เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “หากมีเงินจำนวนมากและไม่อยากเสี่ยง แค่นำเงินไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย ก็มีเงินใช้ไปตลอดชีวิตแล้ว” แน่นอนว่าถ้ามีเงินเยอะ ๆ ก็สามารถเป็นไปได้ แต่เรารู้หรือไม่ว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับนั้น เราไม่ได้รับเต็มทั้งจำนวน
เกณฑ์ภาษีใหม่ดอกเบี้ยเงินฝาก
ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ว่าถ้าเราได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารทุกบัญชีรวมกันภายใน 1 ปีปฎิทิน (1 มกราคม - 31 ธันวาคม) แล้วมียอดรวมทั้งหมดมากกว่า 20,000 บาท เราต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยจ่าย) ในปีนั้นทันที ตัวอย่างเช่น
- นายรอด ฝากเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 1 บัญชี ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้ รวมแล้วเท่ากับ 20,000.00 บาท ซึ่งยอด 20,000 บาทนั้น เท่ากับยอดที่กฎหมายกำหนดพอดี ดังนั้น นายรอดไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้
- นายเดี่ยว ฝากเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 1 บัญชี ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้ รวมแล้วเท่ากับ 20,100 บาท ซึ่งยอด 20,100 บาทนั้น มากกว่ายอดที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น นายเดี่ยวจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้
- นายหลาย ฝากเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 2 บัญชีที่ธนาคารเดียวกัน ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากแต่ละบัญชีเท่ากับ 10,001 บาทในปีนี้ ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นรวมแล้วเท่ากับ 20,200 บาท (10,100 + 10,100) ซึ่งยอด 20,200 บาทนั้น มากกว่ายอดที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น นายหลายจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้
- นายรัว ฝากเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ธนาคารละ 1 บัญชี 5 ธนาคาร (รวม 5 บัญชี) ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้ บัญชีละ 4,001 บาท ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นรวมแล้วเท่ากับ 20,005 บาท (4,001 x 5) ซึ่งยอด 20,005 บาทนั้นนั้น มากกว่ายอดที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น นายรัวจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปีนี้
ปัจจุบันถ้าหากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่เราได้รับ เกิน 20,000 บาท ธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ของดอกเบี้ยที่ได้ทันที โดยสามารถยื่นเรื่องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ซึ่งถ้าดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ธนาคารจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย เราเลย
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ขอคืนได้ไหม
กรณีที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากยอดดอกเบี้ยที่เราได้รับนั้น เรามีสิทธิ์เลือกเอารายได้ดอกเบี้ยมายื่นภาษีประจำปี เพื่อขอคืนภาษีได้ ถ้าหากเรามีฐานภาษีไม่ถึง 15% ก็มีสิทธิได้คืนภาษี หรือถ้าหากเรามีฐานภาษีตั้งแต่ 15% ขึ้นไปก็สามารถปล่อยให้หักไป แล้วไม่ต้องเอามายื่นภาษีก็ได้ (คุ้มค่ากับเรามากกว่า)
ภาษีดอกเบี้ยธนาคาร ที่ถูกยกเว้นการเรียกเก็บ
สำหรับทางเลือกของคนที่ชอบฝากเงิน และอยากได้ดอกเบี้ยเต็ม ๆ โดยที่ไม่อยากเสียภาษี จะมีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 24 - 36 เดือน และเงินฝากรวมทั้งหมดตลอดระยะเวลาไม่เกิน 600,000 บาท ซึ่งจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ตัวอย่างเช่น เมื่อเปิดบัญชีแล้วจะต้องฝากเงินเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน เช่น ฝากเดือนละ 1,000 บาท ทุกเดือนจนครบกำหนดระยะเวลาฝาก จึงจะได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป และไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เหมือนดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำด้วย
เนื่องจากเป็นประเภทบัญชีที่ได้รับยกเว้นจากกรมสรรพากร เท่ากับว่าคนที่ฝากบัญชีเงินฝากปลอดภาษีจะได้รับผลตอบแทนแบบไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ และไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี เมื่อฝากครบระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมถึงยังมีเงื่อนไขที่สำคัญของเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีอีกข้อก็คือ เราสามารถมีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี ได้เพียงคนละ 1 บัญชี ต่อท่าน เท่านั้น (รวมทุกธนาคาร)
สำหรับธนาคารกรุงศรีก็มี
เงินฝากประจำแบบปลอดภาษีให้เราเลือกออมเงินได้โดยมีเงื่อนไขง่าย ๆ ดังนี้
- ฝากเงินจำนวนเท่ากับจำนวนเงินที่เปิดบัญชีเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ระยะเวลา 24 เดือน และ 36 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดา
- เริ่มต้นฝากเพียงเดือนละ 500 บาท
- สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท (สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน) หรือสูงสุดไม่เกิน 16,000 บาท (สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 36 เดือน) ดอกเบี้ยที่ได้รับไม่เสียภาษี
- ผ่อนผันการขาดฝากไม่เกิน 2 งวด ตลอดระยะเวลาการฝาก
ที่มา
เงินฝากประจำปลอดภาษี
สำหรับบทความในวันนี้ผมก็หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้เข้าใจถึงหลักการเกี่ยวกับภาษีของดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และคนที่อยากได้ดอกเบี้ยเงินฝากแบบเต็ม ๆ และไม่เสียภาษี แนะนำให้นำเงินไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีกันนะครับ
หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้
ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา