Brand Collab คืออะไร ทำไม Guss Damn Good ถึงชูการตลาดนี้
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

Brand Collab คืออะไร ทำไม Guss Damn Good ถึงชูการตลาดนี้

icon-access-time Posted On 02 กันยายน 2567
By Krungsri The COACH
guss damn good grocery ฉลอง national ice cream month 2024

หนึ่งในไวรัลดังช่วงที่ผ่านมา คือการที่แบรนด์ไอศกรีม Guss Damn Good จับมือกับแบรนด์ไทยในตำนาน ครีเอตไอศกรีมสุดว้าว 9 รสชาติ ภายใต้ชื่อธีม Guss Damn Good Grocery เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง National Ice Cream Month 2024 ใครจะคิดว่าของหวานอย่างไอศกรีม จะมารวมร่างกับน้ำพริกเผาแม่ประนอม และมาม่าต้มยำกุ้ง! ซึ่งนี่ล่ะคือกลยุทธ์การตลาด “Brand Collaboration” ที่ทำให้ Guss Damn Good สร้างความตื่นตาตื่นใจ และมีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ลองไปดูกันว่าแบรนด์นี้มีเรื่องราวอย่างไร และทำไมการทำ Brand Collaboration ถึงมาแรงในธุรกิจปัจจุบัน

ตั้งต้นจากการอยากทำร้านไอศกรีมแบบที่เมืองไทยไม่มี

จุดเริ่มต้นของไอศกรีม guss damn good

ไอศกรีม Guss Damn Good (กัสส์ แดมน์ กู๊ด) มาจากความชื่นชอบในไอศกรีมของ 2 เพื่อนสนิท คุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ จึงได้ตัดสินใจเปิดร้านไอศกรีมของตัวเอง โดยนำวัฒนธรรมของชาวเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยออกมาสังสรรค์และเชื่อมโยงกันได้ด้วยไอศกรีม มาถ่ายทอดเป็นร้านไอศกรีมรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทย

จุดเด่นของไอศกรีมแบบบอสตันจะไม่มีการใส่ท็อปปิงสวยงามหวือหวา แต่จะกวนไอศกรีมด้วยมือ ทำให้ได้เนื้อไอศกรีมเนียนนุ่ม เหนียวแต่ไม่หนักเกินไป ซึ่งกลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของ Guss Damn Good ไอศกรีมทำมือ (Craft Ice-cream)

ปัจจุบันแบรนด์ได้ก่อตั้งมาแล้ว 9 ปี มีไอศกรีมให้เลือกชิมมากกว่าร้อยรสชาติ โดยแต่ละรสชาติสร้างจากเรื่องราวรอบตัว ส่งผ่านไปถึงทุกคนที่ได้ลิ้มลอง เช่น รส Make a Toast ไอศกรีมรสสตรอเบอรีแชมเปญ ที่ได้แรงบันดาลใจจากคู่แต่งงานใหม่ หรือรส Bonfire ไอศกรีมรสคาราเมลที่ถูกเคี่ยวจนไหม้ ขมเล็กน้อย ชวนให้นึกถึงการตั้งแคมป์กับเพื่อน ๆ แล้วก่อกองไฟย่างมาร์ชเมลโลว์

ก้าวสู่การเป็น “เจ้าแห่ง Brand Collaboration”

guss damn good ทำ brand collaboration กับแบรนด์อื่น ๆ

สิ่งที่ทำให้ไอศกรีม Guss Damn Good เป็นที่รู้จักมากขึ้นหรือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำธุรกิจ คือการตัดสินใจจับมือกับ “wet n wild” แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังจากอเมริกา นับเป็นการทำ Brand Collaboration ครั้งแรกของแบรนด์นี้ โดยสามารถหยิบยกเครื่องสำอางอย่าง “ลิปสติก” มาเนรมิตให้เป็นไอศกรีมได้อย่างลงตัว

“wet n wild เป็นเครื่องสำอางที่ราคาไม่แพง ทุกคนเข้าถึงได้ เราก็เลยนึกถึงของง่าย ๆ ที่คนอเมริกันจะต้องมีติดตู้เย็นที่บ้าน อย่างเช่น ครีมชีสและเชอร์รี แล้วก็ตีโจทย์ออกมาเป็นรสชาติ Cream Cheese Cherry ที่มีเนื้อไอศกรีมสีขาว เมื่อทานไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอซอสสีแดงเหมือนลิปสติกอยู่ข้างใน” คุณระรินกล่าว

Brand Collaboration จึงกลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่กำลังมาแรงและน่าจับตามอง เราลองไปทำความเข้าใจกันว่ากลยุทธ์นี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ

Brand Collaboration คืออะไร

Brand Collaboration หรือ Collaboration Marketing คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่แบรนด์ต่าง ๆ นำจุดแข็งของตนเองมาร่วมมือกันสร้างแคมเปญสินค้า-บริการใหม่ ๆ หรืออาจเป็นกิจกรรม โปรโมชัน โดยมักจะทำในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของแต่ละแบรนด์ได้อย่างครอบคลุม รวมถึงแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้อีกด้วย เรียกว่าได้ผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย แม้ว่าแบรนด์ที่ร่วมมือกันจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย แต่ถ้ามีเป้าหมายเดียวกันก็สามารถ Collaboration กันได้

Brand Collaboration แตกต่างจาก Co-branding อย่างไร

ทั้ง 2 สิ่งนี้ต่างเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของแบรนด์ แต่สำหรับ Co-branding คือ ความร่วมมือกันเพื่อสร้าง “แบรนด์ใหม่” ทำการตลาดและพัฒนาสินค้า-บริการใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยอาจจะใช้โลโก้หรือชื่อแบรนด์ร่วมกัน ซึ่งมักจะเป็นแคมเปญระยะยาว

ทำไม Brand Collaboration ถึงมาแรงในธุรกิจปัจจุบัน

ทำไม Brand Collaboration ถึงมาแรงในธุรกิจปัจจุบัน

ปัจจุบันการทำธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้นการจับมือร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อสร้างแคมเปญใหม่ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เพราะผู้บริโภคจะได้เห็นสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงได้ทำความรู้จักแบรนด์ในแง่มุมที่แตกต่าง และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ หันมาทำ Brand Collaboration มากขึ้น
 

ช่วยเพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้าใหม่

หลายธุรกิจเมื่อเติบโตได้ถึงจุดหนึ่งก็มักจะเริ่มเจอทางตัน เช่น กลุ่มลูกค้าเดิมไม่ค่อยกลับมาซื้อซ้ำ หรือไม่สามารถหากลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ได้ ดังนั้นการ Collaboration กับแบรนด์อื่น ๆ จะช่วยให้แบรนด์ของเราได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าอีกแบรนด์หนึ่ง และถ้าแคมเปญนั้นน่าสนใจ ตอบโจทย์พวกเขา ก็จะนำมาสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด
 

ช่วยให้แบรนด์น่าเชื่อถือมากขึ้น

การ Collaboration กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง หรือมีความน่าเชื่อถือสูง จะส่งผลให้แบรนด์ของเราได้รับความน่าเชื่อถือตามไปด้วย หรือหากแบรนด์เหล่านั้นอยู่ในธุรกิจเดียวกัน ก็จะยิ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางภาพลักษณ์ซึ่งกันและกัน
 

ช่วยประหยัดงบประมาณ

การสร้างแคมเปญใหม่ ๆ มักจะมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องลงทุนทั้งผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีในการผลิตต่าง ๆ แต่หากทำ Brand Collaboration ก็เหมือนมีเพื่อนมาช่วยแบ่งปันทรัพยากร จึงช่วยเซฟงบประมาณได้ดี นอกจากนี้การแลกเปลี่ยน Know-how ซึ่งกันและกัน อาจนำมาสู่ไอเดียใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึงก็ได้

พลิกเกมธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Brand Collaboration อย่างไรให้ได้ผลจริง

กลยุทธ์ Brand Collaboration อย่างไรให้ได้ผลจริง
 

1. รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์ตัวเอง

การวิเคราะห์ SWOT สภาพองค์กรในปัจจุบัน จะช่วยให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ก่อนที่จะเริ่มทำ Collaboration เพราะจะทำให้แบรนด์เลือกหยิบจุดแข็งมาใช้ในแคมเปญได้อย่างแม่นยำ และปรับปรุงจุดอ่อนให้ดีขึ้น
 

2. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

เมื่อคิดจะทำ Brand Collaboration ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า “เราต้องการผลลัพธ์อะไรจากการ Collaboration ครั้งนี้?” เช่น ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ หรือต้องการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 

3. กล้าปรับภาพลักษณ์แบรนด์จากกรอบเดิม ๆ

ก่อนที่จะ Collaboration แต่ละแบรนด์ก็จะมีภาพลักษณ์เดิมที่กลุ่มลูกค้าจดจำได้ แต่เมื่อ Collaboration กันแล้ว แบรนด์พันธมิตรต่าง ๆ ก็จะต้องผสานภาพลักษณ์ร่วมกัน ซึ่งถ้าแบรนด์กล้าที่จะออกจากกรอบ ฉีกจากภาพจำเดิม ๆ ก็จะสร้างความโดดเด่น ช่วยให้ลูกค้าสนใจได้มากขึ้น
 

4. เลือกพาร์ตเนอร์ที่ “ใช่”

การทำ Brand Collaboration จะ “ปัง” หรือจะ “แป้ก” ส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับการเลือกพาร์ตเนอร์ โดยควรเลือกแบรนด์ที่มีเป้าหมายทางการตลาด คุณค่า และภาพลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับแบรนด์ของเรามากที่สุด นอกจากนี้ความร่วมมือทางธุรกิจควรจะเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบ
 

5. วางแผนแคมเปญอย่างรัดกุม

เมื่อได้พาร์ตเนอร์ที่ใช่แล้ว ก็ถึงเวลาระดมความคิดเพื่อวางแผนแคมเปญร่วมกัน ซึ่งต้องคิดให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ ระยะเวลา รวมถึงวิธีการสื่อสารที่จะเลือกใช้
 

6. วัดผลความสำเร็จ

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทำ Brand Collaboration ก็จะต้องวัดผลความสำเร็จของแคมเปญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่นิยมใช้วัดผลความสำเร็จ ได้แก่ ยอดขาย ยอดการเข้าชมเว็บไซต์ ยอดการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงความคิดเห็นของผู้บริโภคทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ตัวอย่าง Brand Collaboration ของ Guss Damn Good ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

ล่าสุดไอศกรีม Guss Damn Good เรียกเสียงฮือฮาจนกลายเป็นไวรัลดังในโลกออนไลน์ ด้วยการทำ Brand Collaboration ร่วมกับ 9 แบรนด์พันธมิตร เปิดตัวไอศกรีมสุดพิเศษ 9 รสชาติ
 
Brand Collaboration ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
 
  • ส.ขอนแก่น : รสหมูหยองน้ำตาลมะพร้าว ที่ใช้หมูหยอง 2 ชนิด คือ แบบอบ และแบบป่น นำมาปั่นกระจายอยู่ในเนื้อไอศกรีมน้ำตาลมะพร้าว เมื่อตักลงไปจะเจอไส้หมูหยอง มีรสชาติหวานนำเหมือนในแซนด์วิชหมูหยองโบราณ
  • มาม่า : รสครัมเบิลเส้นมาม่ารสต้มยำ ซอร์เบต์มะนาวแป้น ที่มีรสชาติตั้งต้นเป็นครัมเบิลเส้นมาม่า ผสมผงมาม่ารสต้มยำกุ้ง ผสานกับซอร์เบต์มะนาวแป้นคั้นสด เกิดเป็นรสชาติเปรี้ยวอมหวาน แกล้มความเผ็ดและเค็ม ชวนให้นึกถึงตอนกินมาม่าดิบ
  • Bar B Q Plaza : รสซอสบาร์บีคิวพลาซ่า น้ำผึ้ง โมลาส ที่หยิบไฮไลต์ของบาร์บีคิวพลาซ่า อย่าง “น้ำจิ้มรสเด็ด” มาทำเป็นไอศกรีมเนื้อนุ่ม ผสมกับน้ำผึ้งดอกลำไย และโมลาส (กากน้ำตาล) ได้รสชาติหวานหอม และทิ้งความเผ็ดและเค็มไว้ที่ปลายลิ้น
  • Roza : รสมะเขือเทศโรซ่า สตรอเบอรี ที่จับคู่ซอสมะเขือเทศโรซ่ากับสตรอเบอรีหอมหวาน ทำออกมาเป็นซอร์เบต์เนื้อสีชมพู ได้รสชาติหวานปนเค็มนิด ๆ กินแล้วสดชื่น
  • แม่ประนอม : รสน้ำพริกเผาแม่ประนอม ไข่เค็ม นมข้นจืด ที่นำไอศกรีมไข่เค็มเข้มข้น มาผสมนมข้นจืดรสชาติหอมมัน แล้ว Swirl ทั้งถ้วยด้วยน้ำพริกเผาแม่ประนอมแบบเน้น ๆ ออกมาเป็นไอศกรีมรสชาติหอมหวานมัน เผ็ดน้อย หอมกลิ่นไข่เค็ม
  • ซอสภูเขาทอง : รสซอสภูเขาทองฝาเขียว คัสตาร์ด บริตเติล ที่ผสมซอสภูเขาทองฝาเขียว เข้ากับวานิลลาคัสตาร์ดที่กวนเองจากไข่แดงสด เมื่อกินแล้วจะได้ Aftertaste กลิ่นซอสฝาเขียวฟุ้งเบา ๆ พอตักลงไปอีกจะเจอบริตเติล (คล้าย ๆ คัสตาร์ดกรุบกรอบ) ที่ใช้ซอสฝาเขียวเป็นส่วนผสมเช่นกัน ชวนให้นึกถึงตอนกินขนมปังปิ้งจิ้มไข่ลวก
  • Arsenal : รสคุกกี้อาร์เซนอล มอลต์ช็อกโกแลต ไอศกรีมรสคุกกี้หวานละมุน หอมกลิ่นมอลต์ ฟีลเหมือนกินขนมคุกกี้ที่เราคุ้นเคยในวัยเด็ก
  • JollyBears : รสฟูล ออฟ จอลลีแบร์ เป็นรสชาติที่เต็มไปด้วยจอลลีแบร์หอมหวาน เหมือนได้กินเยลลี่หมีชื่อดังในรูปแบบไอศกรีม
  • ยาอมแก้ไอตราตะขาบ : รสยาอมแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว น้ำรากบัว น้ำตาลกรวด ที่ใช้ “รากบัว” หนึ่งในส่วนผสมของยาอมตะขาบ มาผสมกับน้ำเชื่อมยาอมตราตะขาบเข้มข้นที่ทำเอง เพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลกรวด ผสมกับยาอมตะขาบสด ๆ กลายเป็นซอร์เบต์หวาน ๆ กินแล้วเย็นชุ่มคอ

แม้ว่าไอศกรีมบางรสชาติอาจจะดูแปลกใหม่ ว้าวสุด ๆ จนต้องร้องว่า “คิดได้ไง!” แต่ก็เข้าถึงกลุ่มลูกค้านักชิมได้ไม่ยาก เพราะทั้งหมดนี้เป็นแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ที่หน้าร้านของ Guss Damn Good ก็ยังมีการจัดแคมเปญ Golden Week โปรโมชันพิเศษสำหรับไอศกรีมแต่ละรสชาติ พร้อมรับของขวัญลิมิเต็ดอิดิชันจากทางแบรนด์อีกด้วย เรียกได้ว่าโพรเจกต์นี้เป็นปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยเลยทีเดียว

ทั้งนี้การ Brand Collaboration ของ Guss Damn Good จะมีกำหนดระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 2 - 3 เดือนเท่านั้น แต่ก็มักจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะทุกคนจะรู้สึกสนุกตื่นเต้น ที่ได้ลุ้นว่าในแต่ละแคมเปญจะมีไอศกรีมรสชาติอะไรให้ลิ้มลองบ้าง นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อธุรกิจคือได้ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ ๆ และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการทำ Brand Collaboration คือ กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มเพดานการเติบโตของธุรกิจได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากกรณีศึกษาของแบรนด์ไอศกรีม Guss Damn Good ที่จับมือร่วมกับหลากหลายแบรนด์ จนสร้างปรากฏการณ์ตื่นตาตื่นใจได้อยู่เสมอ สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการที่อยากทำ Brand Collaboration ปัง ๆ และกำลังมองหาเงินทุน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อเพื่อสร้างธุรกิจ


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา