เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่และโอกาสเติบโตในอาเซียน
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่และโอกาสเติบโตในอาเซียน

icon-access-time Posted On 21 มิถุนายน 2567
By Krungsri The COACH
ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อพูดถึงประเทศนี้คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกับบรรยากาศเศรษฐกิจเท่ากับประเทศในละแวกบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา หรือลาว กระนั้นฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่อยากแนะนำให้รู้จักในฐานะประเทศที่มีการเติบโตสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอาเซียนและเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้แม้ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวก็ตาม โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศฟิลิปปินส์จะเติบโตเฉลี่ยด้วยอัตราร้อยละ 5.8 – 6.4 ในระหว่างปี 2566 – 2571 เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้คาดว่าจะช่วยจุดประกายให้เห็นโอกาสด้านการลงทุนในประเทศแห่งนี้อีกด้วย ประเทศฟิลิปปินส์มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นเกาะทั้งขนาดเล็กและใหญ่รวมกันมากกว่า 7,000 เกาะ ด้วยปัจจัยด้านพื้นที่ที่มีความกระจัดกระจาย ทำให้มีความหลากหลายทั้งในแง่ของชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม

การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์

ในด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างเศรษฐกิจจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคบริการอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ โดยทั่วไปที่จะเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมก่อนที่จะเข้าสู่ภาคบริการ

โดยในช่วงปี 40 ปีก่อน ฟิลิปปินส์มีรายได้จากภาคบริการเพียงร้อยละ 36 ในขณะที่ปัจจุบันมีรายได้จากภาคบริการมากกว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคบริการอย่างรวดเร็วนี้ ได้แก่ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีภูมิหลังจากการที่ฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ จึงทำให้ได้รับอิทธิพลทั้งด้านวัฒนธรรมและภาษา โดยประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ของฟิลิปปินส์สามารถพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง

ความโดดเด่นด้านแรงงานและกำลังซื้อในประเทศฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีความโดดเด่นในด้านของจำนวนแรงงานและกำลังซื้อในประเทศ โดยมีประชากรกว่า 110 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และมีอายุเฉลี่ยเพียง 25 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรประเทศไทยและอาเซียนอยู่ 40 และ 31.5 ปีตามลำดับ ปัจจัยนี้สะท้อนศักยภาพของกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคต สวนทางกับประเทศอื่นที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศที่สูงถึงร้อยละ 75 ของ GDP ขณะที่ประเทศไทยและอาเซียนมีสัดส่วนการบริโภคของภาคเอกชนร้อยละ 54 และ 52 ตามลำดับ โดยการจับจ่ายใช้สอยบางส่วนยังได้รับการสนับสนุนรายได้จากเงินโอน (Remittance) จากแรงงานฟิลิปปินส์ที่ออกไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10 ของ GDP จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อภายในประเทศจะเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกได้ต่อไป

การเติบโตของฟิลิปปินส์ยังมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค ภายใต้นโยบาย “Build-Better-More” โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 5 ของ GDP ด้วยความคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการสร้างงานจำนวนมาก พัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

แม้ขณะนี้การลงทุนจากต่างประเทศมีสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3 ของ GDP แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยยังพยายามในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับภาคอุตสาหกรรม การปฏิรูปกระบวนการทำงานของภาครัฐ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของต่างชาติเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการเข้าร่วมกลุ่มการค้าที่สำคัญหลายกลุ่ม เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อแสวงหาคู่ค้าสำคัญทางเศรษฐกิจ

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ

ในส่วนของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่โดดเด่นในประเทศ ด้วยปัจจัยด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษที่ได้กล่าวไปข้างต้น และมีค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการ อย่างธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการธุรกิจ (Business Process Outsourcing) ได้แก่ บริการลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) และบริการเกี่ยวกับสารสนเทศ (IT Services) เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 15 ของตลาดทั่วโลก อีกทั้งมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามให้การสนับสนุน ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน แม้ว่าฟิลิปปินส์จะพึ่งพาการส่งออกไม่มากนักประมาณร้อยละ 30 ของ GDP ทว่ายังมีอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ นั่นคืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีมูลค่าเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด

อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ มากกว่า 500 ราย มีส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 10 ของอุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดยมีจุดแข็งในด้านการประกอบ การทดสอบ และบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ และรัฐบาลยังมีการจัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ก็ได้มีการสร้างพันธมิตรกับผู้นำเข้ารายใหญ่ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่ได้มีการประกาศความร่วมมือกันในด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งสหรัฐฯ ด้านการลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน และสำหรับฟิลิปปินส์ในการส่งเสริมความสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยเฉพาะในภาค e-Commerce และบริการทางการเงิน (Fintech) โดยเศรษฐกิจดิจิทัลในฟิลิปปินส์มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 9 ของมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2565 อย่างไรก็ดี มีสถิติที่น่าสนใจว่า แม้ว่าประชากรฟิลิปปินส์จำนวนมากกว่าร้อยละ 70 จะสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ แต่ประชากรเกือบร้อยละ 45 ยังไม่มีบัญชีธนาคารหรือการเข้าถึงบริการการเงินผ่านระบบมือถือ ซึ่งสะท้อนโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจดังกล่าวในอนาคต นอกจากนี้ รัฐบาลยังกระตุ้นการเติบโตของบริการดิจิทัลผ่านโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารโลก (World Bank) วงเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ว่ากันว่า ด้วยความพร้อมทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งแร่ธาตุและความร้อนใต้พิภพแล้ว ฟิลิปปินส์สามารถเป็นผู้นำภูมิภาคเอเชียในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้ในอนาคต โดยในปัจจุบันฟิลิปปินส์มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณร้อยละ 25 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และแม้ว่าส่วนใหญ่จะยังมาจากถ่านหินเกือบครึ่ง แต่รัฐบาลมีความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2583 โดยเมื่อปี 2564 รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถมีสัดส่วนความเจ้าของได้ทั้งหมดสำหรับโครงการพลังงานทดแทน ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับการไหลเข้าของเงินทุน โดยประเมินว่า ประเทศจะมีความต้องการเงินลงทุนเพิ่มเติม 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2583 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานได้

ความท้าทายและปัจจัยเสี่ยงในการลงทุน

แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีข้อได้เปรียบที่ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลายประการ แต่ก็ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องได้รับการปลดล็อกเพื่อให้การพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ได้แก่ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในประเทศ ด้วยระบบถนนไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นเกาะจำนวนมาก จึงทำให้การพัฒนาคมนาคมเป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่รัฐบาลก็ได้เร่งแก้ไขโดยมุ่งเน้นนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญคือ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง อันเนื่องมาจากที่ตั้งของประเทศอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “แนววงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire” เป็นแนวเส้นที่อยู่ล้อมรอบบริเวณริมมหาสมุทรแปซิฟิก ในบริเวณนี้มักเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการลงทุนกับระบบเตือนภัยพิบัติ รวมถึงเข้าร่วมภาคีระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในแถบทะเลจีนใต้ แม้ว่าข้อพิพาทในน่านน้ำและบริเวณหมู่เกาะที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจะมีความถี่มากขึ้น แต่ด้วยมูลค่าการค้าและการลงทุนที่มีร่วมกับจีนมีมูลค่าไม่มาก จึงคาดว่าอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากนัก

ท้ายนี้ สรุปได้ว่า ฟิลิปปินส์อาจเป็นประเทศที่มีปัจจัยท้าทายหลายด้าน แต่ฟิลิปปินส์ก็จะยังสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งโดยอาศัยปัจจัยขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งจากการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศและการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทำให้ ฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจภายนอกน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาการส่งออกสูง เมื่อรวมกับความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันประเทศเข้าสู่ตลาดโลกผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงทำให้ฟิลิปปินส์จะเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียนในระยะกลางต่อไป
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา