เจาะลึก 3 ประเทศมาแรง โอกาสทองธุรกิจส่งออกสู่ ASEAN
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เจาะลึก 3 ประเทศมาแรง โอกาสทองธุรกิจส่งออกสู่ ASEAN

icon-access-time Posted On 15 ธันวาคม 2566
By Krungsri The COACH
ภูมิภาคอาเซียนจะยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2566 แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลงและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น นักวิเคราะห์ของ Credit Suisse คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะอยู่ในระดับปานกลางถึงร้อยละ 4.4 ในปี 2566 จากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 5.6 ในปี 2565 ตัวเลขเหล่านี้ก็ยังถือว่าเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก IMF คาดการณ์การเติบโตทั่วโลกที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2565 และร้อยละ 2.7 ในปี 2566 ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสําหรับการลงทุนระหว่างประเทศ
Nation Goldman Sachs real GDP
estimates (percent), 2023
Consensus real GDP
estimates (percent), 2023
Singapore 1.5 2.6
Malaysia 4 4.3
Thailand 4 3.9
Indonesia 4.4 4.9
Philippines 5.8 5.7
Vietnam 5.8 6.5
ที่มา https://www.aseanbriefing.com
 
วิเคราะห์ธุรกิจที่อาจเติบโตดีในอาเซียน

โอกาสต่อยอดจากการทำธุรกิจกับกลุ่มอาเซียน

จากการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น และมหาอํานาจทั้งสองพยายามกระชับความสัมพันธ์ในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการค้ากับเศรษฐกิจอาเซียน

ประเทศจีน มีการทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) เป็นข้อตกลงครอบคลุมมากกว่าด้านการค้า การลงทุน แต่ขยายขอบเขตไปถึงภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนประเทศสหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีกับบางประเทศในอาเซียนเท่านั้น

ASEAN Economic Outlook: เศรษฐกิจอาเซียนในปี 2567

ปี 2567 บทวิเคราะห์จากวิจัยกรุงศรียังคงมองว่าเศรษฐกิจในอาเซียนจะยังคงขยายตัวต่อไปในครึ่งปีหลัง โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ความเชื่อมั่น และการบริโภคของภาคเอกชน ตลาดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในอาเซียนได้ระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว และมีแนวโน้มว่าจะคงที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง อีกทั้งยังมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลกลับเข้ามา และปัจจัยเสริมอื่น ๆ อย่างการส่งออกที่ดีขึ้น, การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้ง เป็นต้น

ประเทศที่คาดว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  1. เวียดนาม
  2. ฟิลิปปินส์
  3. อินโดนีเซีย
  4. กัมพูชา
เมื่อตลาดอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีโอกาสทางธุรกิจมากมายจึงเป็นจุดหมายในการขยายธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม
(ที่มา: วิจัยกรุงศรี)

ทีนี้เรามาเจาะลึกประเทศเหล่านี้กันว่าความต้องการสินค้านี้มีอะไรบ้าง เพื่อที่ว่าจะเป็นโอกาส SME อย่างเราๆจะได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้

3 ประเทศอาเซียนมาแรงน่าขยายธุรกิจส่งออกสินค้า

1. ประเทศฟิลิปปินส์

แม้ว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งภายใน และภายนอกในระยะเวลาสั้นอย่างไรก็ตามในระยะยาวคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวสู่แนวทางการเติบโตที่มีศักยภาพที่ 7% ต่อปี ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปโครงสร้างที่กำลังดำเนินอยู่ ในระยะกลางถึงระยะยาว แม้จะมีความท้าทายเชิงโครงสร้างอยู่บ้าง แต่ฟิลิปปินส์มีปัจจัยพื้นฐานที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในระดับภูมิภาคซึ่งสิ่งนี้ทำให้ฟิลิปปินส์มีศักยภาพที่เติบโตได้ดีในปีต่อ ๆ ไป
 

สินค้าที่น่าส่งออกไปประเทศฟิลิปินส์ ได้แก่

  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
  • ธุรกิจความงามและการดูแลส่วนบุคคล
  • ธุรกิจการท่องเที่ยว
  • ธุรกิจการเกษตร
 
ธุรกิจอุตสาหกรรมที่อาจเติบโตได้ดีในอาเซียน
 

2. ประเทศอินโดนีเซีย

มีการลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 43,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ นอกจากนี้นักวิเคราะห์อย่าง S&P Global ได้ระบุว่าแม้ว่าทั่วโลกจะมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ประเทศอินโดถือได้ว่าได้รับผลกระทบไม่มาก ซึ่งมาจากการเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากช่วงโควิดที่ผ่านมา

สําหรับปี 2023 รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มเป้าหมายการลงทุนจากต่างประเทศ และในประเทศเป็น 92 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1,400 ล้านล้านรูเปียห์ อินโดนีเซียเป็นสมาชิก G20 เพียงประเทศเดียวในอาเซียน และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ 260 ล้านประเทศจึงเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนอย่าง SME เรา ๆ
 

สินค้าที่น่าส่งออกไปประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่

โดยข้อมูลจาก Globthailand.com เผยว่า ผู้ประกอบการไทยควรติดตามแนวโน้มการบริโภคสินค้าประเภทต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะ
  • ธุรกิจการเกษตรและอาหาร เช่น ผลไม้สดและแห้ง มันสำปะหลัง ข้าว
  • ธุรกิจสินค้าที่เกี่ยวกับปศุสัตว์
  • ธุรกิจอาหารกระป๋อง
  • ธุรกิจสินค้าที่เกี่ยวกับฮาลาล

นอกจากนี้การที่ไทยมีสินค้า และตลาดฮาลาลที่ใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการอินโดนีเซียนิยมนำเข้าสินค้าฮาลาลจากไทยมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การหาวัตถุดิบที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และสุขภาพ หรือออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าดึงดูด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาดอินโดนีเซียได้มากขึ้น
 

3. ประเทศเวียดนาม

ข้อมูลจากสำนักข่าว TNN ระบุว่า ในเดือนเมษายน 2566 ประชากรเวียดนามมีจำนวน 100 ล้านคน ถือได้ว่าอัตราประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่มีประชากรเยอะที่สุด จำนวนประชากร แรงงานถือว่าเป็นปัจจัยในการแข่งขันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

จากสถิติกลุ่มวัยแรงงานอยู่ที่ 70% ของประชากรทั้งหมด ทำให้นี่เป็นสิ่งที่น่าดึงดูดให้ต่างชาติและ SME อย่างเรา ๆ เข้ามาลงทุน เพราะว่าประชากรในวัยนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อ

สื่อเวียดนามมีการสำรวจประชากร 60,000 กว่ารายมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย แหล่งกำเนิดของสินค้า นอกเหนือจากคุณภาพ และราคา แต่ดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ทำสินค้าเกี่ยวกับ Organic สินค้ารักโลก และสินค้าสุขภาพ
 

สินค้าที่ขายดีในเวียดนามย่อมหนีไม่พ้น

  • ธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค
  • ธุรกิจสินค้าสำหรับแม่และเด็ก
  • ธุรกิจหรือสินค้าที่รักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • ธุรกิจสินค้า Organic
  • ธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพ
 
เรื่องดีๆ ก่อนขยายธุรกิจไปในอาเซียน

7 สิ่งที่ควรรู้ ก่อนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

การเริ่มต้นทำธุรกิจส่งออกไปยังต่างประเทศอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนจะช่วยให้ธุรกิจส่งออกเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องที่ต้องศึกษานั้นมีด้วยกัน ได้แก่
 

1. กฎระเบียบและข้อบังคับ

สิ่งสำคัญอันดับแรกของการทำธุรกิจส่งออก คือ การศึกษากฎระเบียบ และข้อบังคับการนำเข้าและส่งออกของประเทศที่ต้องการจะทำธุรกิจอย่างละเอียด เพราะข้อกำหนดของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป เช่น บางประเทศนั้นกำหนดให้ยอมรับสินค้าจากประเทศไทยได้โดยไม่ต้องผ่านมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติม เพราะเป็นสินค้าคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่บางประเทศนั้นมีข้อบังคับให้สินค้าจากไทยต้องมีมาตรฐานมากขึ้นตามที่ประเทศนั้นกำหนด หากศึกษากฎระเบียบจนเข้าใจแล้วจะช่วยให้เลือกประเภทและกำหนดคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกได้
 

2. ผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออก

หลังจากทราบข้อกำหนดของประเทศที่จะส่งออกสินค้าแล้ว จะสามารถกำหนดได้ว่าสินค้าแบบใดที่สามารถส่งออกได้ และต้องมีคุณภาพระดับใด ซึ่งการจะเลือกสินค้าสำหรับธุรกิจส่งออกนั้นจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจและรู้ข้อมูลสินค้าของตัวเองให้ดีเสียก่อน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ เช่น สินค้าจำพวกอาหาร และเครื่องสำอางต้องมี อย. หรือสินค้าที่จะส่งไปยังประเทศแถบมุสลิมจะต้องมีเครื่องหมายฮาลาล เป็นต้น
 

3. วิเคราะห์ตลาดผู้บริโภค

การส่งออกจะต้องวิเคราะห์ตลาดผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมาย ช่องทางการขาย รวมไปถึงภาษาและวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ ที่แตกต่างไปจากประเทศไทย เพราะถึงแม้สินค้าหรือบริการบางอย่างจะได้รับความนิยมในไทย แต่ในต่างประเทศที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก สินค้า หรือบริการที่นิยมในไทยอาจไม่เป็นที่ถูกใจของชาวต่างชาติก็เป็นได้ ฉะนั้นการทำความเข้าใจในตลาดส่งออกจะช่วยปรับปรุง,และพัฒนาสินค้าnและบริการให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในตลาดส่งออกได้
 

4. เตรียมเอกสารให้ครบ ก่อนส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

เมื่อศึกษาตลาดมาอย่างดี และทำการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแล้ว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถส่งออกสินค้าไปขายที่ต่างประเทศได้ทันที เพราะในการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ทางเรือ ทางอากาศ หรือทางบก คุณจะต้องผ่านขั้นตอนพิธีการศุลกากรก่อน เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย
 

5. เทอมการค้าระหว่างประเทศ

ศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทราบถึงขอบเขตการรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศกำหนดให้ขายสินค้าในราคาที่รวมค่าขนส่งแล้ว หรือในบางประเทศกำหนดให้ขายสินค้าราคาหน้าโรงงาน หลังจากนั้นผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่งทั้งหมด เป็นต้น ดังนั้น การทำธุรกิจส่งออกควรศึกษาเทอมการค้าระหว่างประเทศเอาไว้ จะช่วยให้ประเมิน และคำนวณต้นทุนของสินค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
 

6. อัตราการแลกเปลี่ยน

ในการส่งสินค้าไปต่างประเทศ แน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องสกุลเงินต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นอย่าลืมศึกษาเรื่องสกุลเงินของประเทศที่จะทำธุรกิจด้วย รวมถึงคอยติดตามอัตราการแลกเปลี่ยนเงินอยู่เสมอ ถ้ามีความเข้าใจในการบริหารอัตราการแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะในธุรกิจที่ให้กำไรน้อย ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุน และทำให้มีกำไรมากขึ้นได้
 

7. มองหา “พาร์ทเนอร์” ตัวช่วยให้การส่งออกเป็นไปได้อย่างคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว

ทางเรากรุงศรี มีบริการสินเชื่อขยายธุรกิจเพื่อการส่งออก เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น โดยให้กู้ได้ทั้งสกุลเงินบาท และสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกของคุณเป็นไปอย่างเรียบร้อย สะดวก ไม่มีสะดุด สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา