โปะบ้าน หรือ เก็บเงินก้อนไว้ดีกว่า – ทางเลือกคนมีเงินออม
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

โปะบ้าน หรือ เก็บเงินก้อนไว้ดีกว่า – ทางเลือกคนมีเงินออม

icon-access-time Posted On 05 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
ต้องยอมรับว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นคำสอนติดหูของพวกเรามาตั้งแต่สมัยก่อน แต่ในยุคปัจจุบันเราอาจจะต้องมาทบทวนข้อเท็จจริงของคำสอนดังกล่าวกันอย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของเรานั้นมักจะมาจากการก่อหนี้ก่อนเสมอ

ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเพื่อความมั่นคงในชีวิตทุกคนจึงต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะทำให้เราก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน เว้นแต่คุณจะได้รับบ้านเป็นมรดกมาแบบที่ไม่มีภาระหนี้สินที่ตามมา

ในความเป็นจริงนั้น คนที่มีหนี้สินไม่ได้กลัวการเป็นหนี้ แต่กลัวว่าจะไม่สามารถชำระหนี้เงินต้นได้ และกลัวเสียเงินไปกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นต่างหาก ผมจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้กับนักลงทุนนะครับ ถ้ามีสถาบันการเงินแห่งหนึ่งให้นักลงทุนทุกคนสามารถกู้เงินได้คนละ 1 แสนบาท โดยที่มีอัตราดอกเบี้ย 0% และจะชำระคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ผมรับประกันได้เลยว่าไม่มีใครที่จะปฏิเสธเงินกู้นี้ พร้อมที่จะต่อแถวแย่งกันเป็นหนี้ก้อนนี้ไปด้วยซ้ำ

ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เมื่อนักลงทุนมีเงินเหลือไม่ว่าจะได้มาจากรายได้ประจำ โบนัสประจำปี รวมถึงลาภลอยต่าง ๆ นักลงทุนจึงมักจะรีบนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ที่เรามีเพื่อให้เราปลอดหนี้สินอย่างเร็วที่สุด และลดดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุด หรือที่เรามักพูดกันติดปากว่า “โปะหนี้” นั่นเอง

การรีบนำเงินไปชำระหนี้ทำให้เราได้ประโยชน์จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง แต่แน่นอนว่าเราอาจจะมีทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ถ้าหากเราไม่ได้รีบนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็น การเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองกรณีที่เราว่างงาน การนำเงินไปลงทุนเพื่อทำให้ผลตอบแทนงอกเงยให้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

แล้วเมื่อไหร่จะถึงเวลาที่เราจะนำเงินไปโปะหนี้ ผมจะให้นักลงทุนพิจารณาจากเรื่องราวของมาลีดูนะครับ
 
เทคนิค “โปะบ้าน หรือ เก็บเงินก้อนไว้ดีกว่า”

กรณีศึกษา ได้เงินชดเชยก้อนใหญ่ โปะบ้านดีไหม

มาลีเป็นพนักงานประจำ เงินเดือน 25,000 บาท ซึ่งขณะนั้นมาลีมีภาระต้องผ่อนคอนโดค่างวดเดือนละ 10,000 บาท ด้วยความที่มาลีอยากผ่อนคอนโดให้ปลอดหนี้ไวที่สุด เมื่อมาลีมีเงินเหลือในแต่ละเดือนเท่าไหร่ก็นำเงินไปโปะคอนโดจนหมด ทำให้มาลีเหลือเก็บเงินเก็บไว้ในบัญชีธนาคารจำนวน 10,000 บาทเท่านั้น

ต่อมาเนื่องจากบริษัทที่มาลีทำงานนั้น ต้องการปลดพนักงานออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้มาลีต้องกลายเป็นคนว่างงาน และต้องหางานใหม่ แต่ในโชคร้ายก็ยังมีโชคดีที่ทางบริษัทได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับมาลีเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเป็นจำนวน 2 แสนบาท ซึ่ง ณ ขณะนั้น มาลีเหลือเงินต้นในการผ่อนคอนโดอยู่ที่ 200,000 บาท พอดิบพอดี

เรามาลองช่วยมาลีคิดกันนะครับว่า ควรจะรีบนำเงิน 200,000 บาท ไปโปะหนี้คอนโดเลยหรือไม่?

แน่นอนว่าแทบทุกคนจะตอบว่า มาลีไม่ควรรีบนำเงินทั้งหมดไปโปะคอนโด เพราะว่ามาลีไม่มีงานทำ แต่มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในแต่ละเดือนอยู่

จากกรณีตัวอย่างนี้จะเห็นว่า มาลียอมมีหนี้เหลืออยู่ ย่อมดีกว่าไม่มีเงินเหลือใช้เลย ดังนั้นก่อนที่จะนำเงินไปชำระหนี้เราต้องพิจารณาว่าเงินของเรานั้นมีเพียงพอในการดำรงชีวิตหรือไม่ก่อน เพราะถ้าเรามีเงินไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตสุดท้ายเราก็จะต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งเงินกู้อื่น ๆ ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า (เพราะไม่มีหลักประกันเหมือนที่อยู่อาศัย) มาใช้จ่ายอยู่ดี เช่น บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ

คำถามคือ แล้วมาลีจะต้องเก็บเงินก้อนนี้ไว้นานแค่ไหน?

แน่นอนว่ามาลีจะต้องเก็บเงินก้อนนี้ไว้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจนกว่าจะหางานใหม่ได้ แต่ว่าเหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงไปทันทีถ้ามาลีมีเงินสดสำรองอยู่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เงินชดเชยก้อนนี้มาลีก็จะสามารถนำมาโปะหนี้คอนโดได้ทันทีเลย แต่การที่มาลีจะมีเงินสำรองที่เพียงพอได้ มาลีจะต้องแบ่งเงินที่เหลือในแต่ละเดือนมาเก็บเป็นเงินสำรองด้วยนะครับ เพราะที่ผ่านมามาลีมีเงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปโปะคอนโดจนหมดทำให้ไม่มีเงินสำรองเพียงพอในตอนนี้

เรื่องของมาลีเหมือนจะจบลงด้วยดีนะครับ เพราะเงิน 2 แสนบาทที่ได้มาน่าจะเพียงพอให้มาลีใช้จ่ายได้ 4-8 เดือนเลยทีเดียว แต่ใช่ว่าชีวิตของคนเราจะเรียบง่ายไปซะทั้งหมด ในระหว่างที่มาลีกำลังหางานใหม่อยู่นั้น มาลีปวดหัวไม่สบายกะทันหัน หลังจากไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วพบว่าเป็นเนื้องอกในสมองต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน ซึ่งทางโรงพยาบาลได้สรุปค่าผ่าตัดเบื้องต้นจำนวน 4 แสนบาท ซึ่งมาลีไม่มีประกันสุขภาพของตัวเอง เพราะปกติมาลีจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันของบริษัทมาโดยตลอด แต่ตอนนี้มาลีไม่ได้มีประกันกลุ่มของบริษัทแล้ว (ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ติดเก้าอี้) หรือแม้แต่ถ้ามีก็ไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลระดับนี้อย่างแน่นอน

จากเหตุการณ์นี้เงินก้อนที่มาลีได้มาเพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่าย นอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว มาลียังต้องหาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มอีก

เรื่องของมาลีนี้ยังเป็นอุทธาหรณ์ในเรื่องของสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มาลีได้ละเลยไป เพราะมาลีใช้สวัสดิการของบริษัทเป็นประจำ จนทำให้มาลีเพิกเฉยที่จะมีการทำประกันสุขภาพไว้ให้เพียงพอซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
 
หลักพิจารณาการโปะหนี้กับสถาบันการเงิน

หลักพิจารณาการโปะหนี้กับสถาบันการเงิน

ดังนั้นก่อนที่เราจะรีบ โปะหนี้ เราควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน โดยบทความนี้จะมีคำแนะนำง่าย ๆ ให้ผู้อ่านนำไปตรวจสอบความพร้อมก่อนที่จะทำการโปะหนี้ ดังนี้
  1. ตรวจสอบก่อนว่าเรามีเงินสำรองเพียงพอต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ เช่น กรณีว่างงาน กรณีขาดรายได้ ถ้ายังไม่เพียงพอ ควรนำเงินสดเก็บสำรองไว้ให้เพียงพอเสียก่อน
  2. ตรวจสอบความเสี่ยงส่วนบุคคล และทำการป้องกันความเสี่ยงให้เพียงพอ เช่น การทำประกันสุขภาพเหมาจ่าย ประกันโรคร้ายแรง หรือการทำประกันกรณีเสียชีวิต (เพื่อไม่ต้องให้ลูกหลานมีภาระไปผ่อนต่อ) ถ้าหากยังไม่ได้เตรียมไว้ ควรรีบทำประกันตั้งแต่ตอนที่สุขภาพยังดีอยู่

เมื่อเราเตรียมตัวจนพร้อมแล้ว เราก็พร้อมที่จะเริ่มโปะหนี้แล้วครับ

แต่ช้าก่อน!!! ถ้าเรามีเงินก้อน และพร้อมแล้ว เราควรนำเงินก้อนไปโปะหนี้จริง ๆ หรือ?

ข้อสรุป เราควรนำเงินก้อนไปโปะหนี้หรือไม่

คำตอบของคำถามนี้ ให้เราลองจำลองสถานการณ์ดูนะครับว่าถ้าเรามีโอกาสการลงทุนที่ดี และมีเงินไม่เพียงพอสิ่งที่เราต้องทำคือการกู้ยืมเงิน หรือระดมลงทุนมาเพื่อลงทุน โดยสิ่งที่จะวัดว่าคุ้มค่าหรือไม่จะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของการลงทุนนั้นว่ามากกว่าต้นทุนทางการเงิน หรือดอกเบี้ยเงินกู้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น ผมมีเงินก้อนหนึ่ง 5 แสนบาท และมีภาระหนี้ 5 แสนบาท โดยมีดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่อัตรา 3% ต่อปีคงที่ตลอดอายุสัญญา แต่ในขณะนั้นมีหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ออกมาขายให้อัตราผลตอบแทนปีละ 4-5% ต่อปี สิ่งที่ผมควรจะทำคือการนำเงินก้อนไปซื้อหุ้นกู้ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของผม จะทำให้ผมได้กำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย 1-2% ต่อปี แต่หากว่าขณะนั้นผมไม่มีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ การโปะหนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมก็ขอฝากเรื่องของมาลีไว้ให้เป็นอุทาหรณ์ในการดำรงชีวิตนะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องของมาลีไม่ได้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นแต่อย่างใด เพราะผมอ้างอิงจากปัญหาชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนการรีบโปะหนี้ โดยที่ไม่ได้วางแผนการเงิน และป้องกันความเสี่ยงให้ดีพอเสียก่อน ผมหวังว่าบทความในครั้งนี้จะเตือนสติ และมีประโยชน์กับทุก ๆ ท่านที่มีหนี้สินอยู่นะครับ
 
“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ แต่การมีหนี้ที่ก่อให้เกิดลาภ นั้นย่อมประเสริฐยิ่งกว่า”

หากท่านต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม ทางธนาคารกรุงศรีฯ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา