“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมี เพราะเป็นการวางแผนหลังเกษียณอย่างมั่นคง ช่วยให้มีเงินพอใช้อย่างสบายในวัยเกษียณ ได้ในแบบที่เราตั้งใจ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร และทำไมจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมี
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมี
เงินออมไว้ใช้ยามเกษียณอายุ ลาออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว กรณีลูกจ้างเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมีไว้ใช้เป็นทุนสำรองยามลาออกหรือเกษียณ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วยอะไรบ้าง ทำไมจะต้องมี
สาเหตุสำคัญที่เราบอกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมี นั่นเป็นเพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ใช่เงินที่สบทบเฉพาะในส่วนของลูกจ้าง แต่ประกอบด้วยเงิน 3 ส่วน ที่มนุษย์เงินเดือนได้รับผลประโยชน์แบบเต็ม ๆ ได้แก่
- เงินสมทบ นายจ้างช่วยสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนไม่น้อยกว่าเงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง ซึ่งอัตราการจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไข ระยะเวลาการทำงานหรือระยะเวลาการเป็นสมาชิก เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
- เงินสะสม เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมีสะสมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเราสามารถหักเงินเพื่อสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2-15% ของค่าจ้าง แต่ว่าจะหักสะสมเท่าไหร่ดี ผมให้หลักการแบบนี้คือ ให้หักมากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยไม่เดือดร้อนจากเงินไม่พอใช้ ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 15,000 จะหักเต็ม 15% ก็ได้หรือเงินเดือน 1 แสน จะหักสะสมแค่ 2% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานะการเงิน รายจ่ายของแต่ละคนที่แตกต่างกันครับ
- ผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ คือ ผลกำไรที่บริษัทจัดการหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุน และได้รับผลประโยชน์กลับคืนมา
แล้วเราจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อใดและได้รับเท่าไหร่
เมื่อลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทนั้น ๆ ลูกจ้างจะได้รับเงินก้อนโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้
- เงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสม ลูกจ้างได้รับกลับคืนทั้งหมด ไม่ว่าจะมีอายุงานเท่าใดก็ตาม
- เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ ลูกจ้างจะได้รับตามข้อกำหนดของกองทุน
ตัวอย่างข้อกำหนดเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบกรณีลาออกจากงาน
บริษัท A กำหนดเงื่อนไขให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในข้อบังคับกองทุนดังนี้
อายุงาน |
สิทธิได้รับเงิน |
น้อยกว่า 1 ปี |
ไม่ได้สิทธิ์ |
ตั้งแต่ 1 ปี - 5 ปี |
ร้อยละ 50 |
ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป |
ร้อยละ 100 |
หากลูกจ้างทำงานบริษัท A เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป แล้วลาออกจากบริษัท ลูกจ้างจะได้รับเงินในส่วนของนายจ้าง (เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ) ทั้ง 100% กล่าวคือ หากมีเงินสะสมอยู่ 50,000 บาท ก็จะได้เงินสบทบจากนายจ้างอีก 50,000 บาท บวกกับผลประโยชน์ที่ได้รับในแต่ละปี เท่ากับว่า เราจะมีเงินสะสมเมื่อลาออกไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ยิ่งอยู่นานยิ่งสะสมเพิ่ม นี่คือเหตุผลหลักที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมี
ประโยชน์ต่อลูกจ้าง
- เงินออมระยะยาวเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมีมากที่สุด เป็นการวางแผนเกษียณอย่างรอบคอบและมั่นคง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นหนึ่งในการสร้างวินัยในการออมที่เน้นการออมแบบระยะยาว
- ได้รับเงินเพิ่มจากนายจ้าง นอกเหนือจากการขึ้นเงินเดือน / โบนัส
- สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อคิดคำนวณรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
- เพิ่มโอกาสเติบโตของเงินออม ผ่านการบริหารกองทุนจากทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมี เพราะลูกจ้างมีแต่ได้กับได้ ได้เงินสบทบเพิ่มเติม ได้ลดหย่อนภาษี และได้ผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุน เป็นทางเลือกในการออมเงินที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วิธีวางแผนภาษี หรือวิธีการวางแผนเกษียณ และสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรมีเพื่อสร้างความมั่นคงในช่วงเกษียณ สามารถ โทร. 1572 กด 5 ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. เพื่อรับคำแนะนำแบบส่วนบุคคลจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้เลยครับ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หรือเข้าไปอ่าน
บทความเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ Krungsri Plan Your Money