี่น้องทุกคนที่จ่ายเบี้ย ให้ลดหย่อนได้คนละเท่า ๆ กัน
  • ตัวเราหรือพ่อแม่ ต้องอยู่ในไทย อย่างน้อย 180 วันในปีภาษีนั้น
  • เงื่อนไขของรูปแบบประกัน เช่นเดียวกับประกันสุขภาพของตนเอง
  • พ่อหรือแม่จะต้องมีเงินได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท แต่หากเป็นพ่อแม่ของคู่สมรส คู่สมรสจะต้องไม่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีด้วย
 
เคล็ดลับเลือกประกันให้เหมาะกับช่วงวัย

Krungsri The COACH แนะนำเคล็ดลับเลือกประกันให้เหมาะกับช่วงวัย ได้ประโยชน์ 2 เด้ง

ด้วยความที่คนในแต่ละวัยอาจมีรายได้ เป้าหมายการเงิน หรือภาระการเงินที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงวัย รวมถึงจุดเด่นของประกันแต่ละประเภท โดย Krungsri The COACH ได้สรุปแบบประกันที่น่าจะเหมาะสำหรับคนแต่ละช่วงวัยไว้ให้แล้ว ดังต่อไปนี้
 

1. ช่วงวัยเริ่มทำงาน (21-30 ปี)

คนวัยนี้โดยทั่วไปอาจจะยังมีภาระการเงินไม่มาก เช่น อาจจะยังไม่มีบุตร หรือหนี้ก้อนใหญ่อย่างหนี้บ้าน รายได้อาจจะยังไม่สูงมากนัก จึงควรให้ความสำคัญกับการออมเงิน เพื่อสะสมความมั่งคั่งไปพร้อม ๆ กับการดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นหลัก แบบประกันที่เหมาะสมสำหรับช่วงวัยนี้ จึงควรเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อช่วยสร้างวินัยการออมระยะยาวตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงประกันสุขภาพ ที่ควรทำไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะสุขภาพยังปกติอยู่ จะสามารถเลือกความคุ้มครองด้านสุขภาพที่ครอบคลุมทุกโรคไปในระยะยาวได้

ตัวอย่างแบบประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และประกันสุขภาพที่แนะนำจากทางกรุงศรี
  • กรุงศรีประกันสะสมทรัพย์ กู๊ด เซฟวิ่ง 15/5 (+) ประกันสะสมทรัพย์ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ ผู้ทำประกันสามารถรับเงินคืนปีละ 1% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย ตั้งแต่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 1 - 14 พร้อมรับเงินก้อนเมื่อครบกำหนดสัญญา 500% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีโอกาสรับเงินปันผลตั้งแต่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 2 - 15 และเมื่อครบกำหนดสัญญา สมัครง่าย ไม่ต้องตรวจสุขภาพ และไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพใด ๆ

    ศึกษาข้อมูลแบบประกันเพิ่มเติมได้ที่ กรุงศรีประกันสะสมทรัพย์ กู๊ด เซฟวิ่ง 15/5 (+)

  • กรุงศรีประกันสุขภาพ ตามใจ พลัส ประกันสุขภาพที่เน้นคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลโดยให้ความคุ้มครองแบบเหมาจ่ายค่ารักษาตามวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่มีให้เลือกตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 30 ล้านบาท

    ศึกษาข้อมูลแบบประกันเพิ่มเติมได้ที่ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และ ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง
 

2. ช่วงวัยสร้างครอบครัว (31-45 ปี)

เป็นช่วงวัยที่เริ่มมีฐานะและรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมกับภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นไปด้วย ทั้งค่าเลี้ยงดูคนในครอบครัว ภาระค่าบ้านและค่ารถ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้เป็นวัยที่ต้องเน้นคุ้มครองความเสี่ยงด้านภาระการเงิน หากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นเป็นหลัก แผนประกันที่เหมาะกับคนในวัยนี้ จึงควรเป็นประกันชีวิตแบบที่เน้นความคุ้มครองชีวิต ได้แก่ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันแบบชั่วระยะเวลา หรือประกันควบการลงทุน (Unit Linked) ที่เน้นความคุ้มครองไปพร้อม ๆ กับการออมเงิน โดยเน้นไปที่การทำประกันชีวิตแบบความคุ้มครองสูง รวมไปถึงการทำประกันสุขภาพให้ตัวเองและคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างแบบประกันชีวิตแบบตลอดชีพที่แนะนำจากทางกรุงศรี
  • กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5, 90/10 ที่มีจุดเด่นอยู่ที่สามารถเลือกระยะเวลาจ่ายเบี้ยสั้นยาวได้ตามความต้องการ โดยสามารถชำระเบี้ยประกันต่ำและได้ความคุ้มครองสูง และรับความคุ้มครองเพิ่มเติมอีก 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หากเสียชีวิตจากกรณีอุบัติเหตุ สูงสุด 30 ล้านบาทต่อราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและอาชีพ (กรณีซื้อจำนวนเงินเอาประกันภัยน้อยกว่า 10 ล้านบาท)

    ศึกษาข้อมูลแบบประกันเพิ่มเติมได้ที่ กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5, 90/10
 

3. ช่วงวัยก่อนเกษียณ (45 ปีขึ้นไป)

เป็นช่วงวัยที่ภาระการเงินเริ่มลดลง ด้วยอายุบุตรที่โตขึ้นจนถึงเรียนจบ รวมถึงภาระหนี้ที่เบาบางลง จึงควรเน้นไปที่การเตรียมเงินเพื่อการเกษียณอายุเป็นหลัก แผนประกันที่เหมาะสมจึงแนะนำเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่จะช่วยการันตีเงินบำนาญที่จะได้รับทุก ๆ ปี ไปตลอดหลังเกษียณ ช่วยให้อุ่นใจจากการมีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณได้

ตัวอย่างแบบประกันชีวิตแบบบำนาญที่แนะนำจากทางกรุงศรี
  • กรุงศรีประกันบํานาญ แฮปปี้ รีไทร์ และกรุงศรี ประกันบำนาญ แฮปปี้ ไลฟ์ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่สามารถเลือกระยะเวลาจ่ายเบี้ยได้ตามความต้องการ ตั้งแต่แบบ 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี หรือจ่ายจนถึงเกษียณ (อายุ 60 ปี) พร้อมรับเงินบำนาญการันตีเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 15% - 30% (สำหรับพื้นที่กรุงเทพ) ของจำนวนเงินเอาประกัน ตั้งแต่อายุ 60-85 ปี

    ศึกษาข้อมูลแบบประกันเพิ่มเติมได้ที่ ประกันชีวิตแบบบำนาญ

หากอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ประกันแบบไหน จะเป็นแบบใช่สำหรับเรา ก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ประกันแบบไหน...ใช่สำหรับเรา? : Krungsri The COACH EP.10

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการทำประกันและการลดหย่อนภาษี

แม้การทำประกันชีวิตประเภทไหน ๆ หรือประกันสุขภาพ จะสามารถนำค่าเบี้ยไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันหมด แต่เพื่อเป็นการทำประกันให้เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด เราจึงไม่ควรตั้งต้นจากเป้าหมายการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี แล้วไปซื้อประกันแบบใดแบบหนึ่งโดยขาดการวางแผนที่รอบคอบ เพราะเราอาจจะได้แบบประกันที่ไม่เหมาะสมกับความจำเป็นของชีวิตของเรา ดังนั้น เราควรยึดหลักคิดของการวางแผนทำประกันให้เหมาะสมกับชีวิตของเราไว้ก่อน แล้วจึงค่อยมาดูว่า แผนประกันดังกล่าว จะช่วยลดหย่อนภาษีให้เราได้เท่าไร จึงจะเหมาะสมที่สุดมากกว่า
 
ประกันสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้

สรุป

การทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้เราได้ อย่างไรก็ตาม เราควรมองเรื่องของการลดหย่อนภาษีเป็นผลประโยชน์เสริม โดยไม่ลืมประโยชน์ที่แท้จริงของการทำประกันเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิต ดังนั้น หากจะมองหาประกันเพื่อช่วยลดหย่อนภาษี ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการวางแผนการทำประกันอย่างถูกต้อง เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันเอาไว้ด้วย
 
เทคนิคเลือกประกันให้คุ้มคูณ 2


อ้างอิง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา