เงินเฟ้อ คือ ?? … คำถามสั้น ๆ แสนเรียบง่าย ที่หลายคนอยากรู้คำตอบ
แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรดี เพื่อให้อยู่รอดในภาวะเงินเฟ้อหล่ะ?
เมื่อน้ำมันขึ้นราคาสูง ข้าวของก็ราคาสูง จะซื้อหรือจะออกเดินทางไปไหนสักที่ต้องคิดหนัก และนี่คงเป็นสิ่งที่วันนี้ทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เป็นแบบนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะ
“เงินเฟ้อ”
โดยเรามาเริ่มจากการทำความรู้จักกับความหมายของเงินเฟ้อ คืออะไร กันสักเล็กน้อย
เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่สินค้าหรือบริการมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า และถ้าหากว่าเราลองนำสินค้าในแต่ละช่วงเวลามาเปรียบเทียบกันก็จะกลายเป็น “
อัตราเงินเฟ้อ”
หรือยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ในปี 2564 ข้าวกะเพราหมูสับจานละ 50 บาท ต่อมาในปี 2565 ข้าวกะเพราหมูสับจานเดิมกลับขึ้นราคาเป็น 55 บาท นั่นก็แปลว่าในปี 2565 มีอัตราเงินเฟ้อ สูงถึง 10% หมายความว่าถ้าเรามีเงิน 50 บาทในปี 2565 เราก็จะเสียมูลค่าลดลงไปกว่า 10% เลยทีเดียว และเมื่ออัตราเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ก็จะยิ่งมีราคาเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกด้วย
เมื่อรู้แล้วว่า เงินเฟ้อ คืออะไร เรามาดูต่อที่สาเหตุของเงินเฟ้อกัน
ซึ่งมี สาเหตุหลัก ๆ มีอยู่ 2 ประเภทคือ
- Cost-push Inflation ราคาสินค้าแพงขึ้น จากต้นทุนที่แพงขึ้น อาทิ วัตถุดิบแพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น รวมไปถึงค่าแรงที่สูงขึ้น
- Demand-pull Inflation ราคาสินค้าแพงขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น อาทิ การระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ความต้องการของหน้ากากอนามัย หรือแอลกอฮอล์ล้างมือเพิ่มขึ้น สินค้าพวกนี้เลยมีราคาสูงขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้นหากเราตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้ออ่อน ๆ ก็จะเปรียบเหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในทางที่ดี ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้น ก็จะรีบซื้อตั้งแต่วันนี้ ส่วนของการผลิตก็ต้องผลิตมากขึ้น จ้างงานมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น
รวมไปถึงการกระตุ้นให้เรานำเงินไปออม หรือลงทุนมากขึ้น เพราะหากเราเก็บเงินไว้กับตัว มูลค่าก็จะลดลงเรื่อย ๆ หรือแม้แต่กลุ่มลูกหนี้ได้ประโยชน์จากการกู้เงิน เพราะเงินต้นที่จะนำไปคืนในอนาคตจะมีมูลค่าลดลง
แต่เมื่อไรก็ตามที่เราตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อที่ผันผวนมาก ๆ จนไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูก ก็จะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจได้ เช่น ผู้บริโภคกลัวว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้นมาก จนไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ลูกจ้างขอขึ้นค่าแรงจนเจ้าของกิจการขาดทุน หรือต้องปรับราคาจนทำให้ราคาสินค้าผันผวน จนนำไปสู่การเลิกจ้างที่เพิ่มขึ้นได้
เมื่อเงินเฟ้อกลายเป็นสิ่งที่ต้องรับมือ เรามาดูขั้นตอนง่าย ๆ ด้วย 4 ขั้นตอนนี้กัน
1. วางแผนการออมเงิน
เริ่มจากนำส่วนหนึ่งไปฝากธนาคาร โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อมากเท่าไหร่ การจะจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนอะไรก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าช่วงเศรษฐกิจปกติ ทำให้
การออมเงินถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแห่งความปลอดภัย ซึ่งการออมเงินแบบฝากประจำจะได้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง
การออมเงินในรูปแบบนี้มี 2 รูปแบบ
รูปแบบ 1. การฝากประจำที่ฝากเงินเพียงครั้งเดียว โดยมีระยะเวลาที่กำหนดให้เลือกได้โดย เริ่มจากฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน ไปจนถึง 36 เดือน โดยเราจะต้องฝากเงินไว้จนถึงเวลาที่กำหนดจึงสามารถถอนเงินออกมาได้พร้อมดอกเบี้ย หรือเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ยังไม่ถอน ก็สามารถนำเงินต้นและดอกเบี้ยฝากต่อไปได้ หรือจะถอนเพียงดอกเบี้ยอย่างเดียวโดยนำเงินต้นฝากไว้อย่างเดิมก็ได้เช่นกัน
รูปแบบที่ 2. การฝากเงินแบบฝากประจำทุกเดือน โดยเราจะต้องฝากเงินเข้าบัญชีทุกเดือนในจำนวนที่เท่ากันกับจำนวนเงินที่เปิดบัญชี และต้องฝากให้ครบตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด เช่น 6 เดือน, 24 เดือน หรือ 36 เดือน เมื่อครบกำหนด จึงจะสามารถถอนเงินออกได้พร้อมดอกเบี้ย
เปรียบเทียบทั้ง 2 รูปแบบง่าย ๆ คือการนำเงินก้อนไปฝาก กับการทยอยฝากเงินด้วยจำนวนที่เท่า ๆ กันทุกเดือนนั่นเอง
2. วางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด
นั่นก็คือการเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และพยายามลดต้นทุนของชีวิตประจำวันเพื่อให้พอดีกับ
เงินเดือน อาทิ การทำอาหารการกิน การทำอาหารรับประทานเองประหยัดเงินมากกว่าการซื้อกินแต่ละมื้อ รวมไปถึงการเดินทาง ในภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะอาจจะประหยัดเงินได้มากกว่ารถยนต์ส่วนตัว หรือการเดินทางสำหรับครอบครัวพยายามปรับเปลี่ยนให้สามารถเดินทางออกจากบ้านด้วยกันในครั้งเดียว ส่วนนี้อาจจะช่วยประหยัดค่าน้ำมันลงไปได้
อีกทั้งการจดบันทึกรายรับรายจ่าย ก็สามารถช่วยเราคำนวณเงินที่เราจะใช้ในแต่ละช่วงเวลา และควบคุมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้
3. วางแผนซื้อของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็น
แน่นอนว่าเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็จะราคาสูงขึ้น อาทิ ทีวี ตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทำให้เราอาจจะต้องเสียจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นไปกับสิ่งของพวกนั้น แต่เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะต้องซื้อเราอาจจะต้องตัดสินใจซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านั้นให้มากขึ้น และเพื่อไม่ให้ได้ราคาที่มันสูงขึ้นไปจากเดิมมาก
4. วางแผนหาอาชีพเสริมที่เราถนัด
ก่อนอื่นเลยเราอาจจะปรับเปลี่ยนมุมมองนำเอางานอดิเรกที่ถนัดมาเป็น
อาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็น นักเขียนบทความออนไลน์ นักวาด นักออกแบบ งานฝีมือต่าง ๆ หรือแม้แต่การปลูกต้นไม้ อาชีพเหล่านี้อาจจะใช้ต้นทุนที่ไม่สูงนัก และมักสามารถทำผ่านโลกออนไลน์ได้อีกด้วย ทำให้เหมาะกับการหารายได้เสริมไปพร้อม ๆ กับงานอดิเรกที่เราถนัดอีกด้วย หรือสำหรับบางคนแล้วอาจจะลงคอร์สเรียนออนไลน์เพิ่มเติมด้านต่าง ๆ ที่ตัวเองสนใจเพื่อต่อยอดการหารายได้เสริม เช่น ลงคอร์สทำขนมออนไลน์ ลงคอร์สด้านเทคโนโลยี UX UI ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้เสริม
และนี่เป็นเพียง 4 ขั้นตอนนี้ง่าย ๆ เท่านั้น ที่ช่วยทำให้เราวางแผนรับมือกับเงินเฟ้อและเอาตัวรอดได้ง่าย ๆ แล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราจะพอรู้กันแล้วว่า เงินเฟ้อคืออะไร อัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างไร คงเห็นผลกระทบต่อเราไม่มากก็น้อย ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และวางแผนรับมือไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน คิดก่อนช้อป หรือวางแผนหาอาชีพเสริม ก็จะทำให้การเงินของเราไปต่อไม่มีสะดุดนั่นเอง
แล้วสถานการณ์เงินเฟ้อ แบบนี้ที่ทำให้กระเป๋าตังค์เบาหวิว งานหาย กำไรหด เป็นกระกวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมั้ย ข้อสงสัยเหล่านี้ Krungsri The Coach มีคำแนะนำรอให้ฟังแล้วในคลิป “ข้าวของแพง เงินเฟ้อ เราต้องรอด”