จัดการเงินเดือนชนเดือน หมุนเงินไม่ทัน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

จัดการเงินเดือนชนเดือน หมุนเงินไม่ทัน

icon-access-time Posted On 09 กุมภาพันธ์ 2566
by สิรภัทร เกาฏีระ CFP®, AISA
“ชักหน้าไม่ถึงหลัง” และ “หมุนเงินไม่ทัน” เป็นคำที่เราคุ้นหูกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ รายได้ที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้เกิดกับคนที่มีนิสัยใช้จ่ายเกินตัวเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว หรือมีเงินเก็บที่เพียงพอ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็น การขาดรายได้กระทันหัน เช่น การตกงาน / ไม่มีงานทำ เจ็บป่วยไปทำงานไม่ได้ นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดภาวะขาดสภาพคล่องหมุนเงินไม่ทันแล้ว ถ้าไม่มีเงินสำรอง หรือมีคนอื่นมาช่วยให้เรายืมเงิน เราก็จำเป็นจะต้องพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินนั่นเอง การพึ่งพาเงินกู้ถ้าหากเราไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีอาจจะนำมาพาปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวมาให้เราได้อีกด้วย

แนวทางการจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อให้ “หมุนเงินทัน”

 
วางแผนทางการเงิน

เตรียมเงินสำรองให้พร้อมเสมอ

ในภาวะปกติเราควรจะมีการเก็บเงินสำรองเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำอย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อป้องกันกรณีที่เราขาดรายได้ รวมถึงเผื่อไว้ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นด้วย โดยเงินส่วนนี้ควรเก็บไว้ในเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง หรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง

ทำประกันต่าง ๆ

ทำประกันให้คลอบคลุมความเสี่ยง เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายพิเศษที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีต่าง ๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ รวมถึงประกันทรัพย์สินต่าง ๆ ด้วย

ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

โดยการปรับเปลี่ยนนิสัยในการใช้จ่าย ซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกลำบากมากขึ้น แต่ถ้าเราทำได้ในภาวะปกตินั้นจะทำให้เรามีเงินเก็บที่มากขึ้น และในภาวะที่เราขัดสนหมุนเงินไม่ทันเรายิ่งจำเป็นที่จะต้องตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด ในบางกรณีอาจจะถึงขั้นที่ต้องลดค่าใช้จ่ายลงให้เหลือเพียงค่าใช้จ่ายจำเป็นจริง ๆ เท่านั้นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การลดความถี่ในการกินข้าวนอกบ้านลง หรือลดปริมาณอาหารลงเพื่อควบคุมน้ำหนัก (ได้สุขภาพที่ดีด้วย) เป็นต้น
 
หารายได้เสริม

หารายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้ประจำ

การมีรายได้เสริมเป็นการทำให้เรามีรายรับที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิต เปิดโอกาสให้กับตนเองได้พบกับสังคมใหม่ ๆ รูปแบบการทำงานใหม่ ๆ และอาจจะต่อยอดกลายเป็นงานประจำที่สร้างรายได้ดีกว่างานประจำที่ทำอยู่ก็เป็นได้

ห้ามพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ

หากลดค่าใช้จ่ายก็แล้ว หารายได้เพิ่มก็แล้ว ยังไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน เราก็ต้องพึ่งพาแหล่งเงินอื่นไม่ว่าจะเป็นการยืมหรือการกู้ ซึ่งหากเราต้องเป็นหนี้แล้วนั้น การกู้หนี้จากภายนอกหรือเรียกว่าหนี้นอกระบบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการกู้เงินนอกระบบนั้นสามารถกู้ได้ง่าย แต่ก็ต้องแลกมากับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปนี้จะทำให้เกิดปัญหาหนี้สิ้นพอกพูนจนนำไปสู่ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวได้ นอกจากนี้กระบวนการทวงหนี้นอกระบบนั้นแม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนด แต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าจะไม่มีการข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกายลูกหนี้ได้ เราไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบจะเป็นการดีกว่า
 
เลือกสินเชื่อให้เหมาะสม

เลือกสินเชื่อให้เหมาะสม

ถ้าหากเราเพิ่มรายได้ก็แล้ว ลดค่าใช้จ่ายก็แล้ว ยืดระยะเวลาชำระเงินก็แล้ว ยังไม่มีเงินเพียงพออยู่ดี หนทางสุดท้ายของเราก็คือการกู้เงินกับสถาบันการเงิน แต่การกู้เงินกับสถาบันการเงินนั้นเราจะต้องพิจารณาด้วยว่าจะเลือกใช้สินเชื่อประเภทใดด้วย โดยเราสามารถแบ่งสินเชื่อออกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. แบบมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ การจำนำสิ่งของ
  2. แบบไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล

ซึ่งสินเชื่อที่มีหลักประกันดอกเบี้ยจะถูกกว่าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และระยะเวสลาในการผ่อนชำระที่นานกว่า ดังนั้นเราจะต้องเลือกการก่อหนี้ให้เหมาะสมด้วย ตัวอย่างเช่น เราขาดเงินหมุนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ถึง 2 เดือน ก็จะได้โบนัสแล้ว เราก็ควรใช้บัตรเครดิต ร่วมกับบัตรกดเงินสด แทนที่จะต้องเอาบ้านไปจดจำนองเพื่อกู้เงิน เป็นต้น

ลำดับความสำคัญในการชำระหนี้ให้เหมาะสม

เราควรที่จะเลือกที่จะชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ย รวมถึงค่าธรรมเนียม และค่าปรับที่สูงที่สุดก่อน ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าหลังจากที่เราชำระหนี้ในงวดนั้นไปแล้ว เรามีเงินเหลือพอที่จะใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหรือไม่ด้วย เพราะหากชำระหนี้แล้วเหลือเงินไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตสุดท้ายก็จะต้องไปกู้เงินมาเพิ่มอีกอยู่ดี ซึ่งทางแก้ไขที่ดีกว่าหากชำระหนี้ไม่ไหวคือ ให้เราต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอรีไฟแนนซ์/ปรับโครงสร้างหน้า โดยการลดจำนวนเงินต่องวด แลกกับการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เช่น ค่างวดลดลงครึ่งหนึ่ง ระยะเวลาชำระหนี้เดิมจาก 20 เดือน ปรับเป็น 42 เดือน เป็นต้น

หากต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน การลงทุน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา