เงินประกันสังคม ได้ทั้งประโยชน์ และลดหย่อนภาษี
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เงินประกันสังคม ได้ทั้งประโยชน์ และลดหย่อนภาษี

icon-access-time Posted On 10 พฤษภาคม 2565
by Krungsri The COACH
เงินประกันสังคมคือเงินแบบไหน? ทำไมมนุษย์เงินเดือนถึงต้องถูกหักเงินส่วนนี้ จะพาคุณไปรู้จักกับบทบาทของเงินประกันสังคมว่า เงินในส่วนนี้มีหน้าที่อย่างไร ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของเราบ้าง เพื่อใช้ประโยชน์จากเงินประกันสังคมได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
 
เงินประกันสังคม ได้ทั้งประโยชน์ และลดหย่อนภาษี
 

เงินประกันสังคมคืออะไร?

“เงินประกันสังคม” มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “เงินสมทบกองทุนประกันสังคม” เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยรูปแบบการส่งเงินสมทบประกันสังคมในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ
 

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33

คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

วิธีการคำนวณเงินประกันสังคมประเภทนี้คำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือน ขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือหากคิดเป็นเงินสมทบรายเดือนจะมีขั้นต่ำที่ต้องจ่ายเดือนละ 83 บาท และสูงสุดเดือนละ 750 บาท
 

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39

คือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน รวมถึงต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินกองทุนเดือนละ 432 บาท โดยต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดสภาพผู้ประกันตนตามมาตรานี้
 

ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

คือ บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ โดยไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 วิธีการนำส่งเงินกองทุนมีด้วยกัน 3 ทางเลือก คือ จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท,100 บาท หรือ 300 บาท โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้จะแตกต่างกันไป
 

จ่ายเงินประกันสังคมแล้วได้อะไรบ้าง?

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
 

สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยและรักษาพยาบาล

  • ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้น
  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง และไม่เกิน 180 วันต่อปี เว้นแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วัน
  • กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลอื่น สามารถเบิกค่ารักษากรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้
    • สถานพยาบาลของรัฐ กรณีประสบอันตราย เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเบิกได้ไม่เกินประเภทละ 2 ครั้งต่อปี
      • ผู้ป่วยนอก
        • เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง
      • ผู้ป่วยใน
        • เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง
        • เว้นแต่ค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
    • สถานพยาบาลของเอกชน
      • ผู้ป่วยนอก
        • เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,000 บาท
        • เว้นแต่การรักษาด้วยการให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด การฉีดสารต่อต้านพิษจากเชื้อบาดทะยัก การฉีดวัคซีนหรือเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะเข็มแรก การตรวจอัลตร้าซาวด์กรณีที่มีภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันในช่องท้อง การตรวจด้วย CT-SCAN หรือ MRI การขูดมดลูกกรณีตกเลือดหลังคลอดหรือตกเลือดจากการแท้งบุตร ค่าฟื้นคืนชีพ และกรณีที่มีการสังเกตอาการในห้องสังเกตอาการตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป เบิกได้เกิน 1,000 บาทตามเงื่อนไขที่กำหนด
      • ผู้ป่วยใน
        • ค่ารักษาพยาบาล กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท
        • ค่าห้องและค่าอาหารรวมกันไม่เกินวันละ 700 บาท
        • ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่ารักษาพยาบาล กรณีที่รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท
        • กรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาทตามระยะเวลาการผ่าตัด
        • ค่าฟื้นคืนชีพ รวมค่ายาและอุปกรณ์ เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท
        • ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการและหรือเอกซเรย์เบิกได้ในวงเงินไม่เกินรายละ 1,000 บาท
        • กรณีมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยพิเศษ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้องความถี่สูง การตรวจคลื่นสมอง การตรวจอัลตราซาวด์ เบิกได้ตามจริง
        • การสวนเส้นเลือดหัวใจและเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจด้วยการฉีดสีการตรวจด้วย CT-SCAN หรือ MRI เบิกได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  • กรณีมีความจำเป็นต้องส่งต่อไปยังสถานพยาบาลแห่งอื่นภายใน 72 ชั่วโมง สามารถเบิกค่าพาหนะได้ ดังนี้
    • กรณีภายในเขตจังหวัด ไม่เกินครั้งละ 300 บาท สำหรับพาหนะส่วนบุคคล และไม่เกินครั้งละ 500 บาท สำหรับรถหรือเรือพยาบาล
    • กรณีข้ามเขตจังหวัด จ่ายเพิ่มจากในเขตจังหวัด กิโลเมตรละ 6 บาท
  • งานทันตกรรม
    • ถอนฟัน อุดฟันและขูดหินปูน ไม่เกินครั้งละ 300 บาท และไม่เกินปีละ 600 บาท
    • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
 

สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร

  • ค่าคลอดบุตร
    สำหรับมารดาจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท และยังจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีกในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน ส่วนบิดาจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกเงินส่วนนี้ได้คนละ 2 ครั้ง
  • เงินสงเคราะห์บุตร
    ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 คน
 

สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

  • เงินบำเหน็จชราภาพ แบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่
    • กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ
    • กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
    • กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย หากผู้รับเงินฯ เสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
  • เงินบำนาญชราภาพ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
    • กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี ได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
    • กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
 

สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต

  • กรณีทุพพลภาพ
    • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เป็นรายเดือนตลอดชีวิตในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง
    • สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย
    • สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพตามความจำเป็น รายละไม่เกิน 40,000 บาท
    • สามารถเบิกค่าพาหนะ เหมาจ่ายเดือนละไม่เกิน 500 บาท
  • กรณีเสียชีวิต
    • ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท
    • ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต แบ่งได้เป็น 2 กรณี
      • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 3 เดือน
      • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 10 เดือน
 

สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

  • กรณีถูกเลิกจ้าง
    ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
  • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
    ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

โดยหากใน 1 ปีปฏิทินมีการยื่นขอรับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ทั้ง 2 กรณี ให้นับระยะเวลาการรับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานรวมกันไม่เกิน 180 วัน

ในที่นี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับสิทธิทั้งหมด ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิทั้งหมดยกเว้นสิทธิกรณีว่างงาน ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
  • จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน
    • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
    • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
    • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท (ได้รับเพิ่ม 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)
  • จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน
    • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
    • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
    • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท (ได้รับเพิ่ม 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)
    • กรณีชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน (ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท/เดือน)
  • จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
    • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน (ไม่เกิน 90 วัน/ปี)
    • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ตลอดชีวิต)
    • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
    • กรณีชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท (ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท/เดือน)
    • กรณีสงเคราะห์บุตร รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/คน/เดือน (ครั้งละไม่เกิน 2 คน)
 

เงินประกันสังคมลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?

ประโยชน์อีกอย่างของเงินสมทบกองทุนประกันสังคมก็คือ เงินสมทบทุนส่วนนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 หรือมาตรา 40 โดยสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้
 
เงินประกันสังคม ได้ทั้งประโยชน์ และลดหย่อนภาษี

หากคำนวณคร่าวๆ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละ 9,000 บาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะหักลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 5,184 บาท ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะหักลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 4,000 บาท

แม้ว่าเงินประกันสังคมจะเป็นเงินที่ดูเหมือนไม่มาก แต่หากเทียบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมาก็ถือว่าคุ้มค่ากว่าเงินที่จ่ายไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ สิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน สิทธิประโยชน์ยามเกษียณ หรือแม้แต่สิทธิในการนำไปหักลดหย่อนภาษี หากท่านใดมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีหรือคำถามการเงินอื่นๆ สามารถติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่บริการที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา