อยากเก็บเงิน ฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ อันไหนใช่กว่า
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

อยากเก็บเงิน ฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ อันไหนใช่กว่า

icon-access-time Posted On 07 สิงหาคม 2565
by Krungsri The COACH
หากเรามีเงินก้อนอยู่จำนวนหนึ่ง และรู้สึกอยากเก็บเงินแต่ก็ต้องการให้เงินได้งอกเงยจากผลตอบแทนต่าง ๆ เช่นกัน หรือแม้แต่หลาย ๆ คนเองคงเกิดคำถามแน่ ๆ ว่าหากเรานำเงินเหล่านี้ไปฝากธนาคารแล้วจะคุ้มไหม? แล้วตัวเลือกไหนที่จะทำให้เราได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เพราะแน่นอนว่าเราคงไม่ต้องการความเสี่ยงจากเงินที่มีอยู่ ฉะนั้นแล้วอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้การฝากเงินเลยก็คือ “ประกันสะสมทรัพย์"

เราขอเชิญทุก ๆ ท่านที่กำลังสงสัยในเรื่อง ฝากเงินธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ อ่านบทความนี้จนจบ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่เหมาะกับตัวเรามากยิ่งขึ้น
 
อยากเก็บเงิน ฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ อันไหนใช่กว่า

เริ่มจากเรื่องของ “ฝากเงินธนาคาร” กันก่อนดีกว่า อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าการฝากเงินธนาคารนั้นมีหลัก ๆ อยู่ 2 รูปแบบ คือ
  • เงินฝากออมทรัพย์ เป็นการฝากที่ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และมักจะทำพร้อมกับบัตรเอทีเอ็ม โดยสามารถนำเงินออกมาได้ง่าย หรือแม้แต่จะหักเงินเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ได้ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ
  • เงินฝากประจำ เป็นการฝากเงินที่ตามกำหนดระยะเวลาทั้งฝากและถอนที่แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์

แน่นอนว่าปัจจัยหลักของการฝากเงินคือความปลอดภัย และดอกเบี้ยเงินฝากที่เราได้รับ ซึ่งในปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี หรือถ้าหากเรานำเงินจำนวน 1,000,000 บาท ไปฝากธนาคาร เมื่อครบปีดอกเบี้ยที่เราได้รับก็จะประมาณราว ๆ 10,000 บาท (ไม่รวมการหักภาษี)
 
อยากเก็บเงิน ฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ อันไหนใช่กว่า

ต่อมาเรามาลองดูกันที่ประกันสะสมทรัพย์ แน่นอนว่าเราคงเคยได้ยินผ่าน ๆ เรื่องที่ประกันสะสมทรัพย์จะได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากกันมาบ้างแล้ว และผลตอบแทนของประกันสะสมทรัพย์ก็มาจากการที่เรานำทุนประกันชีวิตตั้งต้นที่เราจะได้รับจากประกันสะสมทรัพย์ หรือทำความเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นประกันที่ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีจากเงินต้นของเรานั่นเอง

ซึ่งหน้าที่หลัก ๆ ของประกันสะสมทรัพย์ คือ
  • การให้ความคุ้มครองที่จะจ่ายเป็นเงินทุนประกันหากผู้รับกรมธรรม์เสียชีวิต เงินทุนประกันก็จะชดเชยให้ญาติหรือคนในครอบครัวของผู้รับกรมธรรม์
  • เมื่อครบสัญญาประกันเงินทุน และผลตอบแทนนั่นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น หากเรามาลองคำนวณผลตอบแทนที่ได้จริง ๆ อาจไม่ได้มากไปกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ เลย

อย่างไรก็ตามทั้งสองทางเลือกนี้ก็เป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งคู่ เพราะฉะนั้นแล้วเรามาดูถึงความแตกต่างระหว่าง ฝากเงินธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ ด้วยตารางด้านล่างนี้
รายละเอียด ฝากเงินธนาคาร ประกันสะสมทรัพย์
ด้านผลตอบแทน ดอกเบี้ยตั้งแต่ 0.25% - 1% แล้วแต่เงื่อนไขกรมธรรม์ โดยส่วนใหญ่แล้วเฉลี่ยจนครบอายุประกันจะได้รับผลตอบแทน 2.5%
ด้านสภาพคล่อง มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ (ยกเว้นกรณีเงินฝากประจำ) สภาพคล่องน้อย ต้องรอจนครบอายุกรมธรรม์ถึงจะได้รับเงินทุนประกันคืน หากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้ 
ด้านระยะเวลา
  • ฝากออมทรัพย์ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • ฝากประจำ ตามกำหนดระยะเวลาทั้งฝากและถอนที่แน่นอน
ส่วนใหญ่แล้วชำระค่าเบี้ยจนครบ 5 ปี และรอเวลาครบอายุสัญญาประมาณ 10 ปี ถึงจะได้รับเงินทุนประกันและผลตอบแทนคืน 
ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินฝากออมทรัพย์หากเกิน 20,000 บาทต่อปี อีกทั้งรวมทุกบัญชีของทุกธนาคารแล้ว จำเป็นจะต้องเสียภาษี 15% สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสูงสุด 100,000 บาท 
ด้านความคุ้มครอง ไม่มีความคุ้มครองใด ๆ เกี่ยวกับร่างกาย คุ้มครองเพียงแค่จำนวนเงินฝากของเรา  มีการคุ้มครองชีวิต หากเกิดเหตุไม่คาดฝันต่อตัวเราจะชดเชยเงินให้ครอบครัวของเรา 
ด้านความเหมาะสม เหมาะกับคนที่ต้องการสภาพคล่องทางด้านการเงิน สามารถหยิบเงินออกมาใช้ได้ตลอดเวลา เหมาะกับคนที่ “มีเงินเย็น” และต้องการความมั่นคงในชีวิต โดยสามารถรอผลตอบแทนระยะยาวราว ๆ 10 ปี โดยที่เราไม่ต้องการใช้เงิน เพราะประกันสะสมทรัพย์ถือเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนได้
และนี่ก็เป็นข้อเปรียบเทียบที่เรานำมาให้ทุก ๆ ท่านได้พิจารณาตามความเหมาะสมของตัวเอง อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องลองเช็กสุขภาพทางการเงินของเราก่อนตัดสินใจที่จะเลือกฝากเงินธนาคารหรือเลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์
 
อยากเก็บเงิน ฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ อันไหนใช่กว่า

โดยวิธีเช็กสุขภาพการเงินของเราหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 3 วิธี

  1. พิจารณาอัตราส่วนสภาพคล่องของการเงินเรา โดยเราจะต้องพิจารณาจำนวนเงินที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเงินที่เราหวังจะสามารถใช้สำรองฉุกเฉินได้ อีกทั้งเราอาจจะมองดูจากสินทรัพย์ที่เรามีว่าสามารถแปลงมูลค่าของสินทรัพย์ไปเป็นเงินสดได้หรือไม่ โดยที่มูลค่าเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก เช่น มีที่ดินทำเลดี ๆ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถขายได้ทันทีโดยที่ราคาไม่ตก
  2. พิจารณาส่วนภาระหนี้สิน หากเรามีหนี้สินค่อนข้างสูง หรือหากในเดือนหนึ่งเราจำเป็นจะต้องเสียเงินกับหนี้สินมากกว่า 50% ของรายได้ เราอาจจะต้องพิจารณาเลือกการฝากเงินแทน เพราะสภาพคล่องดีกว่าแน่นอน หากเกิดเหตุฉุกเฉินจากภาระหนี้สินเราจะได้มีเงินที่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปได้
  3. พิจารณาส่วนของการลงทุน หากเราเป็นนักธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียนอยู่แล้ว เราอาจจะต้องเลือกการฝากเงินเพื่อที่จะให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน และหากมีเงินเหลืออาจจะซื้อประกันสะสมทรัพย์ไว้เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้เราในอนาคต และถ้าหากเรามีเงินจำนวนมากจากการลงทุนซึ่งส่งผลให้การเงินของเราเกิดสภาพคล่อง เราก็สามารถตัดสินใจเลือกได้ทั้งฝากเงินธนาคาร และเลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์ไว้อีกได้เช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้นมารวบรวม พร้อมทั้งเราเช็กสุขภาพการเงินของเราไปด้วย เราก็จะสามารถเลือกช้อยส์ที่ใช่เลือกการเก็บเงินที่ชอบได้ โดยไม่เกิดความลังเลอีกต่อไปนั่นเอง…
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา