ไอติมไผ่ทอง จากตำนานไอติมรถเข็นสู่ธุรกิจแฟรนไชส์พรีเมียม
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ไอติมไผ่ทอง จากตำนานไอติมรถเข็นสู่ธุรกิจแฟรนไชส์พรีเมียม

icon-access-time Posted On 07 ตุลาคม 2567
By Krungsri The COACH
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าไอติมไผ่ทอง หรือที่เรียกกันว่า “ไผ่ทองไอสครีม” นั้นเป็นหนึ่งในตำนานความอร่อยของคนไทยมานานกว่า 70 ปี เพราะเป็นไอติมที่หาทานได้ไม่ยาก มีรถเข็นออกจำหน่ายไปทุกตรอกซอกซอยในประเทศไทย รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) จึงเป็นที่รักของคนทุกเพศทุกวัย สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน คนวัยทำงาน คนสูงวัย ที่อยากทานของหวาน หรือนักท่องเที่ยวที่อยากจะคลายร้อนเวลาเดินเที่ยว

ในปัจจุบันไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) ได้ขยายธุรกิจแฟรนไชส์ พลิกโฉมภาพลักษณ์จากไอติมรถเข็นที่คุ้นเคยให้ตอบโจทย์กับคนยุคใหม่มากยิ่งขึ้น Krungsri The COACH จะพาทุกคนมารู้จักธุรกิจแฟรนไชส์ของไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) และมาดูว่าเขาทำอย่างไรให้กลายเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จยืนยาวมาถึงยุคปัจจุบัน

เปิดตำนาน ไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) ความอร่อยกว่า 70 ปี

ไอติมไผ่ทอง ความอร่อย 70 ปี

ตำนานของไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) นั้นเริ่มจาก กิมเซ้ง แซ่ซี ชาวจีนอพยพมาอยู่ที่ประเทศไทยและได้มาทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานขายไอติม ซึ่งในสมัยก่อนไอติมจะอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ทำให้รสชาติในแต่ละวันยังไม่ค่อยคงที่แบบในปัจจุบัน

กิมเซ้งเกิดความคิดอยากพัฒนาไอติมให้ดีกว่านี้จึงตัดสินใจลาออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง และได้ทำไอติมกะทิเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายแถมคนไทยมีความคุ้นเคยกับรสชาตินี้เป็นอย่างดี โดยแรกเริ่มมีการตั้งชื่อแบรนด์ว่า “หมีบิน” เพราะคนสมัยนั้นนิยมตั้งชื่อแบรนด์ที่เป็นสัตว์ต่าง ๆ ให้บินได้ และอีก 20 ปีต่อมาได้มีการออกแบบโลโก้ใหม่ มีรูปไผ่ ซึ่งเป็นต้นไม้มงคลของจีน และนำชื่อภาษาจีนคำว่า “กิมเต็ก” มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ว่า “ไอติมไผ่ทองคุณธรรม” แต่ชื่อยาวไปจึงย่อเหลือแค่คำว่า “ไอติมไผ่ทอง หรือ ไผ่ทองไอสครีม” และมีการใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน

ไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) ในยุคแรก ๆ นั้นจะถูกแช่อยู่ในตู้ที่หาซื้อได้ตามร้านค้า ต่อมาก็ได้ปรับเปลี่ยนช่องทางการขายเป็นรถเข็นหรือรถพ่วง ซึ่งหากเราสังเกตจะเห็นได้ว่าไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) นั้นมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาผ่านการส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 แม้อายุของแบรนด์จะเก่าแก่ถึง 70 ปีแต่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว

จากไอติมรถเข็นสู่ธุรกิจแฟรนไชส์

เวลาที่เราพูดถึงไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) เราอาจจะคุ้นเคยกับไอติมที่มากับ “รถเข็น” แต่ในปัจจุบันทางบริษัทก็มีการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ไผ่ทองสเตชัน” เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เหมาะกับคนกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มธุรกิจด้วยการเปิดร้านไอติมของตัวเองโดยการขายแบบ “มีหน้าร้าน” หรือสั่งผ่าน “แอปพลิเคชัน” บนทำเลที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชนหรือสามารถส่งตามบ้านได้

เมื่อเราซื้อแฟรนไชส์มาแล้วจะได้รับลิขสิทธิ์ของแฟรนไชส์เป็นเวลา 2 ปี เป็นการขายไอติมแบบสำเร็จที่บรรจุออกมา 3 ขนาด คือ ถ้วย ไพน์ และกล่อง สามารถขายให้กับลูกค้าได้เลย นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น ๆ อย่างท็อปปิ้ง โคน ขนมปัง ที่เราสามารถจัดเป็นเซ็ตให้กับลูกค้าตามที่ต้องการ แน่นอนว่าด้วยประสบการณ์ในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าของทางไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) ทางบริษัทจะสามารถวิเคราะห์ แนะนำ และเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้

จะเห็นได้ว่าไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) นั้นสามารถหาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายธุรกิจได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากการขายผ่านดีลเลอร์แล้ว ก็ยังขยายโอกาสไปสู่การทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์อีกด้วย

รู้จักธุรกิจแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์ของไอติมไผ่ทอง

แฟรนไชส์เป็นรูปแบบธุรกิจที่เจ้าของแบรนด์อนุญาตให้ผู้อื่นนำแบรนด์ของตัวเองไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้ โดยผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์และปฏิบัติตามข้อกำหนดของแบรนด์เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐาน ไผ่ทองก็เป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ โดยแบรนด์จะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของการทำธุรกิจ เราสามารถแบ่งประเภทของแฟรนไชส์ ดังต่อไปนี้
 

1. Product or Brand Franchise

เป็นการให้สิทธิ์ในสินค้าหรือแบรนด์กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งมักจะเป็นธุรกิจแนวการสร้างอาชีพ ที่เจ้าของแบรนด์จะขายอุปกรณ์ วัตถุดิบ และรูปแบบร้านให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายครั้งเดียวแล้วเปิดร้านได้เลย
 

2. Business Format Franchise

เป็นการนำระบบของธุรกิจทั้งหมดของเจ้าของแฟรนไชส์ ตั้งแต่สินค้า บริการ ระบบการชำระเงิน กระบวนการให้บริการ แผนการตลาด รวมถึงแนวทางปฏิบัติงาน มีการฝึกอบรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการเก็บค่าแฟรนไชส์นั้นจะเป็นรายปีตามสัญญา
 

3. Conversion Franchise

เป็นอีกรูปแบบของแฟรนไชส์ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยจะมีการฝึกอบรมให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์และใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกัน ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจที่เป็นลักษณะเครือข่าย เช่น การให้บริการซ่อมเครื่องปรับอากาศ บริการจัดดอกไม้ บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แน่นอนว่าการซื้อแฟรนไชส์นั้นมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ได้เรียนรู้ระบบการทำงานจากแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง นอกจากนี้แบรนด์ต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถขายแฟรนไชส์ได้นั้น ลูกค้ามักจะรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี ทำให้เราไม่ต้องลงทุนไปกับการสร้างแบรนด์อีกด้วย เรียกได้ว่าแค่เริ่มทำธุรกิจก็ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ได้เลย

เทคนิคการทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ปัง ฉบับไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม)

แฟรนไชส์ไอติมไผ่ทอง

การเปิดขายแฟรนไชส์ของไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) นั้น เกิดจากการปรับตัวของยุคสมัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากเดิมเราจะต้องเดินออกมาซื้อไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) จากรถเข็นที่หน้าบ้าน แต่ในปัจจุบันเราสามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์หรือค้นหาร้านที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อเดินทางไปซื้อสินค้าได้เลย นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น โดยเทคนิคที่น่าสนใจของไผ่ทองมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย
 
  1. รองรับช่องทางออนไลน์ สามารถค้นหาตามแอปพลิเคชัน Delivery ได้เลยว่า ไผ่ทองสเตชันใกล้บ้านอยู่ที่ไหน และก็ทำการสั่งได้เลย
  2. มีความยืดหยุ่นในการทำงานเพราะมองผู้ซื้อแฟรนไชส์เหมือนคนในครอบครัว ไม่ได้มีการกำหนดข้อปฏิบัติอย่างคุมเข้ม แต่เราสามารถคิดค้นไอเดียใหม่ ๆ ในการขายและนำเสนอกับทางบริษัท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการร่วมกันได้
  3. มีบริการช่วยเหลือผู้ซื้อแฟรนไชส์มือใหม่ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อแอปพลิเคชัน Delivery และใส่ภาพเมนูต่าง ๆ สอนจัดเซ็ต และมีระบบหลังบ้านที่ช่วยเหลือในการให้บริการ รวมถึงช่วยร้านที่เปิดใหม่ในการโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดียให้

จะเห็นได้ว่าไอติมไผ่ทอง (ไผ่ทองไอสครีม) นั้นเป็นธุรกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่งแม้จะเป็นแบรนด์ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีแล้ว การขยายตลาดด้วยการขายแฟรนไชส์ไผ่ทองสเตชันที่สามารถขายผ่านแอปพลิเคชันได้นั้น ถือเป็นการปรับตัวให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และยังช่วยสร้างอาชีพให้คนสมัยใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยบริษัทจะให้การสนับสนุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การฝึกอบรม การตลาด และการจัดการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถสร้างรายได้และเติบโตไปพร้อม ๆ กับแบรนด์ได้อีกด้วย

และสำหรับใครที่อยากพัฒนาธุรกิจแต่ยังขาดทุนทรัพย์เพื่อนำมาต่อยอดกิจการให้ก้าวหน้ามากขึ้น ธนาคารกรุงศรีมีบริการสินเชื่อพร้อมคำแนะนำไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก SME ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สินเชื่อเพื่อสร้างธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ เติบโตอย่างไม่มีสะดุด


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา