ออมเงินเป็น จัดการเงินได้ เขาทำกันอย่างไร
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ออมเงินเป็น จัดการเงินได้ เขาทำกันอย่างไร

icon-access-time Posted On 13 กันยายน 2558
By Krungsri the COACH
การจัดการบริหารเงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราทุกคน แต่ว่าบางครั้งบางที เหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นผลลัพธ์ได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน พอจะเก็บเงิน ก็มีเรื่องต้องใช้จ่าย พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็เหมือนจะมีเหตุฉุกเฉินรุมเร้าทำให้เราต้องนำเงินที่อุตส่าห์เก็บแทบตายออกมาใช้ เท่ากับเริ่มใหม่หมด
ด้วยความที่คนส่วนใหญ่ มักจะออมเงินด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น การฝากเงินกับธนาคาร โดยเปิดบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาเพราะผู้ใหญ่สอนมา แต่ในปัจจุบันนี้มีวิธีการออมเงินที่ไม่เพียงเก็บเงินต้นของเราไว้ครบถ้วน แถมยังสามารถทำให้เงินต้นที่เราฝาก สามารถงอกเงยด้วยตัวเองได้อีกด้วย ดังนั้นการวางแผนการเงินให้ดีเป็นสิ่งสำคัญ
การบริหารจัดการเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ เพียงแค่เรานำเอาเคล็ดวิธีการออมเงินง่าย ๆ ดังต่อไปนี้มาใช้งาน

1. ออมก่อนใช้

 
คนเราส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเงินออมมาจากเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายทั้งเดือนแล้ว แต่วิธีที่ถูกต้องหากเราต้องการสร้างเงินออม จัดการเงินออมให้เหมาะสม คือ เมื่อเราได้เงินเดือน ให้แบ่งเงินส่วนที่จะออมเอาไว้ก่อนแล้วฝากธนาคารทันที ส่วนเงินที่เหลือค่อยนำมาใช้จ่ายให้พอเพียงในเดือนนั้น
วิธีการง่าย ๆ เราสามารถเปิดบัญชีฝากประจำกับธนาคารที่เราใช้บริการอยู่ แล้วแจ้งความจำนงว่าเราต้องการให้มีการตัดยอดจากบัญชีเงินเดือนของเรา เป็นจำนวนตามที่เรากำหนด (อาจจะ 1,000-2,000 บาทก็แล้วแต่เรา) นำเข้าฝากบัญชีฝากประจำที่เราเปิดไว้โดยอัตโนมัติ
ทีนี้พอเงินเดือนเข้าเมื่อไหร่ เงินส่วนนี้ก็จะได้รับการเก็บออมในทันที ให้ทั้งความสะดวก และทำให้เราไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อโอนเงินด้วยตัวเองอีกด้วย
สูตรการคำนวณอัตราการออมเงิน
อัตราการออมเงิน = (1 – ค่าใช้จ่าย/รายได้) x 100

ตัวอย่าง

หากคุณมีรายได้เฉลี่ย (ทั้งจากงานประจำ และงานเสริม) เดือนละ 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 20,000 บาท ตามสูตรแล้วก็จะมีอัตราการออมอยู่ที่ 33% อีก 5 ปีต่อมาคุณมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่ 45,000 บาท ก็เท่ากับว่าคุณจะมีอัตราการออมที่ 10% เท่ากับว่าคุณมีอัตราการออมที่เป็นบวก เพราะว่าคุณสามารถหารายได้ได้มากกว่า และทันกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ว่ามีอัตราการออมลดลงจาก 33% เหลือ 10% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี เพราะหากเราปล่อยเอาไว้นาน ๆ แบบนี้แม้จะมีรายได้ดี แต่เท่ากับว่าคุณแทบไม่มีเงินออมเพิ่มขึ้นตามรายได้เลย

2. จัดสรรเงินออม

 
เราจะต้องทำการจัดสรรเงินออมให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเราสามารถแบ่งเงินออมออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เงินเพื่อใช้จ่าย เงินเผื่อฉุกเฉิน และเงินเพื่อลงทุน โดยเงินออมแต่ละกองก็จะมีหน้าที่ของตัวมันเอง
เงินออมรวม = เงินเพื่อใช้จ่าย + เงินออมเผื่อฉุกเฉิน + เงินออมเพื่อการลงทุน
เงินเพื่อใช้จ่าย จะเป็นเงินกองที่มีไว้เพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้กับชีวิตประจำวันของเรา เงินส่วนนี้เราจะสามารถนำมาใช้สำหรับการผ่อนจ่ายหนี้บัตรเครดิต ชำระค่าใช้จ่ายประจำเดือนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ค่าผ่อนสินเชื่อต่าง ๆ เป็นต้น โดยเราจะต้องสามารถเข้าถึงเงินกองนี้ได้ทันที ควรมีจำนวนพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน
เงินออมเผื่อฉุกเฉิน จะต้องเป็นเงินที่เราเข้าถึงได้ เพื่อที่จะสามารถนำออกมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีปัญหาด้านการงาน เกิดอุบัติเหตุทำให้ไปทำงานไม่ได้ เกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง ฯลฯ ทำให้เราไม่สามารถไปทำงานได้และเสียรายได้ประจำ โดยเงินกองนี้ควรจะมีจำนวนเท่ากับเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เราใช้เป็นประจำรวมกัน 6 เดือน หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ต้องลำบากอย่างน้อยเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนนั่นเอง
เงินออมเพื่อการลงทุน เป็นเงินกองที่เราจะสามารถนำมาต่อยอดความมั่งคั่งให้กับตัวเอง กองนี้จะต้องเป็นเงินเย็น ซึ่งเป็นเงินที่เราสามารถนำไปใช้สำหรับการลงทุนระยะยาวได้ โดยเราจะต้องไม่ไปยุ่งกับเงินส่วนนี้จนกว่าจะถึงกำหนดปันผล หรือถึงกำหนดขายคืนกองทุน (อย่าลืมว่าการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ดังนั้นเราควรศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจ)

3. การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

 
สิ่งสำคัญในการออมเงิน จัดการเงินอีกอย่าง คือ การที่เราสามารถรู้ได้ว่าเงินเข้า-เงินออกมีอะไรยังไง ค่าอะไร และเท่าไหร่บ้าง
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ก็ง่ายเหมือนที่คิดเลยครับ คือ เพียงแค่ซื้อสมุดเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งมาพกเอาไว้กับตัว ไม่ว่าจะซื้ออะไรไป ก็ให้จดเอาไว้ให้หมด เพื่อที่เราจะได้นำมาคำนวณได้ว่าเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง จำเป็น-ไม่จำเป็นแค่ไหน อย่างไรนั่นเอง
ข้อดีของการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
การควบคุมค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราจะสามารถเห็นได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนว่าเราใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับอะไรบ้าง เท่าไหร่ และหากเราฝืนใจไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยเหล่านี้ เราจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปออมแทนได้เท่าไหร่บ้างนั้นเอง

4. การวางแผนการใช้เงินรายวัน

 
หากเราต้องการจัดการเงิน และออมเงินอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อีกวิธีที่เราสามารถนำมาใช้ได้ คือ การวางแผนการใช้จ่ายรายวันในแต่ละเดือน เมื่อเราได้เงินเดือนมา ให้เราหักเงินออม และค่าใช้จ่ายประจำเดือนออก ส่วนเงินที่เหลือก็คือ เงินส่วนที่เราเก็บเอาไว้ใช้รายวันนั่นเอง วิธีคิดก็ง่าย ๆ ครับ เพียงแค่นำจำนวนเงินที่เหลือส่วนนี้มาหารด้วย 30 เราก็จะได้จำนวนเงินที่เราใช้รายวันได้นั่นเอง

ตัวอย่าง

เงินเดือน 30,000 บาท/เดือน
เงินออม 5,000 บาท
ค่าเช่า 10,000 บาท
ค่าน้ำ+ค่าไฟ 1,500 บาท
ค่าโทรศัพท์ 900 บาท
ค่าผ่อนของใช้อื่น ๆ 4,000 บาท
30,000 - (5,000+10,000+1,500+900+4,000) = 8,600 บาท
8,600 บาท/30 วัน = เราจะมีเงินใช้ต่อวันได้ประมาณ 287 บาท/วัน
หากคิดว่าเงินส่วนนี้จะเป็นเงินสำหรับค่ารถ ค่ากิน ค่าน้ำ ค่ากาแฟ แล้วก็ไม่น้อยเกินไปเลยนะครับ หากเราใช้เงินรายวันเหลือ เราก็สามารถนำเงินที่เหลือหยอดกระปุกได้อีก ถึงเวลาพอหยอดกระปุกได้เยอะแล้วก็สามารถนำไปฝากธนาคาร เป็นการออมงินได้อีกทางหนึ่งด้วย
การออมเงิน จัดการเงิน ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่เราสร้างวินัยในการออมเงินที่ดี ทำตามแผนที่เราวางเอาไว้ ไม่กี่ปีเราก็จะสามารถมีเงินออม เงินเก็บ และมีนิสัยการบริหารเงินที่ดีได้อย่างแน่นอน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา