อุ๊ย ! นั่นข่าวดารารัก ๆ เลิก ๆ โอ๊ะ ! นั่นก็ลิงก์แชร์บทความสมุนไพรสูตรรักษาทุกโรค เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะข่าวอะไร ใหม่แค่ไหน บอกเลยว่า Social Media มีมาให้เราอัปเดตกันทุกวัน ตลอดเวลา เพราะตอนนี้ใคร ๆ ก็หันมาเสพสื่อข่าวจากโลกออนไลน์กันทั้งนั้น ก็เพราะมันง่ายและใกล้ตัวขนาดนี้ แต่รู้หรือไม่ การที่เรารับรู้และแชร์ข่าวสารสาระเหล่านี้ไปนั้น หลาย ๆ ครั้ง มักจะเป็นข่าวลวงหรือเป็นสาระที่ไม่เป็นความจริง จนอาจเกิดผลเสียกระทบผู้เป็นข่าวหรือผู้ที่ได้รับข้อมูลนั้นไป โดยที่เราอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในความเสียหาย หรือแม้แต่อาจลุกล้ำความเป็นส่วนตัวที่อาจกลายเป็นคดีขึ้นได้ ข่าวลวงเหล่านี้ เกิดจากอะไร มาดูกัน
เคยสงสัยไหมว่า เว็บไซต์หรือแอคเคาท์บนโซเชียลถึงชอบสร้างข่าวลวง คำตอบง่าย ๆ นั่นก็คือ อยากได้ “ทราฟฟิค” ที่หมายถึงยอดผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือจำนวนผู้ติดตามนั่นเอง เพราะทราฟฟิคสามารถแปรเปลี่ยนเป็น “ต้นทุน” ในการหาสปอนเซอร์มากมาย ที่เดี๋ยวนี้การโปรโมทแบรนด์หรือข่าวสารต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มีมูลค่าไม่แพ้สื่อสิ่งพิมพ์หรือทางโทรทัศน์เลย แล้วยังมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มด้วย ผู้คนต่างมีอีกชีวิตหนึ่งบนโลกโซเชียล การซื้อขายหรือการเนียน ๆ ประชาสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ เว็บไซต์หลอกลวงเหล่านี้มักนำเสนอด้วยหัวข้อ ภาพประกอบ หรือเนื้อความที่ดึงดูดการ “คลิก” ทั้งการอ่านและการแชร์ แต่กลับแอบเนียนปล่อยมัลแวร์ใส่เครื่องของเราโดยไม่รู้ตัว
มาดูวิธีการเซฟตัวเองจากข่าวลวงกันดีกว่า
1. มีสติคิดให้รอบคอบก่อนอ่าน-โพสต์-แชร์
ข้อมูลอะไรก็ตามที่เพิ่งผ่านตาไป ควรอ่านให้ครบถ้วนใจความหรือพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะกดแชร์ รวมทั้งการเห็นว่าผู้อื่นทำแล้วทำตาม เช่น การระบุจุดเช็คอินว่าอยู่ในจุดที่ปลอดภัยบน Facebook ทั้งที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้าย แต่เนื่องจากระบบโซเชียลเกิดแจ้งเตือนและเห็นว่าเพื่อน ๆ ก็เช็คอินกัน จึงทำตามบ้าง ทั้งที่เกิดจากความผิดพลาดของระบบ และตัวเราเองก็ควรเช็คข่าวให้แม่นยำเสียก่อน
2. เจอลิงก์แปลก ๆ อย่าไปเผลอคลิกเข้าล่ะ
เพราะลิงก์พวกนี้ชอบซ่อนมัลแวร์หรือไวรัสต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อเข้ามาล้วงข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรือมือถือของเรา ทางที่ดีเห็นลิงก์ไม่คุ้นหรือพยายามทำให้เหมือนเว็บดัง ๆ ก็ให้ระวังเอาไว้ก่อน
3. พิมพ์ URL ของเว็บโดยตรง
พยายามไม่ใช้การเสิร์ช เพราะอาจเจอเว็บไซต์ปลอมที่ปรับแต่งชื่อลิงก์ให้คล้ายกัน เพื่อหลอกให้เรากดเข้าเว็บไซต์แล้วโดยล้วงข้อมูลได้โดยง่ายนั่นเอง
4. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้อยู่ในระดับสูงเข้าไว้
การสร้างบัญชีผู้ใช้งานบนโซเชียลนั้น มักจะให้กรอกข้อมูลเบื้องต้นและเบื้องลึก เช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น อีเมล ที่อยู่ ไปจนเบอร์โทรส่วนตัว ซึ่งข้อมูลที่ลดหลั่นลงมาจากอีเมลนั้น ไม่เป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องกรอก รวมทั้งการใช้อีเมลสำหรับบัญชีโซเชียลแล้ว ก็ควรสมัครอีเมลที่ไม่ได้ผูกกับข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น อีเมลที่ใช้ในการทำงาน เป็นต้น
5. แอดและรับแอดเพื่อนที่รู้จักกันจริง
หลายคนมีเพื่อนหรือผู้ติดตามหลายพันคน หรือมีเพื่อนในบัญชีเต็มจำนวนที่จะแอดได้ แต่กลับมีเพียงไม่กี่คนที่เคยเจอหน้ากันจริง ซึ่งการแอดเพื่อนมาก ๆ เข้าไว้ไม่ได้เป็นผลดีต่อการรักษาความปลอดภัย เพราะเพื่อนแปลกปลอมเหล่านี้สามารถเข้ามาล้วงข้อมูลของเราได้ง่าย ๆ เพียงแค่คลิกโปรไฟล์เข้ามาอ่านสเตตัสหรือการเช็คอินนั่นเอง
6. เก็บข้อมูลส่วนตัวให้เป็นความลับ
เนื่องจากมีมิจฉาชีพบางคนที่ใช้ช่องโหว่นี้ หากเราเช็คอินบ้านเราบ่อย ๆ และวันหนึ่งเช็คอินที่เที่ยวไกลบ้าน แล้วยิ่งบอกว่าไปกันทั้งครอบครัว ไปกันนานแค่ไหน ยิ่งเพิ่มช่วงเวลาทองให้โจรเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
7. หลายคนมองว่า สังคมออนไลน์คือโลกของความเสรี
การแสดงความคิดเห็น คำพูด การกดแสดงอารมณ์ ทำได้โดยไม่ต้องมีใครห้ามหรือมีกฎแน่นอน สิ่งนี้นี่แหละที่สามารถเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจนลุกลามเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นศาลได้
บางครั้งการสร้างเนื้อหาหลอกลวงขึ้น นอกจากการหวังผลทราฟฟิคแล้ว ยังมีเรื่องการสร้างเนื้อหาที่พยายามสร้างความเสียหายให้คู่แข่ง รวมทั้งข่าวลวงที่สร้างความเสียหายให้กับดารานักแสดงก็มีให้เราเห็นกันอยู่มากมาย ในยุคแห่งเทคโนโลยีแบบนี้ จะเลี่ยงการเสพข่าวสารผ่านช่องทางนี้ก็เป็นไปได้ยาก ก็มีแต่ตัวเราที่จะป้องกันตนเองจากข่าวลวง หรือไม่เผลอไปกดแชร์ข่าวพวกนี้โดยขาดสติ เรียกว่าอ่านได้ เสพข่าวได้แต่ต้องใช้วิจารณญาณนั่นเอง
อย่าลืมเข้ามาอ่านบทความดี ๆ ที่ช่วยให้เราก้าวทันยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นใจได้
ที่นี่