เริ่มต้นปีใหม่แล้ว แต่เงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์ของหลายคนยังคงไม่งอกเงยอย่างที่เคยตั้งเป้าเอาไว้ อาจเป็นเพราะระหว่างปีมีภาระต้องใช้เงินแบบฉุกเฉินอยู่บ่อย ๆ หรือไม่ก็ช้อปปิ้งจนลืมตัว แต่ถ้าปีนี้ ใครกำลังอยากเปลี่ยนมาสร้างวินัยในการออมเงินไปพร้อมกับการลงทุน แถมได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น เราขอแนะนำการออมหรือ
ลงทุนแบบ DCA ซึ่งออมได้ง่าย ไม่ต้องนั่งวิเคราะห์หุ้นจนเครียด ลดความเสี่ยงจากการซื้อขายด้วยตัวเอง และมีเงินเก็บเพิ่มจากยอดออมเมื่อครบเวลาที่กำหนด อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่แบ่งเงินเก็บออมเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว
DCA คืออะไร
DCA หรือ
Dollar Cost Averaging แปลว่า “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน” กล่าวคือ DCA เป็นการออมหุ้น ซึ่งมีการกำหนดวันที่ออมและเงินลงทุนเป็นงวด ๆ ในจำนวนเงินเท่าเดิมทุกงวด เช่น ซื้อหุ้น P ทุกวันที่ 5 ของเดือน เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี โดยราคาหุ้นจะขึ้นลงผันผวนของมันเอง ถ้าช่วงไหนราคาหุ้นสูง เราจะได้จำนวนหุ้นน้อยลง และถ้าราคาหุ้นต่ำ เราจะได้จำนวนหุ้นมากขึ้น เฉลี่ยกันไปจนกว่าจะครบกำหนดของการลงทุน โดยผู้ลงทุนไม่ต้องคอยเก็งราคาซื้อขายหุ้นเอง เพราะเป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติ มุ่งเป้าไปที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก
ตัวอย่าง ตารางคำนวณการลงทุนในหุ้นแบบ DCA
ถ้าเราเลือกซื้อหุ้น P ทุกวันที่ 5 ของเดือน เดือนละ 1,000 บาท
เดือน |
เงินลงทุน |
ราคาหุ้น |
จำนวนหุ้นที่ได้ |
เดือนที่ 1 |
1,000 |
1.00 |
1,000 |
เดือนที่ 2 |
1,000 |
1.20 |
833.33 |
เดือนที่ 3 |
1,000 |
0.80 |
1,250 |
เดือนที่ 4 |
1,000 |
1.50 |
666.66 |
เดือนที่ 5 |
1,000 |
2.00 |
500 |
เฉลี่ยรวม |
5,000 |
1.30 |
4,249.99 |
ที่มา: medium.com
ถ้าลองคำนวณผลการออมหุ้นภายในระยะเวลา 5 เดือน (ตามตาราง) จะเห็นว่า ราคาหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.30 บาท โดยเราได้รับหุ้นเฉลี่ยทั้งหมด 4,250 ตัว คิดเป็นเงินได้ 4,250X1.30 = 5,525 บาท ซึ่งเงินที่จะได้รับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเงินลงทุนเดิม 5,525-5,000 = 525 บาท และถ้าหากว่าเราเลือกขาย ณ เดือนที่ 5 ในราคาหุ้น 2.00 บาท ก็จะได้รับเงินทั้งสิ้น 4,250x2.00 = 8,500 บาท จะเห็นว่าเงินที่ได้รับมีมูลค่าเพิ่มจากเงินลงทุนเดิม 8,500-5,000 = 3,500 บาท ดังนั้น การออมหุ้นด้วยระบบ DCA จึงให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า พอเหมาะ และไม่มีความเสี่ยงสูง
DCA ดีอย่างไร เลือกลงทุนอย่างไร
การลงทุนแบบ DCA เหมาะสำหรับทุกคนที่แบ่งเงินเก็บทุกเดือนเป็นประจำอยู่แล้ว อีกทั้งยังช่วยสร้างวินัยในการออมได้ด้วย เพราะยอดเงินลงทุนในแต่ละเดือนสามารถหักจากบัญชีเงินเดือนได้ทันที ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเราจะเผลอเอาเงินส่วนนั้นไปใช้ก่อน ที่สำคัญการลงทุนแบบ DCA ยังตอบโจทย์นักลงทุนมือใหม่ โดยอาจจะไม่มีความรู้เรื่องหุ้นมากนัก แต่อยากลองลงทุน และไม่อยากพะวงอยู่กับการวิเคราะห์ตลาดหุ้น การเลือกลงทุนแบบ DCA จะช่วยตัดปัญหาเหล่านี้ไปได้เลย
ถ้าคุณอยากเก็บเงินให้ได้สักก้อน ได้ผลตอบแทนพอหอมปากหอมคอ
การลงทุนแบบ DCA นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลย แต่ถึงอย่างนั้น ทุกการลงทุนก็ไม่อาจเลี่ยงความเสี่ยงได้ 100% เช่น หากเกิดภัยพิบัติก็อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก เป็นต้น ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน เราควร
ศึกษาเงื่อนไขการลงทุนให้เข้าใจเสมอ และควรเลือกกระจายการลงทุนหรือเก็บออมเงินในหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ควรทุ่มเงินกับการลงทุนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่หากคุณกำลังสนใจ DCA อยู่ละก็ ควรเตรียมตัวและพิจารณาดังต่อไปนี้
- เลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต และเราเข้าใจกระบวนการทำงาน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การสื่อสาร ปิโตรเคมี หรือโรงพยาบาล เป็นต้น
- ให้เลือกลงทุนในหุ้นที่เราต้องการ อาจพิจารณาจากเกณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ หุ้นมีพื้นฐานดีไหม เป็นหุ้นที่ได้กำไรสม่ำเสมอหรือเปล่า ควรเป็นหุ้นที่ทำให้เราสนใจอยากมีส่วนร่วมในกิจการ หรืออยู่ในกลุ่ม SET50 SET100 ที่มีสภาพคล่องสูง
- กำหนดวันที่ซื้อหุ้นและจำนวนเงินลงทุนในแต่ละเดือนตามความเหมาะสมและความสามารถของตัวเอง และคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหุ้นที่เราซื้อสม่ำเสมอ
- การลงทุนแบบ DCA เบื้องต้นอาจเลือกออมด้วยการซื้อกองทุนรวมกับธนาคาร Fund Supermart หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ก็ได้
การลงทุนแบบ DCA ไม่เพียงช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงในการลงทุนให้เราแบบอัตโนมัติ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจจะดียิ่งกว่าการเก็งจังหวะซื้อขายหุ้นด้วยตัวเอง และที่สำคัญคือ เป็นระบบการลงทุนที่ทำให้เรามีวินัยในการเก็บออม เกิดความต่อเนื่องในการลงทุน และไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้น ๆ
DCA จึงถือเป็นระบบที่นำเอารูปแบบการลงทุนมาช่วยทำให้เงินออมของเรางอกเงยได้ไม่ยาก ใครกำลังมองหาแนวทางออมเงินในช่วงต้นปีนี้ ลองพิจาณา DCA กันดูได้นะครับ