รู้ไหมว่า ปี 2568 กำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน เพราะทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะลงนามร่วมกันภายใต้ “กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน หรือ DEFA (Digital Economy Framework Agreement)” ซึ่งเป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิกผ่านการสนับสนุนการค้าดิจิทัล การคุ้มครองข้อมูล การพัฒนามาตรฐานดิจิทัลร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้อาเซียนก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งในระดับโลก
กรอบความตกลง DEFA จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจดิจิทัลข้ามพรมแดน และดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก โดยอาเซียนคาดการณ์ว่า DEFA จะช่วยผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคให้เติบโตขึ้นเป็น 2 เท่า แตะระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 เลย
นี่จึงเป็นจังหวะทองของนักลงทุนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเติบโตครั้งใหม่นี้
แล้วมีธุรกิจในอาเซียนอะไรน่าสนใจบ้าง? ลงทุนกองทุนรวมของอาเซียนตัวไหนดี? Krungsri The COACH จะพาไปเจาะลึกเศรษฐกิจของอาเซียนที่น่าสนใจ พร้อมตอบคำถามเหล่านี้เอง
การลงทุนในอาเซียน : คว้าโอกาสกลุ่มธุรกิจน่าสนใจและได้รับประโยชน์จาก DEFA ในปี 2568
เมื่อ DEFA มีผลบังคับใช้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิทัศน์ธุรกิจดิจิทัลของอาเซียน สร้างโอกาสการเติบโตให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม Krungsri The COACH ได้วิเคราะห์และคัดสรร 3 กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพโดดเด่นและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงนี้ในปี 2568 มาให้แล้ว นักลงทุนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้เลย
1. อุตสาหกรรมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศในอาเซียนมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในภูมิภาค จึงทำให้อุตสาหกรรมในธุรกิจ E-commerce ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง
2. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology)
เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้าน E-commerce, Fintech, และ HealthTech โดยเราแนะนำให้ลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ Cloud Computing (การประมวลผลบนคลาวด์) เพราะเริ่มมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเวียดนามและไทย
3. อุตสาหกรรมการเงินดิจิทัล (Fintech)
เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภูมิภาคนี้จะมีศักยภาพสูงในด้านนวัตกรรมทางการเงิน เพราะมีการให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย เช่น การทำธุรกรรม การชำระเงิน การลงทุน หรือการบริหารจัดการทางการเงิน เป็นต้น
ส่องเศรษฐกิจ 3 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับประโยชน์จากกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA)
นอกจากอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจแล้ว Krungsri The COACH ได้รวม 3 ประเทศที่มีศักยภาพโดดเด่นในการเตรียมพร้อมรับมือกับ DEFA มาให้ด้วย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม จะมีความน่าสนใจอย่างไร ไปดูกัน
1. อินโดนีเซีย
ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 270 ล้านคน ประกอบกับตลาด E-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 59.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 หรือคิดเป็น 43.25% ของอาเซียน จึงทำให้การลงทุนใน
เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง การเริ่มบังคับใช้ DEFA จะสามารถช่วยลดอุปสรรคการค้าข้ามพรมแดนและสนับสนุนผู้ประกอบการในการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่แห่งนี้ได้
2. ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) มีการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่หลากหลาย ทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยให้
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตขึ้นได้ โดยในปี 2567 อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรฟิลิปปินส์สูงถึง 89.3% ยิ่งไปกว่านั้น DEFA ที่จะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการค้าออนไลน์ และบริการทางการเงินดิจิทัล จะยิ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพสูงได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทำให้นับจากนี้การแข่งขันของเศรษฐกิจดิจิทัลในฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเข้มข้น และเติบโตรวดเร็วขึ้นนั่นเอง
3. เวียดนาม
อุตสาหกรรม Fintech ของเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนมีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับสอง (รองจากสิงคโปร์) ในภูมิภาคอาเซียนเลย อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 การทำธุรกรรมธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัลมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของธุรกรรมธนาคารทั้งหมดเลย
Mordor Intelligence ยังคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรม Fintech ของเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงถึง 20.23% ระหว่างปี 2568-2573 และมีขนาดตลาดถึง 50.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 และหากยิ่งได้รับการสนับสนุนจาก DEFA ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะเป็นจริงตามการคาดการณ์ได้
Krungsri The COACH แนะนำ : กองทุนรวมที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน
หลังจากที่อัปเดตข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพโดดเด่นในปี 2568 กันแล้ว นักลงทุนหลายคนคงเริ่มคิดแล้วว่า ควรลงทุนกองทุนรวมตัวไหนดี? สำหรับใครที่ยังไม่มีไอเดีย Krungsri The COACH ขอแนะนำ 2 กองทุนน่าสนใจที่ลงทุนตรงในภูมิภาคอาเซียนนี้เลย!
1. PRINCIPAL VNEQ-A กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า
- ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)
- นโยบายการลงทุน : มีนโยบายลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ มีธุรกิจหลัก ในประเทศเวียดนาม ที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต เน้นลงทุนในตราสารทุนประเทศเวียดนาม ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
- ตัวอย่างหุ้นที่กองทุนนี้ลงทุนเป็น 5 อันดับแรก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 67)
- FPT Corporation (FPT) สัดส่วน 10.17 % : เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทำธุรกิจผู้จัดจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์หลังบ้าน รวมถึงบริการคลาวด์
- Military Commercial Joint Stock Bank (MBB) สัดส่วน 8.78 % : เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการธนาคารแก่บุคคลทั่วไปและองค์กร ทั้งในและต่างประเทศ
- Mobile World Investment Corporation (MWG) สัดส่วน 6.84 % : เป็นผู้ค้าปลีกชั้นนำของเวียดนาม ที่จัดจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์พกพา อุปกรณ์เสริม
- Vietnam Technological & Commercial Joint Stock Bank (TCB) สัดส่วน 6.81 % : เป็นธนาคารพาณิชย์เจ้าใหญ่ของเวียดนาม เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต อีกทั้งยังมีธุรกิจนายหน้าขายประกัน
- Joint Stock Commercial Bank for Foreign Trade of Vietnam (VCB) สัดส่วน 6.01 % : เป็นหนึ่งในสี่ของสถาบันการเงินที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในเวียดนาม โดยเน้นให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านการธนาคารพาณิชย์แก่ลูกค้าบุคคลและลูกค้าองค์กรแบบครบครัน
- สามารถอ่านรายละเอียดกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ PRINCIPAL VNEQ-A
2. KFHASIA-A กองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอิควิตี้เฮดจ์เอฟเอ็กซ์-สะสมมูลค่า
- ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)
- นโยบายการลงทุน : มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลักคือ Baillie Gifford Pacific Fund (Class B Acc) ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในทวีปเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ และมีการกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของเอเชีย
- สัดส่วนการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 67) : เวียดนาม 8.2% สิงคโปร์ 3.1% อินโดนีเซีย 3.0%
- ตัวอย่างหุ้นที่กองทุนนี้ลงทุนเป็น 5 อันดับแรก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 67)
- Sea Limited สัดส่วน 1.7 % : บริษัท Digital Entertainment, E-commerce platform และ Financial Services ชั้นนำจากประเทศสิงคโปร์
- HD Bank สัดส่วน 1.4 % : Ho Chi Minh City Development Joint Stock Commercial Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ร่วมหุ้นของประเทศเวียดนาม ส่งเสริมกิจกรรมการค้าปลีกและ ธุรกิจชนิด SME แบบผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่
- Dragon capital vietnam enterprise investment ltd สัดส่วน 1.4 % : บริษัทบริหารการลงทุนระดับแนวหน้าซึ่งเข้าไปลงทุนในหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์และฮานอยของประเทศเวียดนาม
- Mobile world investment corporation (NB) สัดส่วน 1.2 % : บริษัทธุรกิจค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในประเทศเวียดนาม
- Military Commercial Joint Stock Bank สัดส่วน 1.0 % : Military Commercial Joint Stock Bank ดำเนินงานในฐานะ Military Bank (MB หรือ MB Bank) เป็นธนาคารร่วมการค้าเวียดนามและเป็นบริษัทในเครือของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม
- สามารถอ่านรายละเอียดกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ KFHASIA-A
กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจในอาเซียนทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่าง E-commerce, เทคโนโลยี AI, Cloud Computing หรือการเงินดิจิทัล จึงถือเป็นโอกาสทองที่นักลงทุนจะได้ลงสนามนี้กัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุน นักลงทุนควรศึกษาและวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ รวมถึงกระจายการลงทุนในหลายประเทศ และหลายอุตสาหกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เพราะการวางแผนการลงทุนที่ดีและติดตามแนวโน้มตลาดอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดในตลาดที่มีศักยภาพนี้ได้นั่นเอง
อ้างอิง