เพื่อนๆ ที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่อาจมีเรื่องให้ “หนักใจ” หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การสอบวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง เงินๆ ทองๆ ที่หากเราหมุนเงินไม่ทันเราอาจเรียนไม่จบ เพราะแทนที่จะทุ่มเทกับการเรียนเราต้องคอยกังวลเรื่องการเงิน ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน มาดูกันดีกว่าครับว่า นักศึกษาปริญญาโทควรมีแผนทางการเงินอย่างไรบ้าง
แผนที่ 1 “วางแผนสำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อ”
แผนนี้สำหรับคนที่คิดอยากจะเรียนต่อ แต่ยังทำงานประจำอยู่ เราควรคำนวณเงินที่น่าจะใช้ระหว่างเรียนต่อปริญญาโทไว้ล่วงหน้าและเก็บเงินสดสำรองไว้เพื่อการเรียนโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเรียนต่อในสาขาบริหารธุรกิจที่มีค่าเทอมราว 100,000 บาทต่อเทอม และใช้ระยะเวลาในการเรียนรวม 4 เทอม เราก็ควรเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 4 แสนบาทก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อ เงินก้อนนี้ยังไม่นับค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน ค่าหนังสือ ค่าทำรายงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่หากเราไม่อยาก “รอนาน” มาดูแผนที่ 2 กันดีกว่าครับ
แผนที่ 2 “วางแผนทางการเงินสำหรับคนที่จะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย”
หากเรารอไม่ไหว และเราคิดว่าสามารถบริหารจัดการเวลาที่จะทำให้สามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ แบบนี้เราอาจเก็บเงินสำรองเพียงแค่ 1 ใน 4 ของค่าเทอม เพื่อไม่ให้เกิดการ “สะดุด” ตั้งแต่เริ่มต้นในตอนจ่ายค่าเทอม ระหว่างนั้นเราต้องคำนวณกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในแต่ละเดือน (ก็คือเงินเดือนนั่นเอง) ว่าเพียงพอต่อการจ่ายค่าเทอมในเทอมต่อๆ ไปหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือน 3 หมื่นบาทต่อเดือน กับค่าเทอม 1 แสนบาทต่อครึ่งปี (1 เทอม) หมายความว่าเราต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน หรือตกราว 50% ของเงินเดือนนั่นเองครับ
แผนที่ 3 “วางแผนการกินการใช้จ่ายระหว่างเรียน”
นอกจากค่าเทอมที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของการเรียนต่อปริญญาโทแล้ว ค่ากิน ค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน ค่าเดินทางไปยังมหาวิทยาลัย ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องวางแผนไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรากินอยู่ตกเดือนละ 5 พันบาท ค่าเดินทางไปมหาวิทยาลัยตกเดือนละ 3 พันบาท ค่าหนังสือ-เอกสารในการเรียนต่อ ตกเดือนละ 2 พันบาท หมายความว่า เราต้องเผื่อเงินค่าใช้จ่ายต่อเดือนราวๆ 1 หมื่นบาท ถ้าคิดตลอดช่วงที่เราเรียนจนจบ 2 ปี ต้องใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายในหมวดนี้กว่า 2.4 แสนบาทต่อ 2 ปีครับ
แผนที่ 4 “วางแผนเงินกู้ส่วนบุคคล”
อย่างที่ได้กล่าวไปในแผนที่ผ่านมาข้างต้น เราจะพบว่าค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างสูง หากเรารวมเอาค่าเทอมกับค่าใช้จ่ายทั่วๆ ไป เราต้องใช้เงินในการศึกษาต่อสูงกว่า 5 แสนบาทหรือมากกว่าในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่เราต้องศึกษาต่อจนจบการศึกษา แต่การศึกษาเล่าเรียนถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่จะ “คุ้มค่า” ในอนาคต เพราะปริญญาโทหนึ่งใบอาจทำเงินให้เราเป็นล้าน หรือหลายล้าน ถ้ามันสามารถ “ต่อยอด” ชีวิตของเราได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้เราวางแผนที่คิดว่าครอบคลุมทุกการใช้จ่ายแล้วแต่เมื่อเจอกับเหตุการณ์จริงๆ เราอาจสะดุดกับค่าใช้จ่ายที่เราไม่คาดคิดก็มีครับ
"เราควรมีวินัยในการจ่ายเงินค่างวดอย่างเคร่งครัดในกรณีของการกดบัตรเงินสด และไม่ควรจ่ายขั้นต่ำถ้าเราไม่จำเป็นจริงๆ ในกรณีที่เรารูดเงินบัตรเครดิต"
ดังนั้นการวางแผนเงินกู้ส่วนบุคคลจึงสำคัญเช่นกัน ในกรณี “ฉุกเฉิน” เราสามารถมีบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตธรรมดาไว้ใช้รูดเงินมาใช้ก่อนได้ครับ แต่อย่าลืมครับว่าการกดเงินสดนั้นมี “ดอกเบี้ย” ที่เราจะต้องจ่ายให้ครบตามกำหนด แนวทางก็คือเราควรมีวินัยในการจ่ายเงินค่างวดอย่างเคร่งครัดในกรณีของการกดบัตรเงินสด และไม่ควรจ่ายขั้นต่ำถ้าเราไม่จำเป็นจริงๆ ในกรณีที่เรารูดเงินบัตรเครดิต นะครับ
แผนที่ 5 “แผนทางใจของนักศึกษาปริญญาโท”
อย่างที่เรารับทราบกันดีกว่าการศึกษาเรียนต่อนั้นเราต้องใช้ “แรงใจ” เป็นอย่างมาก กว่าจะจบการศึกษาบางคนเลือดตาแทบกระเด็น สิ่งที่ผมอยากจะฝากเอาไว้ก็คือ “การรู้จักอดทนเพื่ออนาคต” เพราะคนที่คิดจะเรียนต่อปริญญาโทหมายความว่าคนๆ นั้นมีแผนการที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเราได้ “เริ่มต้น” ก้าวขาเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วเราต้องคิดแต่ทางที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น มีคนเคยบอกผมไว้ว่า “แค่เราคิดว่าสำเร็จ ก็ประสบความสำเร็จไปแล้ว” ผมขอเป็นกำลังให้ทุกคนที่มีความฝันอยากจะพัฒนาตนเอง อยากจะประสบความสำเร็จทางการศึกษา และหน้าที่การงานให้มีแรงกาย-แรงใจที่ดี และประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจไว้นะครับ
“แค่เราคิดว่าสำเร็จ ก็ประสบความสำเร็จไปแล้ว”