ทุกคนรู้ความจริงข้อที่ว่า 'ไม่มีใครเป็นอมตะ' แต่ความตายเป็นความจริงที่แสนเศร้า เราเลยมักจะไม่คิดถึงมัน ทำเป็นลืมๆ มันไป นานิก็ลืมเรื่องนี้ไปนานมากแล้วเหมือนกันจนกระทั่งเมื่อสามสี่วันก่อน นานิได้ข่าวว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันสมัยเรียนมัธยมต้นได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เพื่อนคนนี้เพิ่งอายุ 21 เท่านั้นเอง นานิได้แต่ใจหาย เสียใจไปกับครอบครัวของเพื่อนและอธิษฐานขอให้เค้าไปสู่สุขคติ
การจากไปของเพื่อนเก่าในครั้งนี้ ทำให้ต้องกลับมาถามตัวเองว่า 'คุณพร้อมตายหรือยัง?' อาจจะเป็นคำถามที่ดูสลดสำหรับคนที่อายุน้อย แต่อย่าลืมว่า 'โลงศพไม่ได้มีไว้ใส่คนแก่ แต่มีไว้ใส่คนตาย' วันนี้นานิไม่ได้จะมาชวนพูดเรื่องว่า เฮ้ย ต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่านะ อยากทำอะไรรีบทำ ไม่งั้นจะเสียดาย เพราะบทความนี้เกี่ยวกับการบริหารเงินค่ะ
"คนรุ่นใหม่ที่คิดเรื่องการบริหารเงินแบบผู้ใหญ่นั้น เราควรเปลี่ยนคำถามจาก คุณพร้อมตายรึยัง? มาเป็น คุณได้เตรียมอะไรไว้ให้คนข้างหลังรึยัง?"
หลายคนไม่อยากตายเพราะยังรู้สึกกลัว แต่เอาจริงๆ การตายมันไม่ได้น่ากลัวเท่าไหร่หรอก การต้องเป็นคนที่ยังอยู่ต่างหากล่ะที่น่ากลัว เพราะเวลาเราตายไป เราก็ไม่ได้ต้องรับรู้เรื่องอะไร คนที่ยังอยู่หลังคุณต่างหากล่ะที่น่าเป็นห่วง การที่เราจะเป็นวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ที่คิดเรื่องการบริหารเงินแบบผู้ใหญ่นั้น เราควรเปลี่ยนคำถามจาก 'คุณพร้อมตายรึยัง?' มาเป็น 'คุณได้เตรียมอะไรไว้ให้คนข้างหลังรึยัง?'
คนรุ่นใหม่มีเทรนด์ลงทุนในหุ้นกันเต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งก็ดีเพราะถือเป็นรากฐานแห่งการสร้างความมั่งคั่ง ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี เพราะมีอัตราดอกเบี้ยทบต้นมาช่วย แต่รู้มั้ยว่าอะไรกันแน่ที่เราควรมีก่อนความมั่งคั่ง อะไรที่เราควรมีก่อนหุ้น?
สำหรับนานิ คือ “พื้นฐานเรื่องการบริหารเงินคือความมั่นคง” ค่ะ ความมั่นคงว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเจอมรสุมชีวิต เช่น ตกงาน เราจะยังพออยู่ได้จนกว่าจะมีรายได้ใหม่ รวมไปถึงความมั่นคงว่า ถ้าเราต้องจากไปอย่างกระทันหัน ครอบครัวเรา พ่อแม่เราจะยังมีรายได้หรือเงินก้อนเพื่อใช้ดูแลตัวเอง
ตัวนานิเองเคยเกือบรถชนเหมือนกัน แต่โชคดีที่อีกคันหักหลบทัน ถ้าชนคงแรงเพราะมากันเร็วทั้งคู่ วินาทีที่ได้ยินเสียงแตรแล้วรีบหักพวงมาลัยคืนนั้น มันวูบมาก คนเราต้องผ่านอะไรมาเยอะ กว่าจะเกิด กว่าจะโต จะเรียน จะทำงาน จะสร้างฐานะ ตั้งหลายปี แต่ถ้าจะตาย มันใช้วินาทีเดียวเท่านั้น ดังนั้นหยุดความคิดเหล่านี้เถอะว่า “ชีวิตช่วง 20-30 นี่ต้องเที่ยว ต้องใช้เงินสิ จะมาเอาแต่เก็บได้ไง”
“ลงทุนเป็นเรื่องของคนแก่”, “เดี๋ยวค่อยเก็บ - เดี๋ยวสามสิบแล้วค่อยเก็บ เดี๋ยวมีลูกแล้วค่อยเก็บ เดี๋ยวลูกโตแล้วค่อยเก็บ” คิดแบบนี้ไม่มีวันได้เก็บ ไม่มีวันพร้อม ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ยังเป็นวัยรุ่น หรือโตแล้วทำงานแล้ว ก็ต้องคิดเรื่องการบริหารเงิน และสิ่งที่คุณต้องมีก็คือ
1
โอ่งใต้ถุนบ้านหรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เอาไว้เก็บเงินสดจำนวนนึง เผื่อฉุกเฉิน เช่น ตกงาน หรือเจ็บป่วยหนักกระทันหัน เงินสดที่เก็บควรต้องจำนวนเท่ากับรายจ่ายประจำประมาณ 6 เดือน
2
สินค้าทางการเงินที่ความเสี่ยงต่ำ เอาไว้สร้างกระแสเงินสด เช่น ตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ ที่จะคอยให้ดอกเบี้ยเรา เช่น ถ้าเป็นหุ้นกู้ 5% 5 ปี ก็แปลว่าถ้าเราซื้อหุ้นกู้นี้เป็นเงิน 10,000 บาท เราจะได้ดอกเบี้ยปีละ 500 บาท เป็นเวลา 5 ปี แล้วปีที่ 5 เราจะได้เงิน 10,000 บาทคืน) และหุ้น Blue Chip ที่จ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ เงินดอกเบี้ยและปันผลเหล่านี้จะคอยเป็น Passive Income ให้เราได้
3
สินค้าทางการเงินหรือพอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาตามลำดับที่เรารับได้ เช่น กองทุน หุ้น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ (อันนี้เรียงจากเสี่ยงน้อยไปมาก) เราควรจะเลือกเสี่ยงน้อยหรือมากตามอายุและความรู้ของเรา ถ้าอายุน้อยและความรู้ประสบการณ์ทางการเงินมาก ก็สามารถเลือกใช้สินค้าที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเพื่อเป็นการเร่งผลตอบแทน พอร์ตส่วนนี้ก็เน้นกำไรแบบส่วนต่างราคาหรือ Capital Gain ไป (เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาทแล้วขายที่ 15 บาท ก็ได้ Capital Gain 5 บาทไป) ได้กำไรมาแล้วก็อย่ามัวแต่ยิ้มแล้วเอาไปใช้นะคะ ถ้ายังไม่จำเป็นก็เอากำไรตรงนี้กลับมาลงทุนต่อ พอร์ตเราจะได้โตอย่างก้าวกระโดดนั่นเอง
ตอนแรกนานิคิดว่า ชีวิตไม่เหมือนละครนะ เพราะละครเดี๋ยวนี้ดูใน YouTube มันก็กรอไปกรอมาได้ ถ้าดูตอนจบแล้วคิดถึงตอนฟินๆ ก็ย้อนกลับไปดูใหม่ได้ แต่ชีวิตเราไม่มีปุ่มให้คอยเลื่อน ละครส่วนมากมี 12-14 ตอนจบ แต่ชีวิตเราอาจจะจบภายในตอนเดียว จะสามตอนหรือยี่สิบตอนไม่มีใครรู้
ดังนั้นจงอย่าใช้ชีวิตอยู่บนความประมาทและถ้ามีฉากชีวิตไหนฟินๆ ก็อย่าลืมดื่มด่ำกับมันให้เต็มที่ เพราะเราจะย้อนกลับมาไม่ได้แล้วนะคะ นานิขอเป็นกำลังใจให้วัยรุ่น และหนุ่มสาวอายุน้อยทุกคนได้เริ่มบริหารเงินเพื่ออนาคตกันค่ะ