"คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ ในการสร้างเสริมนิสัยการออมที่ดี"
เรามาดูข้อมูลการออมเงินแบบง่ายและดี ที่น้องวัยเรียนสามารถนำไปใช้จนเป็นการสร้างนิสัยการออมเงิน การบริหารเงินที่ดีต่อไปในอนาคตได้นั่นเอง อย่าลืมว่าการสร้างนิสัยการออมที่ดี เกิดมาจากการมีตัวอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูก ๆ เด็กจะสามารถเรียนรู้การบริหารจัดการเงินจากพฤติกรรมของครอบครัว การปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การนับเงินทอนทุกครั้งก่อนเก็บเงิน หรือการรู้จักเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ การใช้คูปองส่วนลด การซื้อผลไม้ตามฤดูกาลเพราะจะได้ราคาที่ถูกกว่า เป็นต้น (
เริ่มต้นวางแผนการออมเพื่อการลงทุนในอนาคต)
การออมเงินสำหรับน้องวัยเรียน
หลาย ๆ คนคงคิดว่าการเก็บออมเงินสำหรับเด็กนักเรียนนั้นเป็นเรื่องยาก ได้เงินค่าขนมก็แค่นิดเดียว ไหนเพื่อนจะชวนกินชวนเที่ยวเล่นอีก จะเอาเงินที่ไหนมาเหลือใช้เหลือเก็บ เงินหมดก็ขอพ่อแม่แค่นั้นเอง
การปลูกฝังนิสัยการเก็บออมเงินที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสามารถเริ่มได้แบบง่าย ๆ และเหมาะสมกับวัย หากน้องวัยประถม ก็ให้เงินค่าขนมรายวัน สอนให้หัดออมเงินวันละ 5-10 บาท นำไปหยอดกระปุกจนเป็นนิสัย หากน้องวัยมัธยมก็อาจจะเปลี่ยนเป็นให้เงินรายสัปดาห์แทน แล้วให้แยกเงินออมส่วนหนึ่ง ก็จะคล้าย ๆ กับวิธีการออมเงินของมนุษย์เงินเดือนเช่นกัน
ดังนั้นวิธีการเริ่มต้นในการสอนลูก ๆ เกี่ยวกับความสำคัญของการออมเงินก็คือ การพาไปเปิดบัญชีเงินฝาก และทำการตั้งเป้ายอดเงินออม เพื่อที่เขาจะได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในสิ่งที่อยากได้อยากทำต่อไปนั่นเอง
วิธีการออมเงิน เริ่มต้นได้ง่ายนิดเดียว
1. จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย
การทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายใคร ๆ ก็สามารถทำได้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ทำ เพราะรู้สึกว่าวุ่นวาย ต้องคอยจดคอยบันทึก แต่หารู้ไม่ว่าเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยเตือนใจให้เราไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งเลยทีเดียว แถมยังสามารถช่วยให้เราเห็นรายได้ รายจ่าย และจำนวนเงินออมที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ทำให้มีกำลังใจในการเก็บออมต่อไปได้อีกด้วย
2. เปิดบัญชีออมทรัพย์
แม้เราจะเป็นนักเรียน หากเรามีการสร้างนิสัยการออมเงินที่ดี ก็จะทำให้อนาคตสดใสได้เหมือนกัน หากมีเงินมากก็ฝากมาก มีเงินน้อยก็ฝากน้อย แต่ไม่ว่าจะได้เงินกี่ครั้งก็ให้แบ่งเงินเก็บเพื่อฝากบัญชีไว้ทุกครั้ง เมื่อเราทำแบบนี้จนเป็นนิสัย ต่อไปในอนาคตพอเราทำงานมีเงินเดือนเราก็จะสามารถจัดสรรปันส่วนเงินเดือนมาออมได้ทุกเดือน และแม้ว่า
บัญชีออมทรัพย์ จะมีดอกเบี้ยน้อย แต่อย่างน้อยจะเป็นการสร้างความคิดให้เด็กนักเรียนว่าเงินจากก้อนเล็ก ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ จะสามารถกลายเป็นเงินก้อนโตได้ในอนาคต
3. ส่งเสริมประสบการณ์การทำงาน
พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานบ้านแล้วแต่โอกาสเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตียงนอน ช่วยล้างจาน ซักผ้า เก็บกวาดบ้าน ก็สามารถให้เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรางวัลในการทำงาน เพื่อช่วยสอนให้น้อง ๆ เห็นคุณค่าของเงินได้อีกด้วย เป็นบทบาทที่สำคัญต่อการปลูกฝังนิสัยด้านการเงินให้เด็ก ๆ ได้รู้ และเข้าใจที่มาของเงิน เพราะทุกวันนี้มีเด็กหลายคนที่ไม่เข้าใจ และไม่พยายามที่จะเรียนรู้ว่าคนเราจะต้องทำงานเพื่อที่จะให้ได้เงินมา ไม่ใช่นั่งรอให้มีคนเอาเงินมาให้ (
อ่านแผนการเงินสำหรับลูก เพื่อลูกไม้หล่นไกลต้น)
4. ควบคุมความอยากมี อยากได้
คนเรามักจะมีความอยากได้อยากมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าใหม่ มือถือใหม่ เสื้อผ้าใหม่ ฯลฯ ไม่ว่าจะจำเป็นหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นหากเรารู้จักการวางแผน เรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น อะไรต้องซื้อก่อนหลัง บางครั้งไม่ต้องเข้าร้านอาหารกินอาหารแพง ๆ แต่ทำแซนวิช หรือนำอาหารจากที่บ้านไปทานที่โรงเรียนก็ยังได้ แถมสามารถช่วยออมเงินได้อีกต่างหาก อาหารไม่ต้องแพงก็ทานอิ่มได้เหมือนกัน และอีกสิ่งสำคัญคือ การไม่ตามเทรนด์ตามแฟชั่นและตามเพื่อนยุนั่นเอง
เดี๋ยวนี้การเก็บออมเงินไม่ได้จำเป็นจะต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ ให้มีงานหรือมีรายได้ก่อนถึงจะทำได้ แม้แต่เด็กวัยเรียนที่ยังได้เงินรายวัน รายสัปดาห์จากพ่อแม่ก็สามารถทำได้แล้วเหมือนกัน วิธีนี้จะสามารถช่วยสร้างวินัยในการออมเงินที่ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ และทำให้น้อง ๆ สามารถดำเนินชีวิตเมื่อเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานได้อย่างสบายยิ่งขึ้นด้วย