14 ข้อคิดเก็บเงินสร้างครอบครัว เพื่อชีวิตคู่ดี๊ดี
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

14 ข้อคิดเก็บเงินสร้างครอบครัว เพื่อชีวิตคู่ดี๊ดี

icon-access-time Posted On 01 พฤษภาคม 2558
By Maibat
“เงิน” เชื่อมโยงแทบทุกกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เล็กจนโต กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ก็ใช้เงินเกินหลักล้านบาทกันไปแล้ว บางคนอาจแย้งว่าใช้ไม่ถึง แต่จริง ๆ แล้วเงินที่ใช้ไปนั้นมีทั้งที่เราออกเองและคนอื่นช่วยออกให้ ตอนเด็กความสามารถหาเงินยังจำกัด เงินที่ใช้ไปส่วนใหญ่มีคนอื่นช่วยออกให้ โดยมากเป็นเงินจากคุณพ่อคุณแม่ ตอนโตเป็นผู้ใหญ่สามารถหาเงินได้เอง ก็ใช้เงินที่หามาได้นั้นเลี้ยงดูตนเอง เก็บเงินสร้างครอบครัว และใช้ทดแทนพระคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามาด้วย เงินบางส่วนเสียภาษีให้กับรัฐ เลี้ยงพี่น้องเพื่อนฝูง บริจาคสาธารณกุศล และอื่น ๆ อีกมากมาย ถึงแม้ว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องยาก แต่ไม่เกินความสามารถเลยถ้าตั้งใจจะทำอย่างจริงจัง
"เงิน เชื่อมโยงแทบทุกกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เล็กจนโต กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ก็ใช้เงินเกินหลักล้าน"
“เงิน” เชื่อมโยงแทบทุกกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เล็กจนโต กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ก็ใช้เงินเกินหลักล้านบาทกันไปแล้ว บางคนอาจแย้งว่าใช้ไม่ถึง แต่จริง ๆ แล้วเงินที่ใช้ไปนั้นมีทั้งที่เราออกเองและคนอื่นช่วยออกให้ ตอนเด็กความสามารถหาเงินยังจำกัด เงินที่ใช้ไปส่วนใหญ่มีคนอื่นช่วยออกให้ โดยมากเป็นเงินจากคุณพ่อคุณแม่ ตอนโตเป็นผู้ใหญ่สามารถหาเงินได้เอง ก็ใช้เงินที่หามาได้นั้นเลี้ยงดูตนเอง เก็บเงินสร้างครอบครัว และใช้ทดแทนพระคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามาด้วย เงินบางส่วนเสียภาษีให้กับรัฐ เลี้ยงพี่น้องเพื่อนฝูง บริจาคสาธารณกุศล และอื่น ๆ อีกมากมาย ถึงแม้ว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องยาก แต่ไม่เกินความสามารถเลยถ้าตั้งใจจะทำอย่างจริงจัง
“ชีวิตคู่” เป็นอีกก้าวสำคัญในชีวิต เกิดจากคนสองคนต่างครอบครัวตัดสินใจสร้างครอบครัวร่วมกัน ช่วยกันสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและให้กำเนิดทายาทรุ่นต่อไป ทั้งก่อนและหลังสร้างครอบครัวใหม่ ต้องทยอยเก็บเงินสร้างครอบครัวสำหรับค่าใช้จ่ายใหญ่ 3 อย่างนี้คือ
1. จัดงานแต่งงาน     2. ซื้อบ้านหลังใหม่    3. เลี้ยงเจ้าตัวน้อย
ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้แพงขึ้นทุก ๆ ปี ไม่ว่ารายได้คุณจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตาม ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของบางคนอาจเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเก็บเงินแต่งงาน แต่เชื่อเถอะครับว่ามีต้องใช้แน่ ดังนั้นการเตรียมพร้อมเรื่องเงินไว้ก่อนจะช่วยให้การเงินครอบครัวราบรื่นขึ้น เพราะหมดกังกลเรื่องไม่มีเงินซึ่งเป็นปัญหาหลักอันหนึ่งของครอบครัวไทย
ก่อนพูดถึงข้อคิดเก็บเงินสร้างครอบครัว ผมอยากบอกว่า แม้การเก็บเงินจะจำเป็นมากจริง ๆ แต่ไม่ใช่คำตอบทุกอย่างที่ครอบครัวต้องการ ครอบครัวยังต้องการเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน ความรักความอบอุ่น และสมาชิกทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นอย่าลืมจัดสรรชีวิตให้ลงตัว ทีนี้มาดูกันครับว่า ข้อคิดเก็บเงินสร้างครอบครัว เพื่อชีวิตคู่ดี๊ดี จากประสบการณ์ตรงของผมเอง ได้บทเรียนอะไรบ้าง

1. จงเริ่มเก็บเงินทันทีอย่างมีเป้าหมาย

ค่าใช้จ่ายในการสร้างครอบครัวนั้นเป็นเงินจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการเก็บ ยิ่งเริ่มได้เร็วยิ่งดีกว่า ยิ่งถ้าตั้งเป้าหมายเก็บเงินชัดเจนด้วยก็จะทำให้มีกำลังใจในการเก็บ มีทิศทางที่ถูกต้อง ไม่หลงทาง และมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น

2. จงมีรายได้ที่มั่นคงและหลายทาง

รายได้ที่ทำให้ครอบครัวรู้สึกมั่นคงควรเป็นรายได้ที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน และมีจำนวนมากกว่ารายจ่ายอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ให้คิดไว้เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความไม่แน่นอน หากต้องการวางแผนการเงินครอบครัว จึงควรสร้างรายได้หลายทางไว้จะมั่นคงกว่าในระยะยาว

3. จงวางแผนใช้ชีวิตร่วมกัน

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะใช้ชีวิตคู่กับเธอคนนี้ ก็ควรพูดคุยทำความเข้าใจกันเพื่อให้ชีวิตคู่ราบรื่น โดยเรื่องการเก็บเงินแต่งงานและสร้างครอบครัวเป็นประเด็นหลักอีกเรื่องหนึ่งที่ควรคุยกันให้ชัดเจน ตกลงกันว่าเป้าหมายทรัพย์สินที่ต้องการมีมากน้อยเพียงใด จะบริหารทรัพย์สินเหล่านี้ยังไง รายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ใครเป็นผู้ดูแล เงินออมกับหนี้สินควบคุมควรอยู่ในระดับใด เป็นต้น

4. จงหาข้อมูลก่อนจ่ายเงินเสมอ

เคยไหม จ่ายเงินไปแล้วรู้สึกว่าเสียดายเงิน รู้งี้หาข้อมูลก่อนซื้อน่าจะดี สมัยนี้มีข้อมูลให้ศึกษากันเต็มโลกออนไลน์ ควรหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่เล็งเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายขนาดใหญ่อย่างการซื้อบ้าน ซื้อรถ งานแต่ง คลอดลูก หากพลาดไปแล้ว เงินเก็บครอบครัวที่หายไป อาจเทียบเท่ากับทำงานฟรีไม่รับเงินเดือนไปนานหลายเดือนเชียวนะครับ

5. จงควบคุมค่าใช้จ่ายในงานแต่ง

จริงอยู่ว่าปกติจัดงานแต่งครั้งเดียวในชีวิตควรจัดออกมาให้ดูดี สถานที่สวยงาม อาหารอร่อย แขกผู้ใหญ่เพื่อนสนิทมากันพร้อมหน้า แต่ก็ไม่ควรลงทุนไปกับงบแต่งงานจนถึงขั้นมีปัญหาเรื่องเงินและกลายเป็นหนี้ ควรควบคุมค่าใช้จ่ายโดยดูจากตัวเลข ค่าใช้จ่ายต่อหัวและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คุณรับไหว ไม่ให้สูงจนเกินกำลังทรัพย์ที่มี โดยพิจารณาดูว่าค่าใช้จ่ายบางรายการลดได้ไหม ตัวอย่างเช่น ค่าถ่ายภาพแต่งงาน ซึ่งสตูดิโอขนาดใหญ่คิดรูปละพันกว่าบาท พอรวมทั้งอัลบั้มก็เป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท อาจเปลี่ยนไปจ้างช่างภาพอิสระหรือเพื่อนที่มีฝีมือถ่ายภาพทำให้แทน

6. จงเขียนรายชื่อแขกที่จะเชิญมาร่วมงานแต่ง

หลายงานเจอกับปัญหาจำนวนแขกมาผิดคาดมาก ทั้งเยอะเกินหรือน้อยไป ปริมาณอาหารก็เช่นกัน อาจไม่พอเสิร์ฟ หรือมีเหลือมากเกินไป วิธีแก้ไขทำได้ด้วยการลิสต์รายชื่อแขกที่มาร่วมงานและสอบถามไปตรง ๆ เลยว่าสะดวกมาร่วมงานมงคลหรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมสิ่งต่าง ๆ ให้เพียงพอ และช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการจัดงานไม่ให้เบียดเบียนเงินเก็บสำหรับสร้างครอบครัว

7. จงเลือกซื้อบ้านไม่เกินฐานะ

คนไทยกว่า 80% ซื้อบ้านด้วยการกู้ธนาคาร เพราะบ้านที่น่าอยู่มีราคาหลายล้านบาท ซึ่งเกินกำลังที่จะจ่ายไหวในคราวเดียว ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงเลือกกู้ธนาคารแล้วค่อยผ่อนจ่ายทีละเดือนเอา หากผ่อนจ่ายทุกงวดตามค่างวดบ้านที่มาเรียกเก็บแบบไม่โปะเลย ดอกเบี้ยที่จ่ายไปทั้งหมดเทียบเท่ากับซื้อบ้านได้อีกหลังเลยนะครับ เพื่อการวางแผนการเงินครอบครัวที่ดี จึงควรซื้อบ้านที่ราคาไม่แพงเกินไป เพราะจะช่วยให้ยอดผ่อนชำระรายเดือนน้อยลง จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง และควรโปะเกินยอดผ่อนชำระบ้างถ้ามีเงินเหลือเก็บเพื่อไม่ให้เป็นภาระในระยะยาว

8. จงเยี่ยมชมโครงการบ้านหลายแห่งก่อนตัดสินใจซื้อ

ก่อนซื้อบ้านควรไปดูคอนโด ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว ตึกแถว หรือบ้านมือสอง ในหลายทำเลและหลายโครงการที่คุณสนใจ เพื่อมาเปรียบเทียบทำเลที่สะดวก ความคุ้มค่าด้านราคา โปรโมชัน วัสดุและการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ เลือกสิ่งที่ชอบและต้องคุ้มค่าที่สุดสำหรับครอบครัวคุณเอง ให้นึกคตินี้ไว้เสมอว่า “เสียดายดีกว่าเสียใจ” เพราะกว่าจะเก็บเงินแต่งงานแล้วซื้อบ้านได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

9. จงเก็บเงินอย่างน้อย 20% ของราคาบ้านก่อนซื้อ

ปกติธนาคารจะให้กู้สินเชื่อบ้านไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน นั่นหมายถึง ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ผู้ซื้อบ้านต้องเตรียมเงินสดมาจ่ายเอง แล้วเก็บเงินสร้างครอบครัวอีก 10% ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ช่วงโอนและเป็นค่าตกแต่งบ้านอีกด้วย กรณีที่ดินเปล่า ตึกแถว และบ้านมือสอง อาจต้องเตรียมเก็บเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ของราคาบ้าน เพราะธนาคารอาจให้กู้ได้น้อยกว่า 90% อาจให้กู้ในระยะเวลาที่สั้นลง และอาจต้องเตรียมจ่ายค่าปรับปรุงซ่อมแซมเพิ่มเติม

10. จงรักษาประวัติการชำระเงินให้ดี

อันนี้สำคัญมากไม่แพ้การวางแผนเก็บเงินสร้างครอบครัวเลย ประวัติการชำระเงินบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ของคุณจะถูกเก็บรวบรวมไว้ที่สำนักงานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของคุณในอนาคต

11. จงวางแผนเรื่องมีเจ้าตัวน้อย

ควรพูดคุยกันเรื่องต้องการมีลูกหรือไม่ แล้วถ้าต้องการมีอยากมีกี่คน เพื่อจะได้เก็บเงินสร้างครอบครัวไว้ให้พร้อมสำหรับการเลี้ยงดู ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกแต่ละคนจนโตอาจเป็นเงินถึงหลักล้าน อีกทั้งจำนวนเงินที่ใช้มีความไม่แน่นอนซะด้วย จึงควรแบ่งเงินไว้เลี้ยงลูกและเงินสร้างครอบครัวแยกต่างหากจากเงินก้อนอื่น โดยเฉพาะเงินที่เอาไว้ลงทุนเพราะมีความเสี่ยงสูญหายไปจากการขาดทุน

12. จงอย่ารอนานไปที่จะมีเจ้าตัวน้อย

สังคมสมัยนี้แข่งขันสูงมีความเครียดมากขึ้น จึงมีลูกกันช้าลงและน้อยลงทุกที โดยอาจลืมไปว่าอายุยิ่งมากโอกาสมีลูกยิ่งน้อยลงทวีคูณ จนทำให้บางคนที่อยากมีลูกตอนอายุมากต้องหมดโอกาสไป บางคนโอกาสเหลือน้อยและต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์เข้าช่วย แต่กลับไม่มีเงินที่จะทำ

13. จงเลี้ยงดูลูกตามกำลังทรัพย์ที่มี

บางคนส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติทั้ง ๆ ที่เกินกำลังทรัพย์จะจ่ายไหว ซึ่งผมคิดว่าเกินความจำเป็นเพราะสมัยนี้การศึกษานอกห้องเรียนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะคำสอนจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และคนที่อยู่ใกล้ชิดลูก จึงควรเอาความรู้เอาประสบการณ์ที่มีบวกกับหาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ มาสอนลูก แล้วอาจเลือกวางแผนลงทุนเก็บเงินแต่งงานตามความเหมาะสม เพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนสองภาษาหรือโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลูกฝังให้ลูกเป็นคนดีของสังคมแทน

14. จงมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพียงพอ

การเติบโตและพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยมีความสำคัญไม่แพ้ความสำเร็จเรื่องงาน ดังนั้น นอกจากจะทำงานเก็บเงินสร้างครอบครัวแล้ว ควรมีเวลาเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยตั้งแต่เล็กจนโต โดยเลือกวิธีการทำงานหาเงินให้มีเวลาเพียงพอ เพราะโอกาสในการสร้างรายได้มีเข้ามาในชีวิตเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเห็นและคว้าโอกาสนั้นได้หรือเปล่า ผมขอยกตัวอย่าง คุณแม่ท่านหนึ่งที่ลาออกจากงานประจำมาเลี้ยงลูกที่บ้านโดยคุณสามียังทำงานตามปกติ เห็นโอกาสหารายได้เสริมเข้าครอบครัวจากการถ่ายคลิปปั้นแป้งโดว์กับลูกสาว 4 ขวบแล้วนำไปลงยูทูป ผ่านไป 10 เดือนมียอดเข้าดูเป็นล้านครั้งจนได้รับรายได้ค่าโฆษณาก่อนเข้าดูคลิปจากยูทูปหลายหมื่นบาท ซึ่งมากกว่าตอนที่ทำงานประจำซะอีกครับ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เปิดโอกาสให้แชร์แนวคิดเตรียมเก็บเงินสร้างครอบครัว ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิตกันนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา