ไขข้อสงสัยภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร ต้องคำนวณอย่างไร
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ไขข้อสงสัยภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร ต้องคำนวณอย่างไร

icon-access-time Posted On 18 พฤศจิกายน 2559
By Krungsri the COACH
เพื่อน ๆ ทราบไหมครับว่า ทำไมยอดเงินเดือนจริง ๆ ที่โอนเข้าบัญชีจากทางบริษัท ถึงน้อยกว่าเงินเดือนที่ระบุไว้ตอนทำสัญญาว่าจ้าง หรือทำไมตอนรับงานนอก ผู้ว่าจ้างโอนเงินให้เราน้อยกว่าค่าจ้างที่ตกลงกันไว้นิด ๆ หน่อย ๆ ทั้งนี้ อย่าเพิ่งตกใจไปครับ เพราะโดยปกติ เงินส่วนที่ถูกหักไปนั้น คือ เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั่นเอง วันนี้ เรามาดูกันครับว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร แล้วเกี่ยวข้องกับการยื่นภาษีที่สรรพากรในแต่ละปีอย่างไร

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ รูปแบบหนึ่งของการเสียภาษี โดยเงินรายได้ของเราจะถูกหักทันทีจากผู้จ่ายเพื่อนำส่งให้สรรพากร

สูตรการคำนวณ

จำนวนเงินได้ที่จ่าย x อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
(100 - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย)

ตัวอย่างการคำนวณการหักภาษี ณ ที่จ่าย

เช่น ยุ้ย พนักงานออฟฟิศ มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท และโบนัสปีละ 1 เดือน จากข้อมูลนี้ ช่วยให้ฝ่ายบัญชีของบริษัทสามารถประมาณรายได้ทั้งปีของยุ้ยได้เป็น 30,000 x 13 = 390,000 บาท ยุ้ยเคยให้ข้อมูลกับทางบริษัทว่า เธอทำประกันชีวิตไว้ปีละ 20,000 บาท ซึ่งบริษัทจะเก็บข้อมูลนี้เพื่อคำนวณเป็นค่าลดหย่อน และคำนวณเป็นภาษีเงินได้ที่ยุ้ยจะต้องจ่ายในปีนั้น ๆ ก่อนที่จะหารด้วย 12 เพื่อเฉลี่ยเป็น “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” หรือก็คือเงินที่จะถูกหักออกจากเงินเดือนของยุ้ยในทุก ๆ เดือนนั่นเอง เมื่อถึงปลายปี บริษัทจะส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อสรุปเงินได้ของยุ้ย และยอดภาษี ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไปตลอดทั้งปี ซึ่งหากยุ้ยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายได้ หรือค่าลดหย่อนตามที่แจ้งไว้กับบริษัทแล้ว ยุ้ยก็ไม่ควรจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมอีก

แต่หากยุ้ยมีรายได้เสริม เช่น รับจ้างเขียนบทความ ยุ้ยก็มีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานเพิ่ม สำหรับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ต้องแสดงก็คือเอกสารที่ได้รับจากบริษัทที่ว่าจ้างยุ้ยเขียนบทความนั่นเอง ทั้งนี้ เพื่อนำมาคำนวณหารายได้รวมจากทั้งสองงาน ภาษีที่ควรจะต้องชำระ และนำมาเปรียบเทียบกับยอดภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งปี เพื่อพิจารณาว่าจะได้รับภาษีคืน หรือต้องชำระเพิ่ม

ในกรณีที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เงินได้ก็ถูกหัก ณ ที่จ่ายเช่นกัน ตัวอย่างการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบนี้ก็คือ แอน โปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์ รับค่าจ้างเป็นโปรเจกต์ ปีที่ผ่านมา แอนรับงานทั้งสิ้นสี่โปรเจกต์ แอนตกลงราคาค่าจ้างสำหรับโปรเจกต์แรกเป็นเงิน 20,000 บาท โดยผู้ว่าจ้าง ทำการหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 3% หรือคิดเป็นเงิน 600 บาทเพื่อส่งให้กับสรรพากร และโอนเงินเข้าบัญชีให้แอน จำนวน 19,400 บาท ซึ่งการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับอีกสามโปรเจกต์ที่เหลือก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลายื่นภาษี แอนต้องนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งก็คือเอกสารที่ได้รับจากนายจ้างของทั้งสี่โปรเจกต์ มาคำนวณเพื่อหาจำนวนภาษีที่ควรจะเสียจริงทั้งปี ซึ่งแอนมีโอกาสที่ต้องชำระภาษีเพิ่มหากผลจากการคำนวณมียอดสูงกว่าภาษี ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไปแล้วตลอดทั้งปี และในทางกลับกัน แอนก็มีโอกาสที่จะได้รับเครดิตเงินภาษีคืน หากแอนได้เสียภาษี ณ ที่จ่าย รวมทั้งปีแล้วสูงกว่าภาษีที่คำนวณได้

นับได้ว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย คือเทคนิคหนึ่งในการลดภาระการเสียภาษีก้อนใหญ่ครั้งเดียวในแต่ละปี ด้วยการทยอยนำส่งให้สรรพากรทันทีที่ได้รับรายได้ เช่น ในกรณีของยุ้ยที่จ่ายภาษีทุกเดือน หรือแอนที่จ่ายภาษีเมื่อได้รับค่าจ้างในแต่ละโปรเจกต์
สรุปได้ว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือเงินภาษีที่ผู้จ่ายเงินจะหักออกจากเงินที่จะจ่ายให้กับผู้รับ โดยผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย นำส่งให้กับสรรพากร ส่วนผู้รับเงินก็จะได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย จากผู้จ่าย เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีกับสรรพากรว่าได้ชำระภาษี ในรูปแบบของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ทยอยจ่ายไว้แล้วในระหว่างปีเป็นจำนวนเท่าไหร่นั่นเองครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา