อินโดนีเซีย (Indonesia) เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มิใช่ว่าอินโดนีเซียจะอาศัยจุดเด่นในประเทศอย่างขนาดประชากรที่ใหญ่มีกำลังซื้อสูง และทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นที่หมายตาของนักลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ภาครัฐยังใช้ประโยชน์จากจุดเด่นดังกล่าวในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทโลกในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงไม่สู้ดีเท่าไรนัก การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทวีความรุนแรงเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่อินโดนีเซียสามารถทำหน้าที่เป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคที่หนุนนำให้อาเซียนเดินหน้าอย่างโดดเด่นในเวทีโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ขนาดตลาดในประเทศที่ใหญ่มาก
หากพิจารณาถึงขนาดของประชากรของอินโดนีเซียซึ่ง ณ ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 270 ล้านคน มากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนและเป็นอันดับสี่ของโลก อีกทั้งประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศยังเป็นชนชั้นกลางในวัยทำงานนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะคอยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความผันผวนในเศรษฐกิจการเงินโลก
อาทิ เศรษฐกิจประเทศสำคัญชะลอตัว การแบ่งขั้วทางการค้า และปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นก็ตาม แต่
ขนาดตลาดในประเทศที่ใหญ่ สัดส่วนการพึ่งพาการค้าโลกที่ไม่สูง จึงเป็นเกราะป้องกันเศรษฐกิจอินโดนีเซียจากความผันผวนดังกล่าวได้อย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนภายในประเทศอีกด้วย
2. ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซีย
ไม่เพียงแต่ขนาดประชากรในประเทศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น อินโดนีเซียยังได้เปรียบในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีบุก ทองแดง จากตำแหน่งภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ และมีสภาพอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี โดยทรัพยากรสำคัญที่ต่างชาติกำลังจับตามองเข้ามาที่อินโดนีเซีย ณ ขณะนี้คือ นิกเกิล ซึ่งอินโดนีเซียมีปริมาณแร่นิกเกิลสูงที่สุดในโลก
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับนิกเกิล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) สนใจเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย เห็นได้จากการลงทุนโดยต่างประเทศ (FDI) ในภาคอุตสาหกรรมโลหะในปีที่ผ่านมามีมูลค่าเกือบสี่แสนล้านบาท
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจุดแข็งในประเทศอย่างประชากรวัยทำงานที่มีจำนวนมากและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดที่นักลงทุนต่างชาติจับตามอง
3. การสนับสนุนจากรัฐบาลด้านนโยบายการลงทุน
ฟากของภาครัฐเองนั้น ได้ทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการช่วยผลักดันการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เห็นได้จากการให้ความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการค้าที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น อาทิ การงดเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งนโยบายเด่น ๆ ในเรื่องการจำกัดปริมาณการส่งออกนิกเกิลสู่เวทีโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020
ความพยายามของภาครัฐข้างต้นนับเป็นกลยุทธ์ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่อินโดนีเซียโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปลายน้ำ ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศ พัฒนาศักยภาพของประชากร เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้
เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่สามารถสังเกตได้จากเงินทุนสำรองของประเทศที่สูง หนี้ภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงตัวเลขเงินเฟ้อที่ไม่สูงมากนัก ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแวดล้อมสำคัญที่เกื้อหนุนการลงทุนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
4. การให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศสีเขียว (Green Ecosystem)
นอกเหนือจากนโยบายด้านกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภายนอกประเทศแล้ว
รัฐบาลยังเดินหน้าสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศที่ดีอย่างต่อเนื่อง นโยบายหลัก ๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศสีเขียว (Green Ecosystem) สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานกับประชาชน ลดการใช้เชื้อเพลิงในประเทศ รณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานสะอาด เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีความคาดหวังให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เรายังสามารถเห็นความตื่นตัวในนโยบายด้านนี้จากโครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองนูซันตารา (Nusantara) ซึ่งเป็นเมืองที่รัฐบาลเจตนาจะให้เป็นเมืองหลวงสีเขียว
5. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
ไม่เพียงเท่านี้
รัฐบาลยังพยายามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นับเป็นนโยบายที่มีความโดดเด่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นนโยบายที่เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศ ตัวอย่างโครงการล่าสุด ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองบันดุงที่ได้เริ่มใช้งานไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางและขยายความเจริญจากเมืองหลวงสู่เมืองรองได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากความพยายามในการสร้างบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศแล้ว เรายังเห็น
ความร่วมมือของธนาคารกลางในการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาคอาเซียนและส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นระหว่างประเทศ (Regional Payment Connectivity: RPC) ซึ่งจะสามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคให้ราบรื่นและสอดรับกับกระแสภูมิภาคนิยม (Regionalization) อีกด้วย
ความท้าทายของประเทศอินโดนีเซีย
แม้ว่าอินโดนีเซียจะสามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี มีปัจจัยที่ส่งเสริมหลายประการ แต่เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่อาจเผชิญในระยะข้างหน้า พี่ใหญ่ของอาเซียนก็ต้องพบกับความท้าทายอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น
การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เมื่อมองในภาพใหญ่ โครงการนี้ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นับเป็นโครงการชูโรงที่ทุกสื่อให้ความสนใจ แต่อาจเกิดคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าได้หากพิจารณาลึกลงไปในรายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงระยะทาง และความจำเป็น อาจทำให้ไม่มีผู้ใช้งานเยอะตามที่คาดไว้แต่แรก และเนื่องจากโครงการดังกล่าวได้พึ่งพาเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากจีน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเรื่องความสามารถชำระคืนหนี้ หากโครงการไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามที่คาด
นอกจากนี้
ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าของอินโดนีเซีย เนื่องจากประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโก วีโดโด ได้ดำรงตำแหน่งจนครบสองวาระแล้ว ไม่สามารถลงสมัครได้ จึงต้องหาผู้สมัครหน้าใหม่เข้ามา สื่อภายในภายนอกต่างให้ความสนใจว่าทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจของฝ่ายบริหารคนใหม่จะเป็นอย่างไร จะสานต่อนโยบายชูโรงด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจการลงทุนหลาย ๆ นโยบายหรือไม่
ทั้งนี้ การวางท่าทีในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นอีกหนึ่งงานยากของอินโดนีเซียในบริบทโลกแบ่งขั้วเช่นนี้ อินโดนีเซียยังคงพึ่งพาเงินทุนจากจีนในอีกหลาย ๆ โครงการที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลต่อไปหรือไม่ นอกจากนี้คำถามยังรวมไปถึงจุดยืนในนโยบายการค้าเสรี หลังจากการตั้งกำแพงกำหนดปริมาณการส่งออกนิกเกิลอาจไม่ตรงใจกับชาติตะวันตกมากนักในสมัยของโจโก วีโดโด
สรุปความน่าสนใจของประเทศอินโดนีเซีย
กล่าวโดยสรุป อินโดนีเซีย คือประเทศที่มีขนาดของประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมากสวนทางกับหลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อีกทั้งความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ทำให้พี่ใหญ่ของอาเซียนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ภาครัฐได้ต่อยอดความได้เปรียบที่มีให้สอดคล้องไปกับกระแสโลกในปัจจุบัน โดยการออกกฎระเบียบจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถ EV ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระแสหลักของโลก
พร้อมกับพัฒนาบรรยากาศการลงทุนในประเทศไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ระบบนิเวศสีเขียว ซึ่งนับวันยิ่งเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น รวมไปถึงการรุกหน้าพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเด่นที่ทำให้อินโดนีเซียก้าวไปข้างหน้า
โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งเป้าไว้ว่าอินโดนีเซียจะพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Country) ภายในปี 2045 แม้ว่าในเร็ว ๆ นี้ อินโดนีเซียอาจต้องพบกับความไม่แน่นอนจากการเมืองในประเทศว่าท้ายที่สุดแล้ว ทิศทางนโยบายจะเป็นไปในทางใด รวมไปถึงเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก และปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แต่อินโดนีเซียนั้นยังคงแสดงความแข็งแกร่งของตนเองออกมาสู่สายตานานาอารยประเทศ และได้แสดงความพร้อมที่จะนำทัพภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างโดดเด่นและมีพลวัตในเวทีเศรษฐกิจโลก