“สิ้นเดือนเหมือนจะสิ้นใจ”, “เอ เงินหายไปไหนหมดนะ ก็ไม่ได้ใช้อะไรนี่” มีใครเป็นอาการอย่างนี้บ่อยๆ ไหมครับ สำหรับคนที่มักจะรู้สึกมึนงง ระคนเครียดกับจำนวนเงินที่เหลือในกระเป๋าช่วงสิ้นเดือน วันนี้เรามีวิธีจัดสรรรายได้รายเดือนมาฝากกันครับ
ขั้นที่ 1 รู้จักตัวเองก่อน
ว่าเรามีงบประมาณที่สามารถนำมาใช้จ่ายในระหว่างเดือน เป็นจำนวนเท่าไหร่
งบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน = เงินเดือน – ค่าใช้จ่ายประจำ – เงินออม
เงินเดือน ให้ใช้ยอดเงินที่โอนเข้าบัญชีนะครับ เพราะนี่คือเงินที่เราสามารถนำมาใช้จ่ายได้จริงในระหว่างเดือน เงินก้อนนี้จะถูกหักภาษี ประกันสังคม และ/หรือ เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เช่น บอยมีเงินเดือน 18,000 บาท แต่ยอดโอนจริง 15,000 บาท
ค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน/ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ /Internet เงินชำระเบี้ยประกันชีวิต ค่าสมาชิกต่างๆ เช่น ฟิตเนส สมมติว่า บอยมีค่าใช้จ่ายประจำเป็นเงิน 5,000 บาทต่อเดือน
เงินออม แบ่งเงินไว้หนึ่งส่วนสำหรับอนาคต โดยเงินออมนี้อาจแบ่งเป็นบัญชีย่อยๆ ตามจุดประสงค์การออม เช่น
- การออมเพื่อการลงทุน ทั้งการลงทุนทางด้านการเงิน (หุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์) และการลงทุนในเพื่อพัฒนาตัวเอง (หนังสือ ค่าอบรมสัมมนา)
- การออมเผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว กรณีเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ
- การออมเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อการศึกษาของลูก หรือเพื่อการท่องเที่ยว
บอยตั้งเป้าหมายการออม เช่น 10% ของเงินเดือน ซึ่งในกรณีนี้ ก็คือ 1,500 บาท ต่อเดือน
จากตัวอย่างข้างต้น จะทำให้บอยมีงบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน เท่ากับ 15,000 – 5,000 – 1,500 = 8,500 บาท
ขั้นที่ 2 สังเกตค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน
ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน = (ค่าใช้จ่ายรายวันในวันทำงาน x 20) + (ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในวันหยุด x 8) + ค่าใช้จ่ายไม่ประจำอื่นๆ
- ค่าใช้จ่ายรายวันในวันทำงาน เช่น ค่าเดินทาง (100 บาท) ค่าอาหาร 3 มื้อ (150 บาท) ค่ากาแฟ ค่าขนมช่วงบ่าย (50 บาท)
- ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในวันหยุด ที่ต้องแยกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกมา เพราะเรามักใช้วันหยุดไปตาม Lifestyle บางคนใช้เวลาในหยุดไปดูหนัง บางคนชอบออกไปฟังสัมมนา บางคนไป Fitness ไป Shopping ในขณะที่บางคนอยู่บ้านอ่านหนังสือ ทำกับข้าว สำหรับหลายๆ คน ค่าใช้จ่ายในวันหยุดมักจะสูงกว่าวันทำงานเสียอีก สมมติว่า บอยมีค่าใช้จ่ายในวันหยุดเฉลี่ย 500 บาทต่อวัน
- ค่าใช้จ่ายไม่ประจำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์หลังเลิกงาน ค่าเครื่องสำอางค์ Gadget อุปกรณ์กีฬา ค่าภาษีสังคม เช่น ใส่ซองงานบุญ งานแต่ง สมมติว่า บอยมีค่าใช้จ่ายไม่ประจำโดยเฉลี่ย 2,000 บาทต่อเดือน
จากตัวอย่างนี้ บอยมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน = (300 x 20) + (500 x 8) + (2,000) = 12,000 บาท
ขั้นที่ 3 ตรวจสุขภาพการเงิน
หากพบว่า
⇒ งบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน > ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน ยินดีด้วยครับ แสดงว่าคุณสามารถปรับเพิ่มวงเงินออมให้สูงขึ้นได้อีก
⇒ งบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน = ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน ยินดีด้วยครับ แต่คุณน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกนะ
⇒ งบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน < ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน ยินดีด้วยครับ คุณพบแล้วว่า สาเหตุของอาการเหมือนจะ “สิ้นใจ” ตอนปลายเดือนเกิดจากอะไร จากตัวอย่างนี้ บอยคงต้อง “สิ้นใจ” ในทุกๆ ปลายเดือนแน่นอนครับ
ขั้นที่ 4 Take Action
- กำหนดจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วน บอยตั้งงบใช้จ่าย 250 บาท/วัน ในวันทำงาน โดยจะเปลี่ยนวิธีการเดินทางจากแท็กซี่ เป็นรถตู้ หรือใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้น ลดขนมช่วงบ่ายลงบ้าง ตั้งงบใช้จ่าย 300 บาทต่อวันในวันหยุด โดยลดการไปเที่ยวห้าง ลดการซื้อของฟุ่มเฟือยลง ปรับงบค่าใช้จ่ายไม่ประจำเหลือเดือนละ 1,500 บาท
หากตั้งงบตามนี้ บอยจะมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน = (250 x 20) + (300 x 8) + (1,000) = 8,400 บาท ซึ่งน้อยกว่างบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน 100 บาท มีทางรอดแล้วนะบอย!
Tip: ในวันทำงาน เราสามารถหาอาหารในราคาประหยัดได้ตามเต็นท์ข้างตึก หรือจะซื้ออาหารกล่องมากินอาหารกลางวันที่ Office นอกจากจะไม่ต้องออกไปต่อสู้กับอากาศร้อนนอกอาคารแล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่เรามักจะพบเจอระหว่างทางได้อีก เช่น ขนม เครื่องดื่ม ของใช้จุกจิกต่างๆ
- ลดค่าใช้จ่ายประจำ มีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ค่าโทรศัพท์เหมาจ่าย เราอาจปรับใช้โปรโมชั่นให้ถูกลง ยกเลิกค่าสมาชิก Fitness ที่ไม่ค่อยได้ไป
บอยสามารถหาโปรโมชั่นเหมาจ่ายของค่าโทรศัพท์รายเดือน จาก 399 บาท เป็น 199 บาท ทำให้บอยมีงบประมาณใช้จ่ายได้มากขึ้น อีก 200 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจจะนำไปเพิ่มในส่วนของเงินออม
- ลดวงเงินออมชั่วคราว หากสามข้อแรกยังไม่สามารถทำให้งบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือน > ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน เราอาจจำเป็นต้องปรับลดเงินออมลงก่อน แต่อย่าลืมกลับมาปรับเพิ่มนะครับ
- เพิ่มรายได้ หารายได้พิเศษนอกเวลางาน เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินในวันหยุด มาเป็นการหาเงินในวันหยุดแทน หรือหากลดทุกทางแล้ว ก็ยังมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เราอาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนงานเพื่อเงินเดือนที่สูงกว่าแล้วล่ะครับ
สังเกตว่างบที่ตั้งไว้แต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ เหมาะสมหรือไม่ มันจะไม่มีประโยชน์อะไร หากจำนวนเงินที่กำหนดไว้ไม่สามารถทำได้จริง วงเงินที่น้อยเกินไปจะทำให้เกิดความเครียด มีหลายตัวอย่างสำหรับคนที่กำลังปรับพฤติกรรม เมื่อวันหนึ่งเกิดอาการสติแตก พวกเขามีโอกาสกลับมาทำพฤติกรรมเดิมๆ ในลักษณะที่หนักขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ในทางตรงข้าม วงเงินที่สูงเกินไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับการออม ดังนั้นควรดำเนินการตามหลักทางสายกลาง คือ ไม่ตึง หรือไม่หย่อนเกินไป ทำบัญชีสรุปความสำเร็จ/ความผิดพลาดในแต่ละเดือน และนำมาปรับปรุงการจัดสรรงบให้เหมาะสมต่อไป